ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,328)


ตังกิงมัญ

จำไว้พูดกันให้ติดปาก

อ่านว่า ตัง-กิง-มัน

“ตังกิงมัญ” เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำคิดขึ้นเอง โดยตัดมาจากคำบาลีเต็ม ๆ ว่า “ตํ กึ มญฺญถ” อ่านว่า ตัง กิง มัน-ยะ-ถะ มีคำบาลี 3 คำ คือ “ตํ” “กึ” “มญฺญถ” 

(๑) “ตํ”

อ่านว่า ตัง รูปคำเดิมเป็น “ต” (ตะ) เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” 

“สัพพนาม” (สรรพนาม) ในบาลีมี 2 ประเภท คือ -

(1) “ปุริสสัพพนาม” (ปุริสสรรพนาม) คือคำแทนชื่อ มี 3 บุรุษ คือ -

1. ปฐมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดถึง เช่น เขา มัน (he, she, they; it) บาลีใช้ศัพท์ว่า “ต” (ตะ) นิยมเรียก “ต-ศัพท์” 

2. มัธยมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดด้วย เช่น แก เจ้า มึง (you) บาลีใช้ศัพท์ว่า “ตุมฺห” (ตุม-หะ) นิยมเรียก “ตุมฺห-ศัพท์” 

3. อุตตมบุรุษ หรือ อุดมบุรุษ หมายถึงเราซึ่งเป็นผู้พูด เช่น ฉัน ข้า กู (I, we) บาลีใช้ศัพท์ว่า “อมฺห” (อำ-หะ) นิยมเรียก “อมฺห-ศัพท์” 

(2) “วิเสสนสัพพนาม” (วิเสสนสรรพนาม) คือคำคุณศัพท์ทำหน้าที่ขยายคำนาม ในบาลีมีหลายคำ เช่น ย (ใด) ต (นั้น) อญฺญ (อื่น) ปร (อื่น) กตร (คนไหน, สิ่งไหน) 

ในที่นี้ “ต” เป็น “วิเสสนสัพพนาม” แปลว่า “นั้น” หมายถึง สิ่งใด ๆ ก็ตามที่มุ่งจะกล่าวถึง เช่น สิ่งนั้น เรื่องนั้น กรณีนั้น

“ต” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์/นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตํ” เขียนแบบไทยเป็น “ตัง” 

(๒) “กึ”

อ่านว่า กิง เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ลักษณะพิเศษของศัพท์จำพวก “นิบาต” คือ ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย แต่คงรูปเดิมเสมอ

“กึ” ตำราไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “นิบาตบอกความถาม” มีหลายคำ ดังนี้ -

กึ = หรือ, อะไร, ไฉน

กถํ = อย่างไร

กจฺจิ = แลหรือ 

นุ = หนอ

นนุ = มิใช่หรือ

อุทาหุ = หรือว่า

อาทู = หรือว่า

เสยฺยถีทํ = อย่างไรนี้, อะไรบ้าง

(๓) “มญฺญถ”

อ่านว่า มัน-ยะ-ถ เป็นคำกริยาประเภท “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้, เข้าใจ, สำคัญ) + ย (ยะ) ปัจจัยประจำหมวด ทิวฺ ธาตุ (กัตตุวาจก) + ถ (ถะ) วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา (ประธานเป็นมัธยมบุรุษ = ผู้ที่เราพูดด้วย), พหุวจนะ, ปัจจุบันกาล, แปลง นฺ ที่สุดธาตุ กับ ย เป็น ญฺญ

: มนฺ + ย + ถ = มนฺยถ > มญฺญถ แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมรู้” “ย่อมเข้าใจ” “ย่อมสำคัญ” 

หมายเหตุ: “สำคัญ” ในคำว่า “ย่อมสำคัญ” หมายถึง เข้าใจ เช่น สำคัญตนผิด ไม่ใช่ “สำคัญ” ที่หมายถึง พิเศษกว่าธรรมดา เช่น “เรื่องสำคัญ” หรือมีคุณค่า เช่น “ของสำคัญ”

“ตํ กึ มญฺญถ” เป็นคำบาลี 3 คำ รวมกันเป็นประโยคสมบูรณ์

แปลโดยพยัญชนะ :

(ตุมฺเห = อันว่าท่านทั้งหลาย)

มญฺญถ = ย่อมเข้าใจ

ตํ = ซึ่งเรื่องนั้น (ตํ วตฺถุํ ซึ่งเรื่องนั้น, ตํ การณํ ซึ่งเหตุนั้น, ตํ ปวตฺตํ ซึ่งเหตุการณ์นั้น ฯลฯ)

กึ = ว่าอย่างไร 

แปลโดยอรรถ :

“ตํ กึ มญฺญถ”

ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร

ขยายความ :

“ตํ กึ มญฺญถ” (ตัง กิง มัญญะถะ) เป็นประโยคคำพูดในภาษาบาลี พบได้ทั่วไปในพระไตรปิฎก ที่ควรศึกษาเป็นแบบแผนคือพระบาลีในอนัตตลักขณสูตร เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ดังความตอนหนึ่งว่า -

..............

ตํ  กึ  มญฺญถ  ภิกฺขเว  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

รูปํ  นิจฺจํ  วา  อนิจฺจํ  วาติ  ฯ  

รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง

อนิจฺจํ  ภนฺเต  ฯ

ไม่เที่ยงพระพุทธเจ้าข้า

ยํ  ปนานิจฺจํ  ทุกฺขํ  วา  ตํ  สุขํ  วาติ  ฯ

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ทุกฺขํ  ภนฺเต  ฯ

เป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

ยํ  ปนานิจฺจํ  ทุกฺขํ  วิปริณามธมฺมํ  กลฺลํ  นุ  ตํ  สมนุปสฺสิตุํ  

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า -

เอตํ  มม  

นั่นของเรา

เอโสหมสฺมิ 

นั่นเป็นเรา

เอโส   เม  อตฺตาติ  ฯ  

นั่นเป็นตนของเรา

โน  เหตํ  ภนฺเต  ฯ

ข้อนั้นไม่ควรเลยพระพุทธเจ้าข้า

ที่มา: อนัตตลักขณสูตร วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 

พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 21

..............

ความหมาย :

“ตํ กึ มญฺญถ” (ตัง กิง มัญญะถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ท่านทั้งกลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร”

ถอดความเป็นภาษาธรรมดาว่า -

- เรื่องนั้นท่านคิดว่าเป็นอย่างไร

- ที่เขาพูดอย่างนั้น พวกคุณเข้าใจว่าอย่างไร

- ขอทราบความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อย

- แบบนี้หมายความว่าอย่างไร

- เอาไงดี

ฯลฯ

เมื่อใดก็ตามที่ต้องการจะพูดถ้อยคำแบบนี้ นึกถึงคำบาลีประโยคนี้ 

กรณีพูดกับคนหลายคน : “ตํ กึ มญฺญถ”

กรณีพูดกับคนคนเดียว : “ตํ กึ มญฺญสิ”

เอา “ตํ” “กึ” และ “มญฺ” จาก “มญญถ” มารวมกันเป็น “ตํกึมญฺ” เชียนแบบคำไทยเป็น “ตังกิงมัญ” อ่านว่า ตัง-กิง-มัน

เวลาจะถามอะไรใคร ขึ้นต้นประโยคแบบสนุก ๆ ว่า “ตังกิงมัญ” (หมายความว่า “ขอความเห็นหน่อยพี่น้องทั้งหลาย”-ประมาณนี้) แล้วจึงพูดภาษาไทยตามปกติ ก็ขำดี

อย่ากลัวคำคนค่อนว่าไร้สาระ

ลองคิดดู ถ้าคนไทยด่ากันเป็นภาษาบาลีได้ด้วย จะสนุกแค่ไหน

แถม :

มีผู้ตำหนิติเตียน ค่อนขอด ดูถูกดูแคลน ว่าเรียนบาลีดีแต่สอนให้ท่องให้จำ คิดเองไม่เป็น

ผู้เขียนบาลีวันละคำแสดงให้ดูแล้วว่า คนเรียนบาลีคิดเองเป็น

“ตํ กึ มญฺญถ” คิดออกมาเป็น “ตังกิงมัญ” และเสนอไว้ให้พูดกันติดปาก ใครชอบก็จำเอาไปพูดได้ ไม่สงวนสิทธิ์

ผู้ตำหนิติเตียน ค่อนขอด ดูถูกดูแคลนเช่นนั้น นอกจากเอาอย่างฝรั่งและเอาอย่างกันและกัน หรือวิ่งตามกระแสสังคมแล้ว คิดอะไรเองเป็นบ้าง?

ไม่ได้ชวนทะเลาะ เพียงแค่เคาะชวนให้คิดว่า อยู่ในสังคมเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องดูถูกกัน

..............

ดูก่อนภราดา!

: จำเป็นต้องฟังความคิดเห็นของเขา

: แต่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนเขา

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,329)


ภิกขุลิงคะ

แต่งตัวเป็นพระ

อ่านว่า พิก-ขุ-ลิง-คะ

ประกอบด้วยคำว่า ภิกขุ + ลิงคะ

(๑) “ภิกขุ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ภิกฺขุ” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า พิก-ขุ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ดังนี้ -

(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, รัสสะ อู เป็น อุ

(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู ปัจจัย, ลบ ย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ

, แปลง อะ ที่ ภ-(กฺขฺ) เป็น อิ (ภกฺขฺ > ภิกฺข)

บาลี “ภิกฺขุ” ภาษาไทยใช้เป็น “ภิกษุ” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ภิกษุ : (คำนาม) ชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา. (ส.; ป. ภิกฺขุ).”

ในที่นี้ใช้เป็น “ภิกขุ” ตามรูปบาลี

ขยายความแทรก :

“ภิกฺขุ” หมายถึงบุคคลเช่นไรได้บ้าง ขอนำคำจำกัดความในวินัยปิฎกมาเสนอไว้เป็นอลังการแห่งความรู้ ดังนี้ 

..............

ภิกฺขูติ  

คำว่า ภิกษุ หมายความว่า -

(1) ภิกฺขโกติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ที่ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ 

(2) ภิกฺขาจริยํ  อชฺฌูปคโตติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าประพฤติภิกขาจริยวัตร (คือเที่ยวขอเขาเลี้ยงชีพ)

(3) ภินฺนปฏธโรติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกตัดเป็นท่อนแล้ว

(4) สามญฺญาย  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุโดยสมญา (คือมีผู้เรียกขาน) 

(5) ปฏิญฺญาย  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุโดยปฏิญญา (คือยืนยันตัวเอง)

(6) เอหิภิกฺขูติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกษุ 

(7) ตีหิ  สรณคมเนหิ  อุปสมฺปนฺโนติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ 

(8 ) ภทฺโรติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้เจริญ 

(9) สาโรติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม 

(10) เสโขติ  ภิกฺขุ  ฯ

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระเสขะ

(11) อเสโขติ  ภิกฺขุ  ฯ  

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระอเสขะ

(12) สมคฺเคน  สงฺเฆน  ญตฺติจตุตฺเถน  กมฺเมน  อกุปฺเปน  ฐานารเหน  อุปสมฺปนฺโนติ  ภิกฺขุ  ฯ 

ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมอันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ 

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 26

..............

(๒) “ลิงค” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ลิงฺค” (มีจุดใต้ งฺ) อ่านว่า ลิง-คะ รากศัพท์มาจาก -

(1) ลิงฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย

: ลิงฺคฺ + อ = ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องถึงการจำแนกว่าเป็นหญิงเป็นชาย”

(2) ลีน (ที่ลับ) + องฺค (อวัยวะ), ลบ น ที่ (ลี)-น, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ) 

: ลีน + องฺค = ลีนงฺค > ลินงฺค > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ลับ”

(3) ลีน (ที่ลับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ น ที่ (ลี)-น, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ), ซ้อน งฺ ระหว่าง ลีน + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ลีน > ลิน > ลิ + งฺ = ลิงฺ + คมฺ = ลิงฺคม + ณ = ลิงฺคมฺณ > ลิงฺคม > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังส่วนที่ลี้ลับให้ถึงความแจ่มแจ้ง”

“ลิงฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ -

(1) ลักษณะ, เครื่องหมาย, นิมิต, ที่สังเกตรูปลักษณะ (characteristic, sign, attribute, mark, feature)

(2) เครื่องหมายเพศ, องคชาต, อวัยวะเพศ (mark of sex, sexual characteristic, pudendum)

(3) (คำในไวยากรณ์) เพศ, คำลงท้ายที่แสดงลักษณะ, ลิงค์ (mark of sex, characteristic ending, gender)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ลิงค์ : (คำนาม) เครื่องหมายเพศ; ประเภทคําในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคํานั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง; ลึงค์ ก็ว่า. (ป., ส.).”

ภิกฺขุ + ลิงฺค = ภิกฺขุลิงฺค (พิก-ขุ-ลิง-คะ) แปลว่า “เพศแห่งภิกษุ” หรือเพศพระ หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอกที่บอกให้รู้ว่าเป็นพระ คือแต่งตัวเป็นพระ 

“ภิกฺขุลิงฺค” ใช้ในภาษาไทย ทับศัพท์เป็น “ภิกขุลิงคะ”

คำที่มักพูดร่วมกับ “ภิกขุลิงคะ” คือ “ภิกขุภาวะ” แปลว่า “ความเป็นภิกษุ” หรือความเป็นพระ

มี “ภิกขุภาวะ” หรือความเป็นพระ จึงมี “ภิกขุลิงคะ” คือการแต่งตัวเป็นพระที่ชอบธรรม

ถ้าความเป็นพระหมดไป การแต่งตัวเป็นพระก็ย่อมไม่ชอบธรรม

ขยายความ :

ท่านว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ เมื่อกาลเวลาล่วงไปก็จะเกิดอันตรธาน คือเสื่อมสูญไปตามลำดับ กล่าวคือ 

(1) อธิคมอันตรธาน การสูญหายไปแห่งการบรรลุธรรม

(2) ปฏิปัตติอันตรธาน การสูญหายไปแห่งการปฏิบัติธรรม

(3) ปริยัตติอันตรธาน การสูญหายไปแห่งการเล่าเรียนธรรม

(4) ลิงคอันตรธาน การสูญหายไปแห่งเพศภิกษุ

(5) ธาตุอันตรธาน การสูญหายไปแห่งพระธาตุ

“ลิงคอันตรธาน” คือ การสูญหายไปแห่งเพศภิกษุ ก็คือ “ภิกขุลิงคะ” จะสูญสิ้นไป 

คัมภีร์อรรถกถาบรรยาย “ลิงคอันตรธาน” ไว้ดังนี้ -

..............

