ทองย้อย แสงสินชัย

ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๑๑)
-------------------------
๑๑ กฐินพระรูปเดียว ที่ไปที่มา
เรื่องกฐินพระรูปเดียวที่พูดกันทั่วไปนั้น ผมเข้าใจว่ามาจากบทความของพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต เรื่อง “กฐินพระองค์เดียว” บทความนี้ท่านเขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒
ขอแรงญาติมิตรไปหาอ่านเอาเองนะครับ ช่วยกันหาความรู้เองบ้าง อย่านั่งรอจากผมอยู่ท่าเดียว
ขออนุญาตยกข้อความตอนท้ายมาให้อ่านกันนิดหนึ่ง ดังนี้
.....................................................
เขียนบันทึกมากลายเป็นค่อนข้างยืดยาว คงได้ความสั้นๆ ว่า พระรูปเดียวกรานกฐินได้ เป็นพุทธานุญาตพิเศษ โดยเป็นสังฆกรรมแบบตัดข้ามขั้นตอน ซึ่งสงฆ์ไม่ได้เป็นเจ้าการ แต่สงฆ์เพียงมารับทราบ ดังที่อาจจะเรียกว่า เป็นการกรานกฐินโดยอนุมัติของสงฆ์ (ไม่ใช่กรานกฐินกับผ้าของสงฆ์ที่สงฆ์มอบให้ และไม่เป็นการกรานที่ให้เกิดผลแก่สงฆ์ แต่กรานกับผ้าที่เป็นของตนเองแล้วโดยพุทธานุญาตพิเศษ และได้อานิสงส์ที่เป็นผลเฉพาะตน)
.....................................................
เรื่องกฐินพระรูปเดียวมีต้นเรื่องอยู่ในคัมภีร์จีวรขันธกะ มหาวรรค ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๔ 
ข้อความในพระไตรปิฎกเป็นดังนี้ -
.....................................................
เตน  โข  ปน  สมเยน  อญฺญตโร  ภิกฺขุ  เอโก  วสฺสํ  วสิ  ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว
ตตฺถ  มนุสฺสา  สงฺฆสฺส  เทมาติ  จีวรานิ  อทํสุ  ฯ  
คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์”
อถโข  ตสฺส  ภิกฺขุโน  เอตทโหสิ  ภควตา  ปญฺญตฺตํ  จตุวคฺโค  ปจฺฉิโม  สงฺโฆติ อหญฺจมฺหิ  เอกโก  อิเม  จ  มนุสฺสา  สงฺฆสฺส  เทมาติ  จีวรานิ  อทํสุ  ยนฺนูนาหํ  อิมานิ  สงฺฆิกานิ  จีวรานิ  สาวตฺถึ  หเรยฺยนฺติ  ฯ
จึงภิกษุรูปนั้นได้มีความปริวิตกว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ ๔ รูป เป็นอย่างน้อยชื่อว่าสงฆ์ แต่เรารูปเดียว และคนเหล่านี้ได้ถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์’ ดังนี้ ถ้าไฉนเราจะพึงนำจีวรของสงฆ์เหล่านี้ไปพระนครสาวัตถี”
อถโข  โส  ภิกฺขุ  ตานิ  จีวรานิ  อาทาย  สาวตฺถึ  คนฺตฺวา  ภควโต  เอตมตฺถํ  อาโรเจสิ  ฯ
ครั้นแล้ว ภิกษุรูปนั้นได้นำจีวรเหล่านั้นไปพระนครสาวัตถี กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
ตุยฺเหว  ภิกฺขุ  ตานิ  จีวรานิ  ยาว  กฐินสฺส  อุพฺภารายาติ  ฯ 
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอนั่นแหละ จนถึงเวลาเดาะกฐิน”
อิธ  ปน  ภิกฺขเว  ภิกฺขุ  เอโก  วสฺสํ  วสติ  ฯ  ตตฺถ  มนุสฺสา  สงฺฆสฺส  เทมาติ  จีวรานิ  เทนฺติ  ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในข้อนี้ ภิกษุจำพรรษารูปเดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นถวายจีวรด้วยเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแก่สงฆ์ 
อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ตสฺเสว  ตานิ  จีวรานิ  ยาว  กฐินสฺส  อุพฺภารายาติ  ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียว จนถึงเวลาเดาะกฐิน
ที่มา: จีวรขันธกะ มหาวรรค ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๖๔ 
.....................................................
