ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,716)

มังสาหาร
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า มัง-สา-หาน
แยกศัพท์เป็น มังส + อาหาร
(๑) “มังส”
เขียนแบบบาลีเป็น “มํส” อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)
: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)
“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ -
“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้
(๒) “อาหาร” 
บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: อา + หรฺ = อาหร + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”
พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ - 
1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)
2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)
3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)
4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)
มังส + อาหาร = มังสาหาร อ่านว่า มัง-สา-หาน เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “มํสาหาร” อ่านว่า มัง-สา-หา-ระ แปลตามสำนวนนักเรียนบาลีว่า “อาหารคือเนื้อ” 
หมายความว่า อาหารอาจจะมีหลายอย่าง แต่ในที่นี้หมายถึง “เนื้อ” คือเนื้อนั่นแหละเป็นอาหารชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่า “อาหารคือเนื้อ” 
คนที่ไม่คุ้นกับสำนวนแปลบาลีฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่ารุ่มร่าม พูดไปตรงๆ ว่า “เนื้อ” ก็ได้ ทำไมจะต้องเยิ่นเย้อเป็น “อาหารคือเนื้อ” 
คำอธิบายของนักเรียนบาลีก็คือ บางกรณี “เนื้อ” อาจอยู่ในฐานะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “อาหาร” ก็เป็นได้ เช่นกำลังใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการศึกษาวิชาบางอย่างของนักเรียนเป็นต้น แต่เนื้อที่กำลังพูดถึงนี้อยู่ในฐานะเป็น “อาหาร” และอาหารที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือ “เนื้อ” ไม่ใช่อาหารชนิดอื่น เมื่อความจริงยันกันอยู่อย่างนี้จึงใช้คำว่า “อาหารคือเนื้อ” มีความหมายที่ชัดเจน ดิ้นไม่ได้
นี่คือความละเอียดของภาษาบาลี ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น
อนึ่ง คำว่า “เนื้อ” ในคำว่า “มังสาหาร” นี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะเนื้อวัวชนิดเดียว เนื้อสัตว์อื่นๆ แม้แต่ปลา ก็รวมอยู่ในคำว่า “เนื้อ” ด้วย คำแปลหรือคำจำกัดความที่น่าจะครอบคลุมได้หมดคือแปลว่า “เนื้อสัตว์”

ขยายความ :
พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีคำทำนายตอนหนึ่ง ดังนี้ -
..............
... พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง ...
..............
คำว่า “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” เป็นคำธรรมดาๆ ฟังหรืออ่านแล้วก็ผ่านไป เป็นอย่างที่เรียกว่า “หญ้าปากคอก” 
“หญ้าปากคอก” หากปล่อยให้ผ่านเฉยเลยไปนานเข้า ถึงเวลาจำเป็นจะต้องรู้ความหมายเข้าจริงๆ บางทีอาจทำให้งงงวยไปได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ทบทวนไว้ก็ไม่เสียหายอะไร
..............
ดูก่อนภราดา!
: กินอะไร ก็เป็นเรื่องสำคัญ
: แต่กินแล้วเอากำลังเรี่ยวแรงไปทำอะไร สำคัญกว่า

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.