ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,719)

ธัญญาหาร [2]
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า ทัน-ยา-หาน
แยกศัพท์เป็น ธัญญ + อาหาร
(๑) “ธัญญ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ธญฺญ” อ่านว่า ทัน-ยะ รากศัพท์มาจาก -
(1) ธาน (การเลี้ยง) + ย ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ธาน เป็น อะ (ธาน > ธน), แปลง นฺย (คือ -น ที่ ธาน และ ย ปัจจัย) เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ธาน + ย = ธานฺย > ธนฺย > ธ + ญฺ + ญ = ธญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีการเลี้ยงเป็นความดี” (คือดีในทางเลี้ยงผู้คน) 
(2) ธนฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ย ปัจจัย, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ธนฺ + ย = ธนฺย > ธ + ญฺ + ญ = ธญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนปรารถนา”
“ธญฺญ” ในที่นี้หมายถึง ข้าวเปลือก, ข้าว (grain, corn)
นอกจากนี้ “ธญฺญ” ยังแปลตามศัพท์ว่า “ซึ่งอุดมด้วยข้าว” หมายถึง ร่ำรวย; มีความสุข, มีโชคดี, มีเคราะห์ดี ("rich in corn" : rich; happy, fortunate, lucky)
ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งใช้เป็น “ธัญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ธัญ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ -
(1) ธัญ ๑ : (คำแบบ) ว. รุ่งเรือง, มั่งมี, มีโชค, ดี, เลิศ, เช่น ธัญลักษณ์ ว่า มีลักษณะดี. (ป. ธญฺญ; ส. ธนฺย).
(2) ธัญ ๒, ธัญ- : (คำนาม) ข้าวเปลือก. (ป. ธญฺญ; ส. ธานฺย).
ในที่นี้ “ธัญ” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

ขยายความ :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษขยายความคำว่า “ธญฺญ” ไว้ว่า -
..............
The usual enumn comprises 7 sorts of grain, which is however not strictly confined to grain-fruit proper ("corn") but includes, like other enumns, pulse & seeds. (ตามปกติจำแนกข้าวไว้ 7 ชนิด, ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะข้าวที่แท้จริง แต่รวมถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ ด้วย)
..............
ในคัมภีร์แสดงรายการ “ธัญญาหาร” ไว้ 7 ชนิด คือ -
(1, 2) สาลิ และ วีหิ = ข้าวเจ้า (rice-sorts)
(3) ยว = ข้าวเหนียว (barley)
(4) โคธุม = ข้าวสาลี (wheat)
(5) กงฺุคุ = ข้าวเดือย (millet)
(6) วรก = ถั่ว (beans)
(7) กุทฺรูสก = หญ้ากับแก้ (a kind of grain)
(๒) “อาหาร” 
บาลีอ่านว่า อา-หา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ, ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + หร (ธาตุ = นำไป, มี “อา” นำหน้า กลับความเป็น นำมา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาต คือ อะ ที่ ห-(รฺ) เป็น อา (หรฺ > หาร)
: อา + หรฺ = อาหร + ณ = อาหรณ > อาหร > อาหาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งผล” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปคือ เมื่อกินอาหารแล้วก็นำมาซึ่งผลคือมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“อาหาร : (คำนาม) ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต, เช่น อาหารเช้า อาหารปลา อาหารนก; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น อาหารตา อาหารใจ. (ป., ส.).”
พระพุทธศาสนาจำแนกอาหารออกเป็น 4 หมู่ คือ - 
1 ของกินทั่วไป คืออาหารกาย (ศัพท์วิชาการว่า = กพฬิงการาหาร)
2 ตาดูหูฟัง อย่างเช่นดูหนังฟังเพลง หรือที่พูดว่า อาหารหูอาหารตา เป็นต้น ( = ผัสสาหาร)
3 ความหวังตั้งใจ เช่นมีความหวังว่าจะได้ จะมี จะเป็น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ได้ ( = มโนสัญเจตนาหาร)
4 การได้รับรู้รับทราบ เช่นอยากรู้อะไรก็ได้รู้สิ่งนั้น (อาการที่ตรงกันข้าม คือ “หิวกระหายใคร่รู้”) เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ( = วิญญาณาหาร)
ธัญญ + อาหาร = ธัญญาหาร อ่านว่า ทัน-ยา-หาน เขียนกลับเป็นบาลีเป็น “ธญฺญาหาร” อ่านว่า ทัน-ยา-หา-ระ แปลว่า “อาหารคือข้าว” หรือ “อาหารคือพืช”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ธัญญาหาร : (คำนาม) อาหารคือข้าว. (ป.).”
หมายเหตุ : ข้างต้นบอกไว้ว่า ในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งใช้เป็น “ธัญ” แต่คำว่า“ธัญญาหาร” ใช้ ญ หญิง 2 ตัว ไม่ขัดแย้งกันหรือ?
ไม่ขัด แต่ต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติม กล่าวคือ ใช้เป็น “ธัญ” เมื่ออยู่เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ หรือเป็นคำหน้าของสมาสที่คำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ เช่น -
ธัญชาติ (ธัญ + ชาติ) ไม่ใช ธัญญชาติ 
ธัญพืช (ธัญ + พืช) ไม่ใช่ ธัญญพืช
แต่ในกรณีที่เป็นคำหน้าของสมาสที่คำหลังขึ้นต้นด้วยสระซึ่ง ญ หญิง จะต้องสนธิกับสระ กรณีเช่นนี้ให้คง ญ หญิง ไว้ทั้ง 2 ตัวตามรูปคำเดิม เพื่อให้ตัวหน้าเป็นตัวสะกด และตัวหลังสนธิกับสระ 
เช่นในที่นี้ ธัญญ + อาหาร ถ้าตัด ญ หญิง ออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมทั่วไป ก็คือ -
: ธัญ + อาหาร = ธัญาหาร 
ญ หญิง ตัวเดียวเป็นทั้งตัวสะกด และเป็นตัวสนธิกับสระในคำหลัง ไม่ถูกหลักภาษา จึงต้องคง ญ หญิง ไว้ทั้ง 2 ตัว -
: ธัญญ + อาหาร = ธัญญาหาร 

ขยายความ :
พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 มีคำทำนายตอนหนึ่ง ดังนี้ -
..............
... พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง ...
..............
คำว่า “ธัญญาหาร” “ผลาหาร” “ภักษาหาร” “มังสาหาร” เป็นคำธรรมดาๆ ฟังหรืออ่านแล้วก็ผ่านไป เป็นอย่างที่เรียกว่า “หญ้าปากคอก” 
“หญ้าปากคอก” หากปล่อยให้ผ่านเฉยเลยไปนานเข้า ถึงเวลาจำเป็นจะต้องรู้ความหมายเข้าจริงๆ บางทีอาจทำให้งงงวยไปได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ทบทวนไว้ก็ไม่เสียหายอะไร
..............
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ากินพืชเป็นเหตุให้กิเลสสิ้น
: ทั้งแผ่นดินคงมีแต่คนสิ้นกิเลส

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.