ทองย้อย แสงสินชัย

ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๑๓)
-------------------------
๑๓ บางเรื่องของกฐินที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง
๑ กฐินเป็นกองๆ ไม่มี 
กฐินเป็นกองๆ ไม่มี โปรดช่วยกันจำไว้ เพราะกฐินไม่ต้องเอากองไว้เหมือนผ้าป่า
ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่กฐิน+ผ้าป่าคืออะไร
เรื่องเดิมของผ้าป่าก็คือ สมัยที่ยังไม่มีพุทธานุญาตให้ใช้จีวรสำเร็จรูป (ภาษาพระวินัยเรียกว่า คฤหบดีจีวร หมอชีวกเป็นผู้ถวายเป็นคนแรก) พระต้องใช้ผ้าบังสุกุล (ภาษาพระวินัยเรียกว่า บังสุกุลจีวร) คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เก็บมาตัด เย็บ ย้อม เป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ที่เรียกว่า “ไตรจีวร” คือเครื่องนุ่งห่มของพระ 
ชาวบ้านที่เข้าใจวิถีชีวิตของพระสงฆ์และรู้วิธีที่ท่านแสวงหาผ้า ปรารถนาจะสงเคราะห์มิให้ท่านต้องหาผ้าได้อย่างลำบาก จึงทำอุบายเอาผ้าไปวางไว้กับพื้นดินบ้าง พาดไว้กับกิ่งไม้บ้าง เป็นทีว่าเป็นของทิ้งแล้ว ตามที่หรือตามทางที่รู้ว่าพระท่านมักจะไป หรือจะผ่านเพื่อไปแสวงหาผ้า เมื่อทอดเรียบร้อยแล้วเจ้าของจะไม่แสดงตัว แต่ก็มักจะซุ่มซ่อนอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้นจนกว่าจะมีพระมาชักผ้าป่า ได้เห็นผลทานของตนแล้วจึงกลับไป
เมื่อพระไปเห็นเข้าและแน่ใจว่าไม่มีเจ้าของแน่แล้ว ท่านก็จะ “ชัก” คือเก็บเอาไป คำที่พระรุ่นเก่าๆ ท่านพูดกัน ยังเรียกว่า “ชักผ้า” (ชัก ช ช้าง)
และสมัยก่อน ที่ที่พระอยู่หรือทางที่พระผ่านเสมอก็มักจะเป็นป่า ชาวบ้านก็นิยมเอาผ้าไปทอดดักทางพระไว้ตามป่า จึงเรียกผ้าเช่นนั้นว่า “ผ้าป่า” 
วิธีตามที่ว่ามานี้เป็นการตั้งใจถวายผ้าให้พระ เป็นแต่ไม่ถวายตรงๆ ทำอุบายอนุโลมไปตามวิธีแสวงหาผ้าของพระ 
ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของผ้าป่าก็คือ เป็นของที่ไม่มีเจ้าของ ดังคำชักผ้าป่าของเดิมว่า “อิมัง ปังสุกูละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ” แปลว่า ผ้าบังสุกุลนี้ไม่มีเจ้าของ ย่อมถึงแก่เรา
นอกจากผ้าแล้ว สมัยต่อมามักมีของเป็นบริวารด้วย เช่นผลไม้ในพื้นถิ่นตามฤดูกาล และของอื่นๆ อันสมควรแก่สมณบริโภค ของเหล่านี้เมื่อเจ้าของไม่ได้ถือไว้ ก็ต้องเอาวางกับพื้น ลักษณะที่วางไว้กับพื้นนั่นเองคือที่มาของคำว่า “กอง” ผ้าป่าจึงมีลักษณะเป็น “กอง” ด้วยเหตุผลดังว่านี้ 