อรรถกถาอธิบายความพุทธวินิจฉัยที่ยกมาข้างต้นนั้นว่า 
.....................................................
ตสฺเสว  ตานิ  จีวรานิ  ยาว  กฐินสฺส  อุพฺภารายาติ  สเจ  คณปูรเก  ภิกฺขู  ลภิตฺวา  กฐินํ  อตฺถตํ  โหติ  ปญฺจ  มาเส  โน  เจ  อตฺถตํ  โหติ  เอกํ  จีวรมาสเมว  ฯ
คำว่า  ตสฺเสว  ตานิ  จีวรานิ  ยาว  กฐินสฺส  อุพฺภาราย (จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอนั่นแหละ จนถึงเวลาเดาะกฐิน) หมายความว่า หากได้ภิกษุครบคณะ กฐินเป็นอันกรานแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอด ๕ เดือน ถ้าไม่ได้กรานกฐิน จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอตลอดจีวรมาสเดือนเดียวเท่านั้น
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๔๐
.....................................................
สรุปความ:
๑ ภิกษุจำพรรษาอยู่รูปเดียว
๒ มีคนถวายจีวร แต่ถวายเป็นของสงฆ์
๓ ภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะทำอย่างไร 
๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า จีวรเป็นของภิกษุนั้นจนถึงเวลาเดาะกฐิน
๕ อรรถกถาอธิบายว่า: 
- ถ้าภิกษุนั้นหาภิกษุมาเป็นสงฆ์ได้ครบคณะ ให้สงฆ์รับทราบ จีวรตกเป็นของภิกษุนั้น ๕ เดือน คือตั้งแต่ออกพรรษาไปจนถึงกลางเดือน ๔ เหมือนได้กรานกฐิน ความหมายก็คือภิกษุนั้นใช้สอยจีวรนั้นได้เหมือนเป็นของตัวเอง (เพราะเดิมเขาถวายเป็นของสงฆ์ จะเอามาใช้สอยทันทีไม่ได้ ต้องให้สงฆ์อนุมัติก่อน)
- ถ้าหาภิกษุมาเป็นสงฆ์ไม่ได้ ภิกษุนั้นก็ใช้สอยจีวรนั้นได้แค่เดือนเดียว คือตั้งแต่ออกพรรษาไปจนถึง “เวลาเดาะกฐิน”
คำอธิบายของอรรถกถาที่ว่า “กฐินํ  อตฺถตํ  โหติ” แปลว่า “กฐินเป็นอันกรานแล้ว” ตรงนี้แหละเป็นเหตุให้เข้าใจว่า นี่คือการกรานกฐิน และนำไปสู่การพูดกันว่า ภิกษุรูปเดียวก็รับกฐินได้
.......................