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  จีวรคหณํ  ปตฺตคหณํ  สมฺมิญฺชนปสารณํ  อาโลกิตวิโลกิตํ  น  ปาสาทิกํ  โหติ

เมื่อกาลล่วงไป ๆ การครองจีวร การถือบาตร การคู้ การเหยียด การแลดู การเหลียวดู ไม่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส

นิคณฺฐสมโณ  วิย  อลาพุปตฺตํ  ภิกฺขู  ปตฺตํ  อคฺคพาหาย  ปกฺขิปิตฺวา  อาทาย  วิจรนฺติ

ภิกษุทั้งหลายไปไหนมาไหนก็ห้อยบาตรไว้ปลายแขนเหมือนนักบวชนิครนถ์ถือหม้อน้ำเต้า

เอตฺตาวตาปิ  ลิงฺคํ  อนนฺตรหิตเมว  โหติ  ฯ

แม้ด้วยอาการเพียงเท่านี้ เพศภิกษุก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธาน

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  อคฺคพาหโต  โอตาเรตฺวา  หตฺเถน  วา  สิกฺกาย  วา โอลมฺเพตฺวา  วิจรนฺติ

เมื่อกาลล่วงไป ๆ ก็เอาบาตรลงจากปลายแขน ไปไหนมาไหนก็ใช้มือหิ้วไป หรือใช้สาแหรกหาบไป 

จีวรํปิ  รชนสารุปฺปํ  อกตฺวา  โอฏฺฐฏฺฐิวณฺณํ  กตฺวา  วิจรนฺติ  ฯ

แม้จีวรก็ไม่ย้อมให้ถูกต้อง ห่มจีวรสีแดงกันทั่วไปหมด

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  รชนํ  น  โหติ  ทสจฺฉินฺทนํปิ  โอวฏฺฏิกวิชฺฌนํปิ  กปฺปมตฺตํ  กตฺวา  วฬญฺเชนฺติ  ฯ

เมื่อกาลล่วงไป ๆ การย้อมจีวรก็ดี การตัดชายผ้าก็ดี การเจาะรังดุมก็ดี ก็ไม่มีไม่ทำ ทำเพียงเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นจีวรแล้วใช้สอย

ปุน  โอวฏฺฏิกํ  วิสฺสชฺเชตฺวา  กปฺปํ  น  กโรนฺติ  ฯ

ต่อมาก็ทิ้งรังดุมไปเสียอีก เครื่องหมายที่ให้รู้ว่าเป็นจีวรก็ไม่ทำ

ตโต  อุภยํ  อกตฺวา  ทสา  เฉตฺวา  ปริพฺพาชกา  วิย  วิจรนฺติ  ฯ

ต่อมา เมื่อไม่ทำทั้งสองอย่าง ก็ตัดชายผ้าออก ไปไหนมาไหนมีลักษณาการเหมือนพวกปริพาชก

(ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องแต่งกายของภิกษุในอนาคตนั่นเอง-เวลานี้ในเมืองไทย พระเถรวาทใส่เสื้อก็มีให้เห็นแล้ว)

คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  โก  อิมินา  อมฺหากํ  อตฺโถติ  ขุทฺทกํ  กาสายขณฺฑํ  หตฺเถ  วา  คีวายํ  วา  พนฺธนฺติ  เกเสสุ  วา  อลฺลิยาเปนฺติ  ...

เมื่อกาลล่วงไป ๆ ก็คิดว่า พวกเราจะต้องครองผ้าเช่นนี้ไปทำไม จึงผูกผ้ากาสายะชิ้นเล็ก ๆ เข้าที่มือ หรือที่คอ หรือขอดไว้ที่ผม 

ทารภรณํ  วา  กโรนฺตา  กสิตฺวา  วปิตฺวา  ชีวิตํ  กปฺเปนฺตา  วิจรนฺติ  ฯ

พากันมีภรรยาบ้าง ประกอบการไถหว่าน (และทำกิจอื่น ๆ) เลี้ยงชีพบ้าง 

ตทา  ทกฺขิณํ  เทนฺโต  ชโน  สํฆํ  อุทฺทิสฺส  เอเตสํ  เทติ  ฯ

ในครั้งนั้น คนที่จะถวายทักขิณาทาน ย่อมถวายให้แก่คนครองเพศเช่นนั้นโดยตั้งใจว่าถวายสงฆ์

อิทํ  สนฺธาย  ภควตา  วุตฺตํ ...

พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงกรณีเช่นนี้ จึงตรัสไว้ (ในทักขิณาวิภังคสูตร) ว่า --

.....................................................

ภวิสฺสนฺติ  โข  ปนานนฺท  อนาคตมทฺธานํ  โคตฺรภุโน  กาสาวกณฺฐา  ทุสฺสีลา  ปาปธมฺมา ...

ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล จักมีโคตรภูสงฆ์ คือผู้มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นผู้ทุศีล ประพฤติเลวทราม 

เตสุ  ทุสฺสีเลสุ  ปาปธมฺเมสุ  สํฆํ  อุทฺทิสฺส  ทานํ  ทสฺสนฺติ ...

คนทั้งหลายถวายทานแก่คนทุศีลประพฤติเลวทรามเหล่านั้นโดยตั้งใจว่าถวายสงฆ์ 

ตทาหํ  อานนฺท  สํฆคตํ  ทกฺขิณํ  อสงฺเขยฺยํ  อปฺปเมยฺยํ  วทามีติ  ฯ

ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวว่า ทักษิณาที่ถวายเป็นของสงฆ์ในเวลานั้น มีอานิสงส์นับไม่ได้ประมาณไม่ได้ ดังนี้

.....................................................

