"สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย"

(ธรรมทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น) ... คำแปลที่กำกวม คลุมเครือ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย...


คำแปลที่ถูก ควรแปลว่า "ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นโลกียสังขารธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจแห่ง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ" 


พระโยคีบุคคลปล่อย สละ สังขารธรรม (รูป-นาม ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) โดยการตามเห็น (อนุปัสสนา ๓ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น) แล้วยึดเอาวิสังขารธรรม (คือนิพพาน) เป็นอารมณ์ได้ในกาลใด (ด้วยอำนาจโคตรภูญาณ-มรรคญาณ-ผลญาณ), กาลนั้น ชื่อว่า "ไม่ยึดมั่นในสังขารธรรม ด้วยอำนาจแห่งตัณหา มานะ ทิฏฐิ"  


      วิปัสสนาญาณ นับแต่ ภังคญาณเป็นต้นมา จนถึงอนุโลมญาณ แม้ละอารัมมณานุสัยโดยตทังคปหาณได้ตามลำดับ แต่ก็ยังมีอารมณ์คือไตรลักษณ์ อันเนื่องด้วยสังขารธรรม รูป-นามอยู่, ต่อเมื่อ โคตรภูญาณเกิดขึ้นในมรรควิถี, "โคตรภูจิต" คือ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ได้สละอารมณ์คือไตรลักษณ์แห่งสังขารธรรม (รูป-นาม) ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนโดยอนุปัสสนา ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง และเป็นนิมิตของวิโมกข์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาวิโมกข์ ๓ คือ สุญญตวