ทองย้อย แสงสินชัย

ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๙)
-------------------------
๙ พระที่รับกฐินต้องจำพรรษาวัดเดียวกัน หรือต่างวัดกันก็ได้?
.....................................................
เวลานี้กำลังมีแนวความคิดว่า พระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ก็สามารถรับกฐินได้
.....................................................
ที่ว่ามาในตอนก่อน ว่าตามที่คัมภีร์ว่าไว้ ผมไม่ได้ว่าเอาเอง สรุปเป็นหลักได้ว่า
พระที่รับกฐินได้ต้องเป็นพระที่เข้าพรรษาต้น อยู่วัดเดียวกัน ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป พระเข้าพรรษาหลังรับกฐินไม่ได้ นิมนต์พระวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูป ก็ใช้ไม่ได้
คำว่า “นิมนต์พระวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูป ก็ใช้ไม่ได้” นี้ ถอดความมาจากประโยคบาลีในอรรถกถาว่า -
.....................................................
อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ  น  ลภนฺติ
แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๐
.....................................................
ผมขอเชิญนักเรียนบาลีให้พิจารณาประโยคนี้เป็นพิเศษว่า มีความหมายตามที่ผมเข้าใจอย่างนี้ หรือว่ามีความหมายเป็นอย่างอื่น
ที่ต้องชวนคิดก็เพราะอรรถกถาตั้งคำถามว่า พระประเภทไหนบ้างที่รับกฐินไม่ได้ แล้วท่านก็ตอบว่า -
๑ ฉินฺนวสฺสา พระที่ขาดพรรษา
๒ ปจฺฉิมิกาย  อุปคตา พระที่เข้าพรรษาหลัง
๓ อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ พระที่จำพรรษาวัดอื่น
พระ ๓ ประเภทนี้รับกฐินไม่ได้
คำว่า “อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ แม้พระที่จำพรรษาวัดอื่น” อาจหมายความว่า พระที่จำพรรษาวัดหนึ่ง ไปรับกฐินอีกวัดหนึ่ง อย่างนี้ไม่ได้
ความเข้าใจของผมก็คือ-ถ้าจำพรรษาวัดหนึ่ง ไปรับกฐินอีกวัดหนึ่ง ไม่ได้ 
จำพรรษาวัดหนึ่ง ไปร่วมเป็นคณะกับอีกวัดหนึ่ง อย่างที่พูดว่า-พระไม่ครบ ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ-ก็ควรจะไม่ได้ด้วย ใช่หรือไม่
หรือจะบอกว่า-จำพรรษาวัดหนึ่ง ไปรับกฐินอีกวัดหนึ่ง ไม่ได้ก็จริง แต่ไปร่วมเป็นคณะกับอีกวัดหนึ่งให้ครบ ๕ รูปเพื่อให้พระวัดนั้นรับกฐินได้ อย่างนี้ใช้ได้
จะให้เข้าใจอย่างนี้ หรือจะให้เข้าใจอย่างไร?
ก่อนจะตัดสิน ขอให้ศึกษาข้อความในอรรถกถาต่อไปอีกหน่อย
กรณีพระที่เข้าพรรษาต้นซึ่งมีสิทธิ์รับกฐิน แต่มีไม่ครบ ๕ รูป อรรถกถาท่านแนะวิธีแก้ปัญหาไว้ดังนี้ -
.....................................................
สเจ  ปุริมิกาย  อุปคตา  จตฺตาโร  วา  โหนฺติ  ตโย  วา  เทฺว  วา  เอโก  วา
ถ้าภิกษุผู้เข้าพรรษาต้นมีสี่รูป หรือสามรูป หรือสองรูป หรือรูปเดียว
อิตเร  คณปูรเก  กตฺวา  กฐินํ  อตฺถริตพฺพํ  ฯ
พึงนิมนต์ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลังมาเพิ่มให้ครบคณะแล้วกรานกฐินเถิด
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๐
.....................................................
โปรดสังเกตว่า พระที่เอามาเพิ่มให้ครบคณะ ๕ รูปนั้น คือพระที่เข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกัน ไม่ใช่พระที่จำพรรษาวัดอื่น
ก็ถ้าพระวัดอื่นก็สามารถเอามาเพิ่มให้ครบคณะ ๕ รูปได้แล้วไซร้ จะต้องคำนึงถึงพระที่เข้าพรรษาหลังทำไม-ในเมื่อพระที่เข้าพรรษาหลังไม่มีสิทธิ์รับกฐิน
กรณีพระไม่ครบ อรรถกถาท่านแนะแต่ว่าให้เอาพระที่เข้าพรรษาหลังในวัดเดียวกันมาเพิ่ม ท่านไม่ได้แนะไว้ที่ไหนเลยว่า ไปเอามาพระวัดอื่นมาเพิ่มให้ครบก็ใช้ได้ 
ใครเคยศึกษาอรรถกาฎีกาเล่มไหนอีก ขอให้ช่วยกันสืบค้น จะได้เป็นความรู้ร่วมกันว่า นิมนต์พระวัดอื่นมาเพิ่มให้ครบก็ใช้ได้เพราะท่านว่าไว้ในคัมภีร์เล่มนั้นเล่มโน้นว่าอย่างนี้ๆ ไม่ใช่มีใครว่าเอาเอง
ประเด็นนี้ยังมีเงื่อนแง่อื่นอีก กล่าวคือ ในตอนที่ว่าด้วย “กฐินไม่เป็นอันกราน” ในพระไตรปิฎกท่านแสดงรายการ “กฐินไม่เป็นอันกราน” นับได้ ๒๔ กรณี มีกรณีหนึ่งท่านแสดงไว้เป็นอันดับสุดท้ายมีข้อความว่า -
.....................................................
น  สมฺมา  เจว  อตฺถตํ  โหติ  กฐินํ  ฯ  ตญฺเจ  นิสฺสีมฏฺโฐ  อนุโมทติ  เอวํปิ  อนตฺถตํ  โหติ  กฐินํ  ฯ
กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น แม้อย่างนี้กฐินก็ชื่อว่าไม่เป็นอันกราน
ที่มา: กฐินขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๗
.....................................................
ตรงนี้ต้องเข้าใจภาพการ “กรานกฐิน” ก่อน
ในการทอดกฐินมีภาพอยู่ ๒ ภาพ คือ 
๑ มีผู้ถวายผ้าแก่สงฆ์ 
๒ สงฆ์ดำเนินการกับผ้านั้น
๑ มีผู้ถวายผ้าแก่สงฆ์-ก็คือที่ชาวบ้านทอดกฐินกัน ภาพนี้จบแค่ชาวบ้านถวายผ้าแก่สงฆ์ เราเข้าใจว่าทอดกฐินเสร็จแล้ว แต่ความจริงการกรานกฐินยังไม่เสร็จ เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
๒ สงฆ์ดำเนินการกับผ้านั้น-ก็คือขั้นตอนหลังจากสงฆ์ได้รับผ้ากฐินแล้วเอาผ้านั้นไปดำเนินกรรมวิธีตามพระวินัย ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน คือ
๑ สงฆ์ประกาศยกผ้ากฐินให้ภิกษุรูปหนึ่ง
๒ ภิกษุทั้งหมดช่วยภิกษุรูปนั้นทำจีวรจนเสร็จ (ถ้าเป็นจีวรสำเร็จรูปแล้วก็ผ่านขั้นตอนนี้ไป)
๓ ภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ทำสำเร็จแล้วไปเข้าที่ประชุมสงฆ์ ภิกษุที่เข้าร่วมประชุมกล่าวคำอนุโมทนา
ดำเนินการครบทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้เป็นอันว่าการกรานกฐินสำเร็จ ทอดกฐิน-รับกฐินสำเร็จเสร็จสิ้นที่ตรงนี้-ตรงที่-ภิกษุที่เข้าร่วมประชุมกล่าวคำอนุโมทนา
“ภิกษุที่เข้าร่วมประชุม” นั้น ต้องมีจำนวนอย่างน้อยที่สุด ๔ รูป + ภิกษุรูปที่สงฆ์มอบผ้ากฐินให้อีก ๑ = ๕ รูป
ภิกษุที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวนี้ต้องเข้ามาอยู่ในที่ประชุม และกล่าวคำอนุโมทนาในที่ประชุมนั้น การกรานกฐินจึงจะถูกต้อง
คำว่า “กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น” หมายความว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จะต้องเข้าร่วมประชุมให้ครบ ๕ รูปนั้น เป็น “ผู้อยู่นอกสีมา” กรณีอย่างนี้การกรานกฐินนั้นก็ใช้ไม่ได้ ไม่สำเร็จเป็นกฐิน
ปัญหาก็มาตกอยู่ที่คำว่า “ผู้อยู่นอกสีมา” หมายถึงอย่างไร?