ตโต  คจฺฉนฺเต  คจฺฉนฺเต  กาเล  นานาวิธานิ  กมฺมานิ  กโรนฺตา  ปปญฺโจ  นาม  เอส  กึ  อิมินา  อมฺหากนฺติ  กาสาวขณฺฑํ  ฉฑฺเฑตฺวา  อรญฺเญ  ขิปนฺติ  ฯ

แต่นั้น เมื่อกาลล่วงไป ๆ คนครองเพศภิกษุเหล่านั้นคิดว่า การครองเพศอยู่เช่นนี้เสียเวลา พวกเราจะต้องมาเสียเวลาอยู่ทำไมเล่า คิดแล้วจึงถอดชิ้นส่วนผ้ากาสาวะโยนทิ้งเสียในป่า

เอตสฺมึ  กาเล  ลิงฺคํ  อนฺตรหิตํ  นาม  โหติ  ฯ

เพศภิกษุก็เป็นอันว่าอันตรธานไปในกาลนั้น 

กสฺสปทสพลสฺส  กิร  กาเล  เตสํ  เตสํ  เสตกานิ  วตฺถานิ  ปารุปิตฺวา  จรณํ  จาริตํ  ชาตนฺติ  

กล่าวกันว่า คนเหล่านั้นพากันนุ่งขาวห่มขาวดำเนินชีวิตไปโดยถือกันว่าเป็นจารีตนิยมมาแต่ครั้งศาสนาพระกัสสปทศพล 

อิทํ  ลิงฺคอนฺตรธานํ  นาม  โหติ  ฯ

เป็นอันว่าลิงคอันตรธานย่อมมี ด้วยประการฉะนี้แล

ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 120-121

..............

ดูก่อนภราดา!

: เป็นพระ แต่งตัวเป็นพระ ดีเต็มตัว

: ไม่ใช่พระ แต่งตัวเป็นพระ เลวเต็มตัว

 

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,316)


มิลักขู

เรียนรู้ไว้ประดับปัญญา

“มิลักขู” เขียนแบบบาลีเป็น “มิลกฺขู” อ่านว่า มิ-ลัก-ขู รูปคำแรกของศัพท์นี้เป็น “มิลกฺข” อ่านว่า มิ-ลัก-ขะ รากศัพท์มาจาก -

(1) มิลกฺขฺ (ธาตุ = พูดไม่ชัดเจน) อ (อะ) ปัจจัย

: มิลกฺขฺ + อ = มิลกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พูดวาจาไม่ชัดเจน” 

(2) มล (มลทิน, สิ่งสกปรก) + อกฺขิ (ดวงตา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อะ ที่ ม-(ล) เป็น อิ (มล > มิล), ลบสระที่สุดศัพท์ คือ อิ ที่ อกฺขิ (อกฺขิ > อกฺข)

: มล + อกฺขิ = มลกฺขิ + ณ = มลกฺขิณ > มิลกฺขิณ > มิลกฺขณ > มิลกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีมลทินเช่นราคะเป็นต้นในดวงตา” 

“มิลกฺข” ลง อุ ปัจจัย ได้รูปเป็น “มิลกฺขุ” 

เป็นอันว่าศัพท์นี้มี 2 รูป คือ “มิลกฺข” และ “มิลกฺขุ”

“มิลกฺขุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มิลกฺขู”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มิลกฺข/มิลกฺขุ” ว่า ชาวป่าชาวเขา, คนป่าเถื่อน, คนร้าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มิลกฺข” ว่า a barbarian, foreigner, outcaste, Hillman (คนป่า, คนต่างชาติ, คนจัณฑาล, คนภูเขา) 

และแปล “มิลกฺขุ” ว่า a non-Aryan (ผู้ไม่ใช่ชาวอารยัน) 

บาลี “มิลกฺข” สันสกฤตเป็น “เมฺลจฺฉ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“เมฺลจฺฉ : (คำนาม) วิเทศิน, ผู้เร่อร่าป่าเถื่อน; อันยเทศีย์, ชาวต่างประเทศ; ผู้ทำบาปหรือมีนิสสัยหยาบ, นักโทษ; ภาษาหรือถ้อยคำอันไม่ชัด; a barbarian; a foreigner; a sinner, a criminal.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้เป็น “มิลักขะ, มิลักขู” บอกไว้ว่า - 

“มิลักขะ, มิลักขู : (คำนาม) คนป่าเถื่อน. (ป.).”

ขยายความ :

“มิลักขะ” หรือ “มิลักขู” คือคนพวกไหน ควรหาความรู้ต่อไป

หนังสือ “พุทธประวัติ” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี เริ่มต้นปริเฉทที่ 1 ชมพูทวีปและประชาชน มีข้อความขึ้นต้นเอ่ยถึง “มิลักขะ” ไว้ดังนี้ -

..............

           ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์มา ชมพูทวีปคือแผ่นดินที่เรียกในทุกวันนี้ว่าอินเดีย อันตั้งอยู่ในทิศพายัพแห่งประเทศสยามของเรานี้ ชนชาติอริยกะได้ตั้งมาแล้ว, ชนจำพวกนี้ไม่ใช่เจ้าของถิ่นเดิม, ยกลงมาจากแผ่นดินข้างเหนือ ข้ามภูเขาหิมาลัยมา รุกไล่พวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยเลื่อนลงมาข้างใต้ทุกที แล้วเข้าตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปนั้น.

           พวกอริยกะนั้นเป็นผู้เจริญด้วยความรู้และขนบธรรมเนียมและมีฤทธิ์มีอำนาจมากกว่าพวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม จึงสามารถตั้งบ้านเมืองและปกครองได้ดีกว่า.

..............

หนังสือ “พุทธประวัติปริเฉทที่ 1” พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เรียบเรียง ตอนว่าด้วยประชาชน มีข้อความกล่าวถึงพวกมิลักขะ ตอนหนึ่งดังนี้ -

..............

        ต่อมาจากพวกนั้น มีชนอีกพวกหนึ่งซึ่งมีความเจริญยิ่งกว่าพวกอื่นในแถบนั้น เรียกว่าพวกดราวิเดียน [Dravidians] หรือที่เรียกกันว่าพวกมิลักขะ มีสำนักอยู่ ณ ใจกลางแห่งทวีปอาเซียแห่งใดแห่งหนึ่งมาก่อน และได้ยกเข้ามาสูอินเดียทางหุบเขาแห่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ. พวกนี้ได้เข้าครอบครองอินเดียโดยทั่วไป ตั้งแต่เหนือตลอดใต้ เพราะมีกำลังและความสามารถมากกว่าพวกก่อน คือมีความรู้ในทางกสิกรรม รู้จักใช้โลหะทำเป็นอาวุธและเครื่องประดับกาย ตลอดถึงทำการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นทำนองการค้า ได้สร้างที่อยู่อาศัยเป็นหมู่บ้าน หรือนิคมหย่อม ๆ และมีที่ทำการเพาะปลูกถาวร ไม่เร่ร่อนกระจัดกระจายกันอยู่ตามประสาชาวป่าดอยเหมือนพวกก่อน.