และเพราะผ้าป่าไม่จำกัดด้วยจำนวน เจ้าของผ้าจะมีกี่รายก็ได้ คนหนึ่งทอดไปแล้ว คนอื่นมาทอดอีกก็ได้ ไม่จำกัดเหมือนกฐิน เพราะฉะนั้น ผ้าป่าจึงมีได้หลายกอง และจึงเรียกผ้าป่าเป็นกองๆ ได้
แต่กฐินไม่เหมือนผ้าป่า คือผู้ถวายผ้ากฐินตั้งใจถวายแก่สงฆ์ และสงฆ์ก็ปรากฏตัวอยู่ตรงหน้าแล้ว ผู้ถวายสามารถน้อมนำผ้าเข้าไปถวายได้โดยตรง ไม่ต้องเอาผ้ากองไว้กับพื้นเหมือนผ้าป่า เพาะฉะนั้น กฐินที่ “เป็นกอง” จึงไม่มี
และกฐินนั้นเมื่อรายหนึ่งทอดแล้ว รายอื่นจะมาทอดอีกไม่ได้ เพาะฉะนั้น กฐินที่ “เป็นกองๆ” คือหลายกองก็ยิ่งมีไม่ได้เลย
จึงขอร้องว่า 
(๑) อย่าเรียกกฐินว่าเป็นกอง
(๒) อย่าชวนใครเป็นเจ้าภาพกฐินเป็นกองๆ (ราคากองละเท่านั้นเท่านี้ อีกต่างหาก)
(๓) ใครชวนทอดกฐินเป็นกองๆ อย่าสนับสนุน วิธีบอกบุญและวิธีทำบุญที่ถูกต้องยังมีอีกหลายวิธี ไม่ควรใช้วิธีที่ทำให้คนหลงผิด
(๔) กรุณาอย่าอ้างว่า “ก็เขานิยมเรียกกันอย่างนั้น จะไปห้ามเขาได้อย่างไร” การอ้างอย่างนี้เท่ากับเปิดทางให้ทำผิดสะดวกขึ้นและทำได้มากขึ้น ถึงไม่ต้องอ้างแบบนี้ เพียงแค่นิ่งเฉยเลยผ่านไม่ช่วยกันทักท้วงก็มีความหมายเท่ากับ “เห็นด้วย” อยู่ในตัวแล้วนั่นเอง
ผู้มีศรัทธานั้นควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง
แต่ผู้มีศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาย่อมควรแก่การอนุโมทนาที่สุด
ขอร้อง+ขอแรงให้ช่วยกันเติมปัญญาให้แก่ผู้มีศรัทธาจงทั่วกันเถิด
๒ กฐินตกค้าง 
การทอดกฐินมีธรรมเนียมต้องจองกฐินก่อน คือแจ้งความจำนงต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาทอด เป็นการประกาศว่าวัดนี้มีคนเป็นเจ้าภาพกฐินแล้ว ใครที่มีศรัทธาจะเป็นเจ้าภาพทอดกฐินไม่ต้องมาทอดซ้ำซ้อนที่วัดนี้ เพราะปีหนึ่งวัดหนึ่งทอดกฐินได้ครั้งเดียว การจองกฐินมักจะทำกันก่อนออกพรรษา คือยังไม่ออกพรรษาก็รู้กันแล้วว่าปีนี้วัดนี้ใครเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน บางทีจองล่วงหน้าเป็นปีๆ ก็มี
แต่มีบางวัด ออกพรรษาแล้วก็ยังไม่มีคนจองกฐิน แบบนี้แหละเข้าข่ายที่เรียกได้ว่า “กฐินตกค้าง” แต่เป็นเพียงเข้าข่ายหรือ “เข้าคิว” เท่านั้น อาจไม่ตกค้างจริง เพราะยังมีเวลาอีกเดือนหนึ่งที่จะมีคนเอากฐินมาทอด
พูดพอให้เห็นภาพขำๆ --
อีก ๑ เดือนหมดเขตกฐิน ยังไม่มีคนจอง = เข้าคิว 
อีกครึ่งเดือนหมดเขตกฐิน ยังไม่มีคนจอง = เข้าขั้น
อีก ๑ สัปดาห์หมดเขตกฐิน ยังไม่มีคนจอง = คับขัน
อีก ๑ วันหมดเขตกฐิน ยังไม่มีคนจอง = ถึงฆาต
แต่กระนั้นก็ยังไม่สิ้นหวัง เพราะอาจมีคนรู้เข้าในวันสุดท้ายแล้วเอากฐินมาทอดได้ทันเวลา
