ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (3,720)

สาฎก
คำบาลีที่ควรรู้จัก
อ่านว่า สา-ดก
“สาฎก” บาลีเป็น “สาฏก”
โปรดระวัง:
ไทย “สาฎก” -ฏก ฏ ชฎา
บาลี “สาฏก” -ฏก ฏ ปฏัก
บาลี “สาฏก” อ่านว่า สา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก สฏฺ (ธาตุ = เสียดแทง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะ อะ ที่ ส-(ฏฺ) ต้นธาตุเป็น อา (สฏฺ > สาฏ)
: สฏฺ + ณฺวุ > อก = สฏก > สาฏก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสียดสีร่างกาย”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สาฏก” ว่า ผ้า, ผ้าสาฎก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาฏก” ว่า an outer garment, cloak; cloth (ผ้าสาฎก, เสื้อผ้าชั้นนอก, ผ้าคลุม; ผ้า)
บาลี “สาฏก” (-ฏก ฏ ปฏัก) ในภาษาไทยใช้เป็น “สาฎก” (-ฏก ฏ ชฎา) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 
“สาฎก : (คำนาม) ผ้า. (ป. สาฏก; ส. ศาฏก).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า สันสกฤตเป็น “ศาฏก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ศาฏก” และ “ศาฏี” บอกไว้ดังนี้ -
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาฏก, ศาฏี : (คำนาม) ‘ศาฎก, ศาฎี,’ กังเกงชั้นใน; a petticoat, an under-skirt.”
โปรดสังเกตคำแปลของสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่บอกว่า a petticoat, an under-skirt (กังเกงชั้นใน) แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า an outer garment (เสื้อผ้าชั้นนอก)

ขยายความ :
“สาฏก” ที่ควรจะคุ้นกันดีคือผ้าที่คำบาลีเรียกว่า “วสฺสาวาสิกสาฏก” (วัด-สา-วา-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบแล้ว” ภาษาไทยเรียกว่า “ผ้าจํานําพรรษา” 
โปรดสังเกตว่า “อยู่จำพรรษาครบแล้ว” คือหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ก่อนเข้าพรรษา หรือระหว่างสามเดือนในพรรษา
ผ้า “วสฺสาวาสิกสาฏก” (ผ้าจํานําพรรษา) เป็นผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้วเพื่อให้พระภิกษุผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม
อีกคำหนึ่งคือ “วสฺสิกสาฏก” (วัด-สิ-กะ-สา-ตะ-กะ) แปลว่า “ผ้าที่พึงใช้ในฤดูฝน” คือ “ผ้าอาบน้ำฝน” เรียกสั้นๆ ว่า “ผ้าอาบ” คนเก่าๆ เรียก “ผ้าชุบอาบ” หรือ “ผ้าชุบสรง” 
ผ้า “วสฺสิกสาฎก” นี้ ต้องถวายก่อนเข้าพรรษา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้พระภิกษุสามเณรใช้ผลัดอาบนํ้าในฤดูฝนคือในระหว่างจำพรรษา
“สาฎก” (-ฏก ฏ ชฎา) อีกคำหนึ่งที่มหาเปรียญทุกคนจะต้องรู้จักก็คือ “จูเฬกสาฎก” (จู-เล-กะ-สา-ดก) เป็นชื่อพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นชาวเมืองสาวัตถี พราหมณ์กับภรรยาต้องใช้ผ้าสาฎก (ใช้ห่มเมื่อเวลาออกนอกบ้าน) ผืนเดียวกันเนื่องจากยากจน ทั้งบ้านมีผ้าสาฎกผืนเดียว เพราะฉะนั้น พราหมณ์กับภรรยาจึงออกนอกบ้านพร้อมกันไม่ได้
วันหนึ่ง พราหมณ์จูเฬกสาฎกไปฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเปลื้องผ้าสาฎกที่มีอยู่ผืนเดียวนั้นออกบูชาธรรมหลังจากลังเลใจมาตั้งแต่หัวค่ำจนเที่ยงคืน มาชนะใจได้เอาตอนใกล้รุ่ง ได้เปล่งวาจาอันเป็นอมตะคือมีคนจำกันได้มากว่า - 
ชิตํ เม ชิตํ เม
(ชิตัง เม ชิตัง เม)
เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว
โปรดศึกษารายละเอียดเรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎกได้จากธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5
..............
ดูก่อนภราดา!
: ชนะอื่นหมื่นแสนทั้งแดนไตร
: ยังแพ้ได้ไม่เหมือนพระชนะมาร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.