        ถ้าข้อสันนิษฐานเป็นจริงว่า การกสิกรรม การชลประทานและอื่น ๆ ในถิ่นโมเฮนโจดะโรในแคว้นสินทะ [Mohenjodaro in sinda] เป็นกิจการที่สืบสายรับทอดมาจากวัฒนธรรมของพวกดราวิเดียนในครั้งกระโน้น กิจการในปัจจุบันของถิ่นนี้เองจะชี้ให้เห็นชัดว่าวัฒนธรรมของพวกดราวิเดียนโบราณมีระดับสูงไม่น้อย. ตามประวัติศาสตร์ได้แสดงยืนยันว่า พวกอารยันหรืออริยกะในภายหลังได้ยินยอมรับเอาวัฒนธรรมบางอย่างของพวกนี้ไว้ด้วย เช่นพิธีการบูชา และลัทธิถือที่พึ่งบางอย่าง เป็นการแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมที่ตนได้ถ่ายให้พวกดราวิเดียน.

        พวกดราวิเดียนที่ถูกพวกอริยกะรุกรานให้ร่นถอยลงมาทางใต้ และถูกขนานนามว่าพวกทัสยุ [หรือทาส] นั้น ยังมีเชื้อสายสืบกันมาจนถึงปัจจุบัน คือชนชาติที่พูดภาษาทมิฬ, เตลุกู, มะลาบารฺ, และกะนารีซี (Tamil, Telugu Malabar, Kanarese) แห่งภาคมัดราส, และกล่าวโดยเฉพาะได้แก่ชาวชาติทมิฬในเกาะลังกา ซึ่งเป็นชนชาติที่มีอายุประมาณไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี.

..............

หมายเหตุ: สะกดการันต์และถ้อยคำบางแห่งอาจไม่ตรงตามต้นฉบับ โปรดตรวจสอบก่อนนำไปอ้างอิง

..............

ดูก่อนภราดา!

: ชนะใจตนเองได้ ควรเรียกว่าอริยะ

: ใจตัวเองยังไม่ชนะ ควรเรียกว่ามิลักขู

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,317)


ฉันพี่น้อง-โคตรอร่อย

ไม่ใช่ ฉันท์พี่น้อง

ไม่ใช่ โครตอร่อย

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง เห็นคำผิด 2 คำอยู่ใกล้ ๆ กัน คำผิด 2 คำนี้เคยนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำแล้ว ขออนุญาตเอามาเขียนย้ำอีกที

(๑) คำผิดแรกเขียนว่า “สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง”

คำถูกคือ “สายสัมพันธ์ฉันพี่น้อง”

ฉันพี่น้อง ฉันเพื่อน ฉันญาติ ใช้ “ฉัน” เกลี้ยง ๆ แค่นี้

“ฉัน” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ - 

“ฉัน ๓ : (คำวิเศษณ์) เสมอเหมือน, เช่น, อย่าง, เช่น ฉันญาติ.”

ส่วน “ฉันท์” เป็นคำบาลี ไม่ได้แปลว่า “เสมอเหมือน, เช่น, อย่าง” หากแต่มีความหมาย 3 อย่าง คือ -

(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้น ๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”

(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) 

เพราะฉะนั้น เขียนว่า “สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง” จึงผิด

คำถูกคือ “สายสัมพันธ์ฉันพี่น้อง” 

“ฉัน” เกลี้ยง ๆ แค่นี้ ไม่ต้องมี ท การันต์

(๒) คำผิดต่อมาเขียนว่า “แกงไตปลาอาหารยอดแย่ของต่างชาติแต่มันโครตอร่อยสำหรับเรา”

“โครต” คือคำผิด คำถูกสะกดเป็น “โคตร” โ-ค-ต-ร 

-ตร เป็นตัวสะกด แบบเดียวกับคำว่า ฉัตร วิจิตร มิตร สูตร เนตร 

“โคตร” เป็นรูปคำสันสกฤต เขียนแบบสันสกฤตเป็น “โคตฺร” (มีจุดใต้ ตฺ) บาลีเป็น “โคตฺต” อ่านว่า โคด-ตะ แปลตามศัพท์ว่า -

(1) “เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้” 

(2) “เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้” 

(3) “เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้”

“โคตฺต” หมายถึง เชื้อสาย, วงศ์, ตระกูล, เทือกเถาเหล่ากอ, เผ่าพันธุ์ (ancestry, lineage)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“โคตร, โคตร- : (คำนาม) วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คำนี้บางทีก็นำไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคำด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล).”

ความหมายเด่นในภาษาไทย “โคตร” ก็คือ “นามสกุล” หรือที่คนจีนเรียกว่า “แซ่” 

เนื่องจาก “โคตร” มักมีการสืบสาวไปจนถึงรากเหง้าหรือเทือกเถาเหล่ากอ คำนี้จึงมีนัยหมายถึงการเข้าถึงจุดใจกลางหรือที่สุดของสิ่งนั้น ๆ ภาษาปากจึงนิยมใช้ในความหมายว่า ลึกซึ้งที่สุด มากที่สุด หนักหนาสาหัสที่สุดของสิ่งนั้น ๆ เช่น 

- “โคตรสวย” = สวยมาก ๆ 

- “โคตรซวย” = ซวยที่สุด

- “เลขข้อนี้โคตรยาก” = ยากที่สุด

..............

การสะกดผิดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชน แต่สามารถแก้ไขได้โดย -

(1) เพิ่มความระมัดระวัง 

(2) ฝึกสงสัยไว้ทุกครั้งที่สะกดคำแปลก ๆ 

(3) หมั่นเปิดพจนานุกรม 

..............

ดูก่อนภราดา!

: พระชายแดนใต้ท่านยังกล้าตาย

: หลักภาษาง่าย ๆ ทำไมไม่กล้าเรียน 

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,318)


ศาลพระภูมิ

ตั้งดีหรือไม่ตั้งดี คิดให้ดี

อ่านว่า สาน-พฺระ-พูม

ประกอบด้วยคำว่า ศาล + พระ + ภูมิ

(๑) “ศาล” 

ตามรูปคำรูปความ น่าจะตรงกับคำบาลีว่า “สาลา” รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”

“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”

สาลา > ศาลา > ศาล 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ศาล” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ - 

(๑) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) : องค์กรฝ่ายตุลาการซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี, ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

(๒) (คำนาม) : ที่ชำระความ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา

(๓) (คำนาม) : ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น เช่น ศาลเทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลเจ้าแม่ทับทิม.

ในที่นี้ “ศาล” ใช้ในความหมายตามข้อ (๓)

(๒) “พระ” 

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 

(๑) คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ

(๒) พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ

(๓) นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน

(๔) ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง ๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี ๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์ ๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ

(๕) อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา

(๖) บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๗) โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.

(๘) คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).

ในที่นี้คำว่า “พระ” ใช้ในความหมายตามข้อ (๔) 

(๓) “ภูมิ”

บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า (1) แผ่นดิน, ที่ดิน (2) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ (3) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

ในที่นี้ “ภูมิ” หมายถึง แผ่นดิน, ที่ดิน

การประสมคำ :

๑ พระ + ภูมิ = พระภูมิ แปลว่า “พระ (คือผู้ศักดิ์สิทธิ์ประเสริฐ) ผู้อยู่ที่พื้นที่”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“พระภูมิ : (คำนาม) เทพารักษ์ประจำพื้นที่และสถานที่, พระภูมิเจ้าที่ ก็เรียก.”