คำว่า “ผู้อยู่นอกสีมา” แปลมาจากคำบาลีว่า “นิสฺสีมฏฺโฐ” (นิสสีมัฏโฐ) 
คำว่า นิสสีมัฏโฐ พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา”
คัมภีร์สมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยปิฎก ขยายความคำว่า “นิสสีมัฏโฐ” ไว้ว่า -
.....................................................
นิสฺสีมฏฺโฐ  อนุโมทตีติ  พหิอุปจารสีมาย  ฐิโต  อนุโมทติ.
คำว่า  นิสีมฎฺโฐ  อนุโมทติ  หมายความว่า ภิกษุผู้อยู่ภายนอกอุปจารสีมาอนุโมทนา. (สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๖)
.....................................................
ตามหลักฐานนี้ พอสรุปได้ว่า อุปจารสีมา ก็คือ ภายในบริเวณวัด พูดให้ชัดเข้ามาอีกก็คือ ภายในบริเวณเขตโบสถ์ นั่นเอง 
เงื่อนไขที่ว่า กฐินไม่เป็นอันกราน คือไม่เป็นกฐิน ถ้าภิกษุผู้รับกฐินนั้นเป็น นิสสีมัฏโฐ จึงได้ใจความว่า ถ้าภิกษุที่อนุโมทนากฐินอยู่ภายนอกเขตที่กำหนด กฐินก็ไม่เป็นกฐิน 
นั่นคือแปล “นิสสีมัฏโฐ” ว่า “อยู่นอกเขต”
กล่าวคือ ถ้าพระภิกษุที่มาร่วมประชุมเพื่ออนุโมทนามีไม่ครบห้ารูป มีภิกษุที่จะทำให้ครบห้ารูปได้ แต่เป็นพระที่ “อยู่นอกเขต” แล้วพระที่อยู่นอกเขตดังว่านี้ก็ร่วมอนุโมทนาด้วย เพื่อให้ครบห้ารูปตามพุทธบัญญัติ ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ ผ้านั้นก็เป็นโมฆะ คือไม่สำเร็จเป็นกฐิน
คราวนี้ก็มาถึงปัญหาสำคัญ คือคำว่า “นิสสีมัฏโฐ” ที่หมายความว่า “อยู่นอกเขต” นั้น คืออย่างไร กินความแค่ไหน? 
“นิสสีมัฏโฐ -อยู่นอกเขต” สามารถตีความได้ ๒ นัย
นัยที่ ๑ หมายความว่า ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในวัดเดียวกันนั่นแหละ แต่เวลาที่สงฆ์ประชุมอนุโมทนา ตัวไม่ได้เข้าร่วมประชุม จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม จะนับเอาภิกษุรูปนั้นมารวมให้ครบห้ารูปไม่ได้ เทียบได้กับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภา แม้จะเป็นสมาชิกของสภานั้น ก็จะใช้สิทธิ์ออกเสียงในเรื่องที่กำลังลงมติกันอยู่ในสภาขณะนั้นไม่ได้นั่นเอง หรือเทียบกับกรณีที่สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม การประชุมก็เกิดขึ้นไม่ได้แม้ว่าจำนวนสมาชิกของสภานั้นจะมีอยู่ครบก็ตาม
นัยที่ ๒ หมายความว่า เป็นภิกษุที่จำพรรษาอยู่ต่างวัดกัน ภิกษุเช่นนี้จะนิมนต์มาให้ครบห้ารูปตามจำนวนที่วินัยกำหนดไว้ ก็ใช้ไม่ได้ กฐินก็ไม่เป็นอันกราน คือไม่เป็นกฐิน เทียบได้กับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภานั้น ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะมาร่วมลงมติใดๆ กับที่ประชุมของสภานั้นนั่นเอง
ถามว่า ที่ว่า “อยู่นอกเขต” นั้น หมายความตามนัยไหน?
