ทองย้อย แสงสินชัย

ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๑๒)
-------------------------
๑๒ ข้อสังเกตเรื่องกฐินพระรูปเดียว
ผมมีข้อสังเกตเรื่องกฐินพระรูปเดียวดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ เรื่องกฐินอยู่ในกฐินขันธกะ แต่เรื่องกฐินพระรูปเดียวอยู่ในจีวรขันธกะ คนละกลุ่มกัน
เรื่องนี้ต้องมีความรู้เรื่องการจัดหมวดหมู่ในพระวินัยปิฎกสักเล็กน้อย
พระวินัยปิฎกในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐมี ๘ เล่ม คือพระไตรปิฎกเล่ม ๑ ถึงเล่ม ๘ 
ชื่อมหาวิภังค์ ๒ เล่ม ว่าด้วยสิกขาบทต่างๆ ของภิกษุ 
ชื่อภิกขุนีวิภังค์ ๑ เล่ม ว่าด้วยสิกขาบทต่างๆ ของภิกษุณี 
ชื่อมหาวรรค ๒ เล่ม ชื่อจุลวรรค ๒ เล่ม 
ชื่อปริวาร ๑ เล่ม เป็นเหมือนคู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย
เฉพาะมหาวรรคกับจุลวรรค รวม ๔ เล่ม รวมเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า “ขันธกะ” เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเข้าพรรษา เรียกว่าวัสสูปนายิกขันธกะ เรื่องเกี่ยวกับยารักษาโรค เรียกว่าเภสัชชขันธกะ เรื่องเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เรียกว่าเสนาสนขันธกะ เรื่องเกี่ยวกับกฐิน เรียกว่ากฐินขันธกะ เรื่องเกี่ยวกับจีวร เรียกว่าจีวรขันธกะ รวมทั้งหมดมี ๒๒ ขันธกะ
กฐินขันธกะ ว่าด้วยเรื่องกฐินล้วนๆ
จีวรขันธกะ อยู่ต่อจากกฐินขันธกะ ว่าด้วยเรื่องถวายจีวร ประวัติหมอชีวกซึ่งเป็นต้นคิดถวายจีวรสำเร็จรูปมีเล่าไว้ในจีวรขันธกะนี้
เรื่องภิกษุจำพรรษารูปเดียวที่ยกมาเป็นต้นเหตุให้พูดกันว่าพระรูปเดียวก็รับกฐินได้ อยู่ในจีวรขันธกะ ไม่ได้อยู่ในกฐินขันธกะ
ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องถวายกฐิน ก็น่าจะเอาไปรวมไว้ในกฐินขันธกะ แต่นี่กลับมาอยู่ในจีวรขันธกะ แสดงว่าไม่ใช่ถวายกฐิน แต่เป็นการถวายจีวร
ข้อ ๒ เรื่องเดิมคือภิกษุจำพรรษารูปเดียว มีผู้ถวายจีวรให้เป็นของสงฆ์ ในตัวเรื่องก็มีถ้อยคำที่ระบุชัดว่า “สงฆ์” ในกรณีนี้คือภิกษุ ๔ รูปเท่านั้นก็ใช้ได้ ไม่ต้องถึง ๕ รูปเหมือนกรณีรับกฐินโดยตรง
ปัญหาเกิดจาก-ในกรณีที่จำพรรษาไม่ครบองค์สงฆ์-คือน้อยกว่า ๔ รูป-แล้วเกิดมีผู้ถวายจีวรให้เป็นของสงฆ์ จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร
อรรถกถาตอบว่า ให้ไปหาภิกษุจากที่อื่นมาให้ครบองค์สงฆ์ เมื่อสงฆ์มาประชุมกันครบแล้วก็อนุมัติจีวรนั้นให้แก่ภิกษุรูปนั้น การกระทำเช่นนี้มีผลเท่ากับ “กฐินํ  อตฺถตํ  โหติ - กฐินเป็นอันกราน” คือมีผลเท่ากับภิกษุรูปนั้นได้กรานกฐินเหมือนกับภิกษุที่ได้รับกฐินตามปกติเช่นเดียวกัน 
แต่จะเรียกไม่ได้ว่าเป็นการทอดกฐิน-รับกฐิน เพราะกรณีเช่นนี้ไม่ใช่การถวายผ้ากฐิน เป็นการถวายจีวรธรรมดา เพียงแต่ว่าเมื่อภิกษุที่รับถวายจีวรได้ดำเนินการตามที่ท่านแนะไว้ ก็จะได้สิทธิเทียบได้กับการรับกฐินเช่นกัน-เท่านั้น
ข้อ ๓ ถามว่า เรื่องนี้-เป็นเหตุให้เกิดข้อสรุปว่า “ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้”-เพราะอะไร?