๒ ศาล + พระภูมิ = ศาลพระภูมิ แปลว่า “ที่สถิตของพระภูมิ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“ศาลพระภูมิ : (คำนาม) ที่สถิตของเทพารักษ์ประจำพื้นที่และสถานที่ ทำด้วยไม้เป็นเรือนหลังคาทรงไทยตั้งอยู่บนเสาเดียว ปัจจุบันทำด้วยปูนเป็นรูปปราสาทก็มี.”

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินคนเก่า ๆ เรียก “ศาลพระภูมิ” ว่า สา-ละ-พูม ถ้าเขียนตามเสียงก็จะได้รูปเป็น “ศาลภูมิ” อ่านว่า สา-ละ-พูม ไม่ใช่ สาน-พูม แปลว่า ศาลของพระภูมิ

คำเดิมอาจจะเขียนว่า “ศาลภูมิ” อ่านว่า สา-ละ-พูม เรียกไปเรียกมามีผู้หวังดีเติม “พระ” เข้าไปตรงกลาง กลายเป็น “ศาลพระภูมิ”

คำที่เติมเข้าไปนี้เกิดจากฟังเสียงเรียก สา-ละ-พูม ไม่ถนัด ได้ยิน สา-ละ-พูม เป็น สาน-พฺระ-พูม “ศาลภูมิ” จึงกลายเป็น “ศาลพระภูมิ”

คำที่เติมเข้าไปเพราะเข้าใจผิดแบบนี้ ที่เห็นคำหนึ่งในปัจจุบันคือคำว่า “ตลอดกาลนานเทอญ” 

“-กาลนาน-” ออกเสียงว่า กา-ละ-นาน หรือ กาน-ละ-นาน คนฟังไม่ถนัด ประกอบกับไม่เข้าใจว่าเสียง -ละ- มาจากไหน ทั้งไม่รู้ความหมาย คิดเอาเองว่าคำนี้คือ “และ” กาน-ละ-นาน จึงกลายเป็น “กาลและนาน” 

ขอให้สังเกตคำแปลคำถวายสังฆทานตามวัดต่าง ๆ ดูเถิด จะได้ยินมรรคนายกรุ่นใหม่หลาย ๆ วัดว่านำคำแปลลงท้ายว่า “ตลอดกาลและนานเทอญ” 

“ตลอดกาลนานเทอญ” กลายเป็น “ตลอดกาลและนานเทอญ” ฉันใด

“ศาลภูมิ” (สา-ละ-พูม) ก็กลายเป็น “ศาลพระภูมิ” ฉันนั้น

ที่ว่ามานี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ท่านทั้งปวงไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

..............

ดูก่อนภราดา!

: บ้านใดละเลยการเคารพบูชา

: คนเก่าท่านว่าบ้านนั้นไม่ควรตั้งศาลพระภูมิ 

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,319)


มูล ไม่ใช่ มูน

และ มูน ก็ไม่ใช่ มูล

“มูล” เป็นคำบาลี

“มูน” เป็นคำไทย

“มูล” บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + อ (อะ) ปัจจัย

: มูลฺ + อ = มูล แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น” 

“มูล” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ -

(1) รากไม้ (root)

(2) โคน, ก้น (foot, bottom)

(3) หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)

(4) กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)

(5) ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)

(6) แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มูล” ไว้ 4 คำ บอกไว้ดังนี้ -

(1) มูล ๑, มูล- : (คำนาม) โคน เช่น รุกขมูล; ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล, เค้า เช่น คดีมีมูล, ต้น เช่น ชั้นมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).

(2) มูล ๒, มูล- : (คำวิเศษณ์) มวล, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น จัดข้าวของไว้ให้โดยพร้อมมูล เตรียมเอกสารหลักฐานไว้ให้พร้อมมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).

(3) มูล ๓ : (คำนาม) อุจจาระสัตว์, ขี้หรือเศษของสิ่งต่าง ๆ เช่น มูลไถ = ขี้ไถ.

(4) มูล ๔, มูละ, มูลา ๑ : (คำนาม) ดาวฤกษ์ที่ ๑๙ มี ๙ ดวง เห็นเป็นรูปสะดือนาค, ดาวช้างน้อย หรือ ดาวแมว ก็เรียก.

ส่วน “มูน” ที่เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 2 คำ

แถม :

มีคำถามว่า ข้าวเหนียวมู- หรือ มู-ข้าวเหนียว ใช้ “มูล” หรือ “มูน”?

คำตอบอยู่ในพจนานุกรม

“มูล” เปิดพจนานุกรมให้ดูแล้วข้างต้น 

ส่วน “มูน” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

(1) มูน ๑ : (คำนาม) เนิน, โคก, จอม, เช่น มูนดิน. (คำกริยา) พอกพูน, พูนขึ้น, มักใช้ว่า เกิดมูนพูนผล. (คำวิเศษณ์) มาก, มักใช้เข้าคู่กันเป็น มากมูน.

(2) มูน ๒ : (คำกริยา) เอากะทิเคล้ากับข้าวเหนียวเพื่อให้มัน.

..............

ข้าวเหนียวมูน หรือ มูนข้าวเหนียว ใช้ มูน น หนู สะกด 

ไม่ใช่ “มูล” ล ลิง

..............

ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,319)


มูล ไม่ใช่ มูน

และ มูน ก็ไม่ใช่ มูล

“มูล” เป็นคำบาลี

“มูน” เป็นคำไทย

“มูล” บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + อ (อะ) ปัจจัย

: มูลฺ + อ = มูล แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น” 

“มูล” (นปุงสกลิงค์) ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ -

(1) รากไม้ (root)

(2) โคน, ก้น (foot, bottom)

(3) หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)

(4) กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)

(5) ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)

(6) แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มูล” ไว้ 4 คำ บอกไว้ดังนี้ -

(1) มูล ๑, มูล- : (คำนาม) โคน เช่น รุกขมูล; ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล, เค้า เช่น คดีมีมูล, ต้น เช่น ชั้นมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).

(2) มูล ๒, มูล- : (คำวิเศษณ์) มวล, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น จัดข้าวของไว้ให้โดยพร้อมมูล เตรียมเอกสารหลักฐานไว้ให้พร้อมมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).

(3) มูล ๓ : (คำนาม) อุจจาระสัตว์, ขี้หรือเศษของสิ่งต่าง ๆ เช่น มูลไถ = ขี้ไถ.

(4) มูล ๔, มูละ, มูลา ๑ : (คำนาม) ดาวฤกษ์ที่ ๑๙ มี ๙ ดวง เห็นเป็นรูปสะดือนาค, ดาวช้างน้อย หรือ ดาวแมว ก็เรียก.