เพราะอย่างนี้ จึงมีกระบวนการของผู้มีศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่างๆ พบวัดที่ยังไม่มีคนจองกฐินก็จะเข้าไปทอดกฐิน ที่เรียกกันว่า “กฐินจร” แล้วเพี้ยนเป็น “กฐินโจร” แล้วก็มีคนแต่งคำอธิบายว่า-จู่โจมเข้าไปทอดกฐินเหมือนโจรมาปล้น-ว่าเข้าไปนั่น
“จุลกฐิน” ก็เกิดมาจากกฐินตกค้าง มารู้เอาในวันสุดท้าย สมัยที่ไตรจีวรไม่มีขายทั่วไปเหมือนสมัยนี้ ต้องทอผ้ากันเอง จึงต้องรีบทำกันอย่างโกลาหลเพื่อให้เสร็จทันในวันนั้น
คำว่า “กฐินตกค้าง” จึงพูดได้ตั้งแต่ออกพรรษาไปแล้ว ยังไม่ออกพรรษาพูดล่วงหน้าไม่ได้ว่า-วัดนี้กฐินตกค้าง
๓ องค์กฐินคือผ้า ไม่ใช่พุ่มเงิน
เวลานี้คนเป็นอันมากเข้าใจไปว่า พุ่มเงินที่จัดขึ้นในการทอดกฐินนั่นคือ “องค์กฐิน” ขอให้เลิกเข้าใจผิดกันเสียที
“องค์กฐิน” คือผ้าที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นผ้าสำหรับกรานกฐินหรือผ้ากฐิน จะเป็นผ้าขาวผืนเดียว หรือจีวรสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่ง หรือจีวรทั้งไตรก็ตาม นั่นแหละคือ “องค์กฐิน”
ถ้าไม่ทักท้วงกันไว้ เข้าใจผิดกันมากขึ้น ผิดจะกลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง-เหมือนคำว่า “กฐินสามัคคี”
“กฐินสามัคคี” คือแย่งกันเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากกฐินมีเจ้าภาพได้รายเดียว แย่งกัน ทะเลาะกัน แต่ในที่สุดเห็นใจกัน ทุกรายรวมตัวรวมใจเป็นรายเดียวกัน อย่างนี้แหละคือ “กฐินสามัคคี”
เวลานี้ไม่มีใครเข้าใจแบบนี้แล้ว แต่พากันเข้าใจว่า จะทอดกฐิน แล้วชักชวนคนนั้นคนนี้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ นี่คือกฐินสามัคคีตามความเข้าใจของคนสมัยนี้ ผิดกลายถูกไปแล้ว
คำว่า “องค์กฐิน” นี่ก็เหมือนกัน อีกไม่นานคนทั้งโลกจะเข้าใจกันว่า เงินที่แต่งเป็นพุ่มแห่แหนไปในขบวนทอดกฐินคือ“องค์กฐิน”
จึงขอทักท้วงไว้ในที่นี้ว่า “องค์กฐิน” คือผ้ากฐิน ไม่ใช่พุ่มเงิน
โปรดช่วยกันแก้ไขผิดให้กลับเป็นถูก
กรุณาอย่าช่วยกันสนับสนุนให้ผิดกลายเป็นถูก
...................................................
คำถามชวนคิด
พระจำพรรษาวัดหนึ่ง ไปรับกฐินอีกวัดหนึ่ง ได้หรือไม่
ถ้าพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปก็รับกฐินได้
พระจำพรรษาวัดหนึ่ง ไปรับกฐินอีกวัดหนึ่ง ก็ควรทำได้ด้วย
ลองช่วยกันคิดดู
...................................................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๘:๕๑
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.