ตอบว่า เพราะผู้ถวายจีวรแสดงเจตนาถวายเป็นของสงฆ์
จะเห็นภาพชัดขึ้นถ้าลองสมมุติสถานการณ์เป็นอีกแบบหนึ่ง คือ -
ถ้าผู้ถวายจีวรไม่ได้แสดงเจตนาถวายเป็นของสงฆ์ แต่ถวายแก่ภิกษุรูปเดียวนั้นเป็นของส่วนตัว เรื่องจะเป็นอย่างไร
เรื่องก็จบอยู่แค่ตรงนั้นทันที คือภิกษุรูปนั้นก็เป็นเจ้าของจีวรได้เลย ไม่ต้องไปหาสงฆ์ที่ไหนมารับรู้รับทราบ และไม่ต้องโยงไปเกี่ยวกับทอดกฐิน-รับกฐินแต่ประการใด เพาะไม่ใช่เรื่องทอดกฐิน-รับกฐินมาแต่ต้นอยู่แล้ว
หรือผู้ถวายจีวรแสดงเจตนาถวายเป็นของสงฆ์ แต่ถ้าเวลานั้นมีภิกษุอยู่ครบองค์สงฆ์คือ ๔ รูป เรื่องจะเป็นอย่างไร
เรื่องก็จบอยู่แค่ตรงนั้นทันทีเหมือนกัน คือภิกษุทั้ง ๔ รูปนั้นก็ประชุมกันแจกจีวรนั้นเหมือนกับที่เราถวายสังฆทานกันทุกวันนี้นั่นเอง ไม่ต้องโยงไปเกี่ยวกับทอดกฐิน-รับกฐินแต่ประการใดอีกเช่นกัน
จึงเห็นได้ชัดว่า กรณีถวายจีวรแก่ภิกษุอยู่รูปเดียวตามเรื่องที่ยกมานี้ไม่ใช่การทอดกฐิน-รับกฐิน
เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีวร ไม่ได้เกี่ยวกับกฐินนี่เอง ท่านจึงจัดเรื่องนี้ไว้ในจีวรขันธกะ ไม่ได้จัดไว้ในกฐินขันธกะ
ข้อ ๔ นอกจากเรื่องภิกษุจำพรรษารูปเดียวแล้ว ในจีวรขันธกะยังเล่าเรื่องภิกษุจำพรรษา ๒ รูป และภิกษุจำพรรษา ๓ รูป แล้วมีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ สิทธิในจีวรและวิธีปฏิบัติก็เหมือนกับกรณีภิกษุจำพรรษารูปเดียว
เรื่องในจีวรขันธกะมีเพียงแค่ภิกษุจำพรรษา ๓ รูป แต่ไม่ได้กล่าวถึงภิกษุจำพรรษา ๔ รูป 
เพราะเหตุไร?