ส่วน “มูน” ที่เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 2 คำ

แถม :

มีคำถามว่า ข้าวเหนียวมู- หรือ มู-ข้าวเหนียว ใช้ “มูล” หรือ “มูน”?

คำตอบอยู่ในพจนานุกรม

“มูล” เปิดพจนานุกรมให้ดูแล้วข้างต้น 

ส่วน “มูน” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

(1) มูน ๑ : (คำนาม) เนิน, โคก, จอม, เช่น มูนดิน. (คำกริยา) พอกพูน, พูนขึ้น, มักใช้ว่า เกิดมูนพูนผล. (คำวิเศษณ์) มาก, มักใช้เข้าคู่กันเป็น มากมูน.

(2) มูน ๒ : (คำกริยา) เอากะทิเคล้ากับข้าวเหนียวเพื่อให้มัน.

..............

ข้าวเหนียวมูน หรือ มูนข้าวเหนียว ใช้ มูน น หนู สะกด 

ไม่ใช่ “มูล” ล ลิง

..............

ดูก่อนภราดา!

: มูนหรือมูลออกเสียงเหมือนกัน

: แต่ที่ทำกับข้าวเหนียวนั้น คือ มูนข้าวเหนียว น หนู



[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,320)


อย่าประวิสรรชนีย์กลางคำ

คืออย่าใส่สระ อะ กลางคำสมาส

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่แน่ใจว่าเด็กไทยรุ่นใหม่รู้จักคำว่า “วิสรรชนีย์” หรือเปล่า เนื่องจากสังเกตเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ห่างเหินจากพจนานุกรมกันมาก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“วิสรรชนีย์ : (คำนาม) เครื่องหมายสระรูปดังนี้ ะ ใช้ประหลังอักษร. (ส. วิสรฺชนีย).”

คำว่า “ใช้ประหลังอักษร” คือทำอะไรหลังอักษร?

คำว่า “ประ” ดูเป็นคำง่าย ๆ แต่ถ้าถามว่า ที่เรียกว่า “ประ” คือทำอะไรหรือทำอย่างไร ก็อาจตอบไม่ถูก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ประ” ไว้ 5 คำ บอกไว้ดังนี้ - 

(1) ประ- ๑ : ใช้เติมหน้าคำอื่นเพื่อให้คำหนักแน่นขึ้น เช่น ชิด เป็น ประชิด, ท้วง เป็น ประท้วง; คำที่แผลงมาจาก ผ เช่น ผทม เป็น ประทม แล้วแผลง ประ เป็น บรร เช่น ประทม เป็น บรรทม.

(2) ประ ๒ : (คำกริยา) ปะทะ เช่น ประหมัด, กระทบ, ระ, เช่น ผมประบ่า.

(3) ประ ๓ : (คำกริยา) ทำให้เป็นจุด ๆ เช่น ประไข่ปลา, ทำให้เป็นจุด ๆ หรือเม็ด ๆ ทั่วไปอย่างประแป้ง.

(4) ประ ๔ : (ภาษาถิ่น-ปักษ์ใต้, มลายู) (คำนาม) ลูกกระ. (ดู กระ ๒).

(5) ประ ๕ : ดู กระ ๓.

ดูตามพจนานุกรมฯ “ประ” ที่น่าจะมีความหมายตรงที่สุดคือ “ประ ๓” ซึ่งมีความหมายว่า “ทำให้เป็นจุด ๆ”

ดูต่อไปที่ “ประ ๓” ก็จะพบลูกคำว่า “ประวิสรรชนีย์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ -

“ประวิสรรชนีย์ : (คำกริยา) ใส่เครื่องหมายวิสรรชนีย์.”

“ประวิสรรชนีย์” พูดภาษาปากเข้าใจง่าย ๆ คือ ใส่สระ อะ หลังอักษร

ต่อไปก็หาความรู้กันว่า “วิสรรชนีย์” แปลว่าอะไร

“วิสรรชนีย์” อ่านว่า วิ-สัน-ชะ-นี พจนานุกรมฯ บอกว่าคำสันสกฤตเป็น “วิสรฺชนีย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ฉบับที่ผู้เขียนบีวันละคำใช้ค้นคว้าไม่ได้เก็บคำว่า “วิสรฺชนีย” ไว้ แต่มีคำว่า “วิสรฺชน” บอกไว้ดังนี้ -

“วิสรฺชน : (คำนาม) ทาน; การสละ; การส่งหรือใช้ไป; การปลดหรือไล่ออก; a gift; quitting; sending; dismissing or sending away.”

“วิสรฺชน” ในสันสกฤตตรงกับบาลีว่า “วิสฺสชฺชน” และมีอีกคำหนึ่งที่รากศัพท์เดียวกับ “วิสฺสชฺชน” คือ “วิสฺสคฺค” (ช กับ ค แปลงกันได้ มีทั่วไปในบาลี เช่น สํเวชน > สํเวค = สังเวช, วิภชน > วิภาค = การแบ่ง)

“วิสฺสคฺค” อ่านว่า วิด-สัก-คะ แปลว่า การจ่ายให้, การบริการ, การบริจาค, การแจก, การอด [อาหาร] (dispensing, serving, donation, giving out, holding [a meal])

บาลี “วิสฺสคฺค” สันสกฤตเป็น “วิสรฺค”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “วิสรฺค” ไว้ 2 คำ ขอยกมาเฉพาะคำที่ประสงค์ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วิสรฺค : (คำนาม) ‘วิสรรค์,’ มฤทุมหาปราณหรือวิสรรค์, อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : ), และเปนเครื่องหมายอันใช้แทนอักษร ส หรือ ร, ตัวสกดของวิภัตติ์ต่างๆ ทั้งนามและกริยา, ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี;’ the soft aspirate or Visarga, marked by two perpendicular dots, thus ( : ), and as the substitute for the letters ส or ร, the termination of various inflections both of nouns and verbs.”

ได้เค้าที่คำว่า “วิสรฺค” ในสันสกฤต

คำจำกัดความที่ว่า “อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : )” เป็นเค้าว่า เครื่องหมาย “:” ดังนี้นี่เองที่หนังสือไทยเอามาแปลงรูปเป็น -ะ 

อาจารย์ภาษาไทยตั้งชื่อเครื่องหมายนี้ว่า “วิสรรชนีย์” ตรงกับที่คำนิยามบอกต่อไปว่า “ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี’ ” 

นักเรียนไทยเรียกกันเป็นสามัญว่า “สระ อะ”

เวลาใช้สระ อะ ลงที่ท้ายพยัญชนะ เรียกเป็นภาษาไวยากรณ์ว่า “ประวิสรรชนีย์” เรียกแบบภาษาปากว่า “ใส่สระ อะ”

แถม :

คำที่ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ = ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ แต่มักมีผู้เขียนผิด คือใส่สระ อะ กลางคำเข้าไปด้วยมีอยู่หลายคำ เช่น -