เกี่ยวกับประเด็นนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๓ ว่า -
.....................................................
..... ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำบาลีว่า “กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้ตั้งอยู่นอกสีมาอนุโมทนา” ห้ามไม่ให้เอาภิกษุอื่นมาเป็นคณปูรกะ หรือสวดกรรมวาจา
ที่มา: วินัยมุข เล่ม ๓ หน้า ๗๕
อนึ่ง ในคัมภีร์มหาวรรคมีอยู่ ๒ คำว่า “กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น” ดังนี้คำ ๑ ว่า “กฐินเป็นอันกรานโดยชอบถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น” ดังนี้คำ ๑ 
พระอรรถกถาจารย์แก้บทว่า อยู่นอกสีมา ว่าอยู่ในภายนอกแห่งอุปจารสีมา
๒ คำนี้หมายความว่า ผู้อำนวยให้ผ้ากฐินต้องเป็นผู้จำพรรษาอยู่ในสีมาเดียวกัน หรือว่าต้องทำพิธีอนุโมทนาในสีมา ไม่ชัด ข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายความข้อต้น
ที่มา: วินัยมุข เล่ม ๓ หน้า ๗๙
.....................................................
นี่ก็คือผลการศึกษาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ท่านผู้อื่นศึกษาแล้วเข้าใจว่าอย่างไร เราไม่จำเป็นต้องเห็นตามพระองค์ท่าน หรือคิดว่าเมื่อท่านว่าอย่างนี้แล้วเราจะไปโต้แย้งได้อย่างไร เราเอาตัวคัมภีร์เป็นหลัก ไม่ใช่เอาความเห็นของใครเป็นหลัก
เมื่อพูดถึงการทอดกฐิน-การรับกฐิน ข้อความหนึ่งที่พูดกันมานานและพูดกันทั่วไปก็คือ -
.....................................................
ภิกษุผู้กรานกฐินต้องเป็นผู้จำพรรษามาแล้วถ้วนไตรมาสไม่ขาดในอาวาสเดียวกัน 
.....................................................
ใครมีอุตสาหะลองไปหาอ่านดูเถอะ จะพบได้ไม่ยาก หนังสือวินัยมุข เล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๒๖ กฐิน พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็มีข้อความนี้อยู่ในตอนต้นๆ
แม้คำประชาสัมพันธ์กฐินพระราชทานและคำกล่าวถวายกฐินพระราชทานก็นิยมใช้ถ้อยคำทำนองนี้ กล่าวคือ “... น้อมนำมาถวายพระสงฆ์ผู้จำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้”
ถวายพระสงฆ์ผู้จำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้
ไม่ใช่-ถวายพระสงฆ์ผู้จำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสอื่นแต่มาร่วมอยู่ในอาวาสนี้
.....................................................
๑ จำพรรษามาแล้วถ้วนไตรมาส
๒ ไม่ขาด
๓ ในอาวาสเดียวกัน 
.....................................................
แนวความคิดว่า พระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ก็สามารถรับกฐินได้ จะต้องหาเหตุผลมาล้มหลักการนี้ให้ได้เสียก่อน-โดยเฉพาะในข้อ ๓
ช่วยกันหาหลักฐาน+หาเหตุผลมาชนกันนะครับ
อย่าเอาความความเข้าใจของตัวบุคคลมาชนกัน
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๗:๒๓
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.