มีคำที่ควรทราบเป็นความรู้ คือคำว่า “เดาะกฐิน”
“เดาะกฐิน” แปลมาจากคำบาลีว่า กฐินสฺส  อุพฺภาราย (ดูข้างต้น)
คำเดิมคือ กฐิน + อุพฺภาร = กฐินุพฺภาร (อ่านว่า กะ-ถิ-นุบ-พา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “การรื้อไม้สะดึงออก” คำเก่าท่านเรียกว่า “การเดาะกฐิน” หมายถึง การเลิกล้มพิธีกรานกฐินเพราะทำเสร็จแล้ว หรือเพราะไม่สามารถทำให้เสร็จได้ หรือเพราะเลิกใช้แล้ว คือหมดเวลาทำจีวร
ตรงนี้ก็ไปเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนจีวรในรอบปี ทบทวนกันอีกหน่อย
ในรอบปีหนึ่ง มีพุทธานุญาตให้ภิกษุผลัดเปลี่ยนจีวรได้ครั้งหนึ่ง เรียกว่า “จีวรกาล” แปลว่า “เวลาแห่งจีวร” หมายถึง คราวที่จะแสวงหาจีวรมาผลัดเปลี่ยน
จีวรกาลตามที่กำหนดไว้คือ นับตั้งแต่วันออกพรรษาไปจนถึงกลางเดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน คำบาลีเรียกว่า “จีวรมาส” แปลว่า เดือนแห่งการทำจีวร
นี่ก็คือช่วงเวลาที่เรารู้กันทั่วไปในบัดนี้ว่าเป็นเวลาที่กำหนดให้ทอดกฐินนั่นเอง
.....................................................
เพื่อให้มองภาพได้ตรงกัน ขอย้ำว่า “ทอดกฐิน-รับกฐิน” ตามความหมายที่แท้จริงตามพุทธานุญาตก็คือ มีผู้ถวายผ้าให้แก่ภิกษุที่อยู่จำพรรษาร่วมกันเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนจึวรตามที่กล่าวข้างต้น แต่ผ้านั้นไม่ทั่วถึงแก่ภิกษุทุกรูป จึงมีพุทธานุญาตให้หมู่ภิกษุพร้อมใจกันยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่อยู่ร่วมกันมาตลอดพรรษาสามเดือนนั้นเพื่อให้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มผืนใดผืนหนึ่ง (จีวร สบง สังฆาฏิ) โดยภิกษุทุกรูปต้องช่วยภิกษุรูปนั้นทำด้วยเพื่อแสดงออกถึงความสามัคคี เมื่อทำเสร็จแล้วก็ให้พร้อมใจกันอนุโมทนา - นี่คือภาพการทอดกฐิน-รับกฐินที่แท้จริง
.....................................................
ในระหว่าง ๑ เดือนหลังจากออกพรรษา ถ้าไม่ได้รับกฐิน พอครบกำหนดก็เป็นอันว่าหมดเวลาที่มีพุทธานุญาตให้หาผ้ามาเปลี่ยนจีวร นี่คือ “เดาะกฐิน”
แต่ถ้าได้รับกฐิน (จะได้รับในวันใดก็ตามภายใน ๑ เดือนนี้) พอครบกำหนด ๑ เดือนแล้ว ก็มีสิทธิ์ยืดเวลา “จีวรกาล” ออกไปอีก ๔ เดือน คือไปหมดเขตในกลางเดือน ๔
สรุปว่า “จีวรกาล” มี ๒ เงื่อนไข :
๑ ถ้าไม่ได้รับกฐิน จีวรกาลมีเพียง ๑ เดือนนับจากวันออกพรรษา
๒ ถ้าได้รับกฐิน จีวรกาลมี ๕ เดือนนับจากวันออกพรรษา
พูดอีกอย่างหนึ่ง -
๑ ถ้าไม่ได้รับกฐิน มีเวลาทำจีวรเปลี่ยนชุดเดิมเพียง ๑ เดือนนับจากวันออกพรรษา
๒ ถ้าได้รับกฐิน มีเวลาทำจีวรเปลี่ยนชุดเดิม ๕ เดือนนับจากวันออกพรรษา
หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง -
๑ ถ้าไม่ได้รับกฐิน เวลาที่เดาะกฐิน (คือหมดเวลาทำจีวร) คือ ๑ เดือนนับจากวันออกพรรษา
๒ ถ้าได้รับกฐิน เวลาที่เดาะกฐินคือ ๕ เดือนนับจากวันออกพรรษา
นี่คือความหมายของคำว่า “จนถึงเวลาเดาะกฐิน”
ตอนหน้าจะเป็นข้อสังเกตของผม
-----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๙:๒๗
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.