กาลเทศะ อย่าเขียนเป็น กาละเทศะ

ธุรกิจ อย่าเขียนเป็น ธุระกิจ

โทณพราหมณ์ อย่าเขียนเป็น โทณะพราหมณ์

บูรณปฏิสังขรณ์ อย่าเขียนเป็น บูรณะปฏิสังขรณ์

มรณภาพ อย่าเขียนเป็น มรณะภาพ

สมณทูต อย่าเขียนเป็น สมณะทูต

สาธารณสุข อย่าเขียนเป็น สาธารณะสุข

หัตถศิลป์ อย่าเขียนเป็น หัตถะศิลป์

สักการบูชา อย่าเขียนเป็น สักการะบูชา

อารยประเทศ อย่าเขียนเป็น อารยะประเทศ

อุปการคุณ อย่าเขียนเป็น อุปการะคุณ

ฯลฯ

คำจำพวกนี้ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ = ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ

ที่ยกคำเขียนผิดมาเทียบไว้ด้วยนั้น โปรดเข้าใจว่า เพื่อให้เห็นหน้าตาของคำผิด เหมือนชี้ให้ดูตัวคนร้าย เจอที่ไหนจะได้รู้จักและรู้ทัน

ไม่ได้มีเจตนาจะให้เห็นคำผิดติดตาแล้วเอาไปเขียนตามแต่ประการใดทั้งสิ้น

..............

ดูก่อนภราดา!

ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ

: ใช้ภาษาวิปลาส

: สมบัติของชาติก็วิปริต

[full-post]



ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,321)


อิณาทาน

ฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า อิ-นา-ทาน

แยกศัพท์เป็น อิณ + อาทาน

(๑) “อิณ”

บาลีอ่านว่า อิ-นะ รากศัพท์มาจาก -

(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ 

: อิ + ยุ > อน = อิน > อิณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความงอกงาม” (คือมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น)

(2) อิณฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย

: อิณฺ + อ = อิณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความงอกงาม” 

“อิณ” หมายถึง หนี้ (debt)

บาลี “อิณ” ภาษาไทยใช้เป็น “อิณะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“อิณะ : (คำนาม) หนี้ เช่น ราชิณ (ราช + อิณ) ว่า หนี้หลวง. (ป.; ส. ฤณ).”

(๒) “อาทาน” 

บาลีอ่านว่า อา-ทา-นะ ประกอบด้วย อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, กลับความ) + ทาน 

(1) ทาน รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งที่ให้”

คำว่า “ทาน” มีความหมายว่า -

๑ การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

๒ สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

(2) อา + ทาน = อาทาน 

“อา” ในที่นี้ทำหน้าที่ “กลับความ” เช่น -

คม หมายถึง “ไป” 

อาคม กลับความ หมายถึง “มา” 

ดังนั้น : ทาน แปลว่า “ให้” 

“อาทาน” กลับความ จึงหมายถึง “เอา” คือ รับเอา ถือเอา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อาทาน” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า - 

“อาทาน : (คำนาม) การถือเอา, การรับ, การยึดถือ, มักใช้เป็นส่วนท้ายศัพท์ เช่น อุปาทาน สมาทาน. (ป., ส.).”

อิณ + อาทาน = อิณาทาน (อิ-นา-ทา-นะ) แปลว่า “การถือเอาหนี้” หมายถึง การกู้หนี้ คือหยิบยืมเงินของผู้อื่นมาใช้

“อิณาทาน” ใช้ในภาษาไทย อ่านแบบไทยว่า อิ-นา-ทาน หมายถึง การกู้หนี้ยืมสิน 

“อิณาทาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อทินนาทาน” ซึ่งเป็นศัพท์ทางธรรมเช่นเดียวกับ “อิณาทาน” บอกไว้ดังนี้ -

“อทินนาทาน : (คำนาม) การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แก่ตน, การลักทรัพย์. (ป.).”

ดังนั้น ถ้าจะมี “อิณาทาน” ใช้ในภาษาไทยและมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ก็ย่อมไม่ผิดกติกาแต่ประการใด

จึงขอฝาก “อิณาทาน” ไว้ - “ในอ้อมใจของมิตรแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง

ขยายความ :

“กู้หนี้” ประโยคบาลีว่า “อิณํ  คณฺหาติ” แปลตามศัพท์ว่า “ถือเอาซึ่งหนี้” หมายถึง ขอยืมเงินหรือกู้หนี้ (to borrow money or take up a loan) 

“ชำระหนี้” ประโยคบาลีว่า “อิณํ  มุญฺจติ” แปลตามศัพท์ว่า “เปลื้องซึ่งหนี้” หมายถึง ชำระหนี้ (to discharge a debt)

หนังสือ พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 แบบเรียนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี มีสุภาษิตบทหนึ่งที่นักเรียนนักธรรมจำกันได้ดี คือ -

อิณาทานํ  ทุกขํ  โลเก.

การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก

ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่มาของสุภาษิตบทนี้ พระพุทธพจน์อันเป็นต้นฉบับมีข้อความว่า -

..............

อิณาทานมฺปิ  ภิกฺขเว  ทุกฺขํ  โลกสฺมึ  กามโภคิโน.

แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

ที่มา: อิณสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 316

..............

หนังสืออธิบายธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 1 แบบประกอบนักธรรมชั้นตรี ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย อธิบายเรื่องสุขของคฤหัสถ์ 4 อย่าง สุขอย่างที่ 3 คือ สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้ อธิบายว่า -

..............

... เมื่อได้แบ่งทรัพย์ออกเป็นส่วน ๆ ใช้เองบ้าง ทำบุญบ้าง ลงทุนประกอบอาชีพบ้าง เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินบ้าง ก็เป็นไท ไม่ตกเป็นทาสใคร ไม่ต้องกู้หนี้ใคร มองเห็นโทษในการกู้หนี้ตามพระบาลีว่า อิณาทานํ  ทุกฺขํ  โลเก การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก เมื่อตนไม่มีหนี้ติดตัวก็ย่อมมีความสุขอิ่มใจว่า “เราไม่มีหนี้ สบาย” ...

..............

อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก อธิบายเรื่องการกู้หนี้เป็นทุกข์ไว้ตอนหนึ่งว่า -

..............

คนเราเมื่อจนไม่มีจะกินก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ก็เป็นทุกข์

เมื่อไม่มีให้เขา ถูกเขาทวง ก็เป็นทุกข์

เขาทวงหนัก ๆ เข้าอายเขา จึงพยายามหลบหน้า ก็เป็นทุกข์

เมื่อไม่มีปัญญาใช้หนี้เขา ถูกเขาจับหรือฟ้องร้อง ก็เป็นทุกข์

ตกลงทุกข์ทุกขั้นตอนเลย 

ที่มา: คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ มติชนออนไลน์ 

วันที่ 8 ธันวาคม 2562

..............

ดูก่อนภราดา!

ปริศนาธรรม -

: กู้หนี้ใหม่

: ใช้หนี้เก่า

คืออะไร ใครรู้บ้าง


[full-post]
ขับเคลื่อนโดย Blogger.