ก็เพราะภิกษุ ๔ รูป ครบองค์สงฆ์ คือเป็น “สงฆ์” ตามความมุ่งหมายที่ผู้ถวายจีวรตั้งเจตนาอยู่แล้ว ไม่เป็นปัญหา เพราะสามารถแจกจีวรกันได้เลย จึงไม่ต้องกล่าวถึง
ภิกษุ ๔ รูป ครบองค์สงฆ์ แจกจีวรที่มีผู้ถวายแก่สงฆ์ได้เลย แต่นั่นก็ย่อมจะไม่ใช่การทอดกฐิน รับกฐิน กรานกฐิน เพราะจะเป็นกฐินต้องมีภิกษุจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๕ รูปเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่ ๔ รูป
ข้อ ๕ ถ้าพระไตรปิฎกต้องการจะแสดงหลักการว่า การไปหาภิกษุจากที่อื่นมาให้ครบ ๕ รูป เพื่อรับกฐิน สามารถทำได้ เรื่องในจีวรขันธกะตอนนี้ก็ควรจะเล่าถึงกรณีภิกษุจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป แล้วมีผู้ถวายผ้ากฐินแก่สงฆ์ ภิกษุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๕ รูปเป็นอย่างน้อยจึงจะชื่อว่าเป็นสงฆ์ที่สามารถกรานกฐินได้” แต่พวกเราอยู่กันไม่ครบ ๕ รูป จะทำไฉนดี คิดแล้วก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็มีพระพุทธานุญาตให้หาภิกษุมาให้ครบ ๕ รูป ก็กรานกฐินได้ ...
ควรจะมีเรื่องทำนองนี้แสดงไว้ด้วย จึงจะชัดเจนว่าเป็นกรณีรับกฐิน แต่ก็ไม่มีแสดงไว้ จึงเห็นได้ว่าเรื่องภิกษุจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป แล้วมีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ ไม่ใช่เรื่องทอดกฐิน-รับกฐิน แต่เป็นเรื่องถวายจีวรแก่สงฆ์ตามปกติธรรมดา เพราะฉะนั้น ภิกษุจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๔ รูปครบองค์สงฆ์จึงสามารถจัดการกับจีวรนั้นได้เลย ไม่ต้องไปหาภิกษุมาให้ครบ ๕ รูป เพราะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกรานกฐิน
ข้อ ๖ คำอธิบายของอรรถกถาที่ว่า “หากได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว” คำบาลีว่า “สเจ  คณปูรเก  ภิกฺขู  ลภิตฺวา  กฐินํ  อตฺถตํ  โหติ” ไม่ได้ระบุว่า “ภิกษุครบคณะ” คือกี่รูป
ตรงนี้มีข้อเยื้องแย้งที่ต้องจับหลักไว้ให้มั่น มิเช่นนั้นจะสับสน กล่าวคือ
(1) มีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ ถ้ามีภิกษุจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๔ รูป เรื่องก็จบแค่นั้น เพราะ ๔ รูปครบองค์สงฆ์แล้ว แจกจีวรกันได้เลย แต่การแจกจีวรกันเช่นนั้นย่อมไม่ใช่ “กฐินํ  อตฺถตํ  โหติ = กฐินเป็นอันกรานแล้ว” เพราะเป็นการถวายจีวร ไม่ใช่ถวายกฐิน
(2) แต่กรณีมีภิกษุจำพรรษารูปเดียวตามเรื่องที่ยกมาอ้าง มีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ หากได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว
โปรดสังเกต:
- จำพรรษา ๔ รูป ภิกษุครบคณะแล้ว ไม่นับว่ากฐินเป็นอันกราน
- จำพรรษารูปเดียว หาภิกษุมาให้ครบคณะ กฐินเป็นอันกราน
พูดใหม่ชัดๆ
- จำพรรษารูปเดียว หาภิกษุมาให้ครบคณะ รับกฐินได้
- จำพรรษา ๔ รูป ภิกษุครบคณะอยู่แล้ว รับกฐินไม่ได้
ทำไมเป็นอย่างนั้น? จะอธิบายอย่างไร?
ถ้าคำว่า “คณปูรเก  ภิกฺขู  ลภิตฺวา = หาภิกษุได้ครบคณะ” หมายถึงภิกษุ ๕ รูป เพื่อให้สอดรับกับหลักการรับกฐินที่ว่าต้องมีภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป ก็ต้องถามว่า ทำไมต้อง ๕ รูป ในเมื่อกรณีนี้เป็นการถวายจีวรแก่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายผ้ากฐิน 
ถวายแก่สงฆ์ ภิกษุ ๔ รูปก็เป็นสงฆ์ได้แล้ว ทำไมต้อง ๕?
ถ้าคำว่า “คณปูรเก  ภิกฺขู  ลภิตฺวา = หาภิกษุได้ครบคณะ” หมายถึงภิกษุ ๔ รูป ตามหลักพื้นฐานที่ว่า ภิกษุ ๔ รูปถือว่าเป็นสงฆ์ได้ เรื่องก็จะกลายเป็นว่า ภิกษุ ๔ รูปก็รับกฐินได้ เพราะกรณีนี้ท่านบอกว่า “สเจ  คณปูรเก  ภิกฺขู  ลภิตฺวา  กฐินํ  อตฺถตํ  โหติ = หากได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว” 
จะอธิบายข้อเยื้องแย้งเหล่านี้ว่าอย่างไร?
ข้อ ๗ กรณีพระจำพรรษารูปเดียวที่ยกมาอ้างนี้ คือการถวายจีวรแก่สงฆ์ ไม่ใช่การทอดกฐิน แต่เมื่อภิกษุรูปเดียวนั้นหาภิกษุได้ครบองค์สงฆ์มารับรู้หรืออนุมัติจีวรนั้นให้แก่ตนแล้ว ภิกษุรูปเดียวนั้นจะได้รับอานิสงส์เทียบเท่าได้รับกฐิน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การทอดกฐิน-รับกฐิน
ข้อ ๘ พระจำพรรษารูปเดียว หรือไม่ครบ ๕ รูป ทายกทายิกาจะทอดกฐินโดยยกกรณีนี้ขึ้นอ้างเป็นบรรทัดฐานว่าทอดได้ ย่อมไม่ถูกต้อง
ทอดกฐินคือการถวายผ้ากฐินแก่สงฆ์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นมี “สงฆ์” คือภิกษุอย่างน้อย ๕ รูปปรากฏตัวอยู่แล้วคือจำพรรษาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า
ขอให้นึกถึงต้นเรื่องกฐิน คือภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป
ภิกษุชาวเมืองปาฐาจำพรรษาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า ไม่มีภิกษุที่จำพรรษาต่างอาวาสมารวมอยู่ด้วย นี่คือหลักการของกฐิน-ถวายแก่สงฆ์ที่จำพรรษาในอาวาสเดียวกัน
ถวายผ้ากฐินให้พระที่จำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป แบบนี้ทำไม่ได้
แต่พระที่จำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป มีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ พระไปทำกรรมวิธีตามที่ท่านแนะนำไว้ ได้รับอานิสงส์เท่ากับได้รับกฐิน แบบนี้ทำได้
แต่ทั้ง ๒ แบบนี้เป็นคนละเรื่องกัน เหมือนไม้คนละต้น เอามาต่อเป็นต้นเดียวกันไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป แล้วใครคิดจะเอากฐินไปทอด กรุณาใคร่ครวญให้รอบคอบ
ข้อ ๙ ไม่ควรอยากทอดกฐินหรืออยากรับกฐินจนไม่นึกถึงหลักการ
ฝ่ายชาวบ้าน คือทายกทายิกา ไม่ได้ทอดกฐิน เสียประโยชน์อะไรบ้าง ประโยชน์เช่นนั้นอาจแสวงหาได้จากบุญอื่นๆ อีกหรือไม่
ฝ่ายชาววัด คือภิกษุ ไม่ได้รับกฐิน เสียประโยชน์อะไรบ้าง ประโยชน์เช่นนั้นอาจชดเชยได้จากกิจอื่นๆ อีกหรือไม่
..................
กฐิน ถ้าจะรับถ้าจะทอด จึงควรปลอดจากปัญหาทั้งปวง
หลักการของกฐิน ควรช่วยกันศึกษาไปให้ถึงคัมภีร์ต้นฉบับ
อย่าเอาแต่รอรับความเห็นของตัวบุคคล
ควรจะเลิกอ้างกันเสียที --
ท่านเจ้าคุณนี่ท่านว่าอย่างนั้น
ท่านมหานั่นท่านว่าอย่างโน้น
อาจารย์โน่นท่านว่าอย่างนี้
ควรช่วยกันหาคำตอบว่า-แล้วคัมภีร์ท่านว่าไว้อย่างไร
-----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๗:๕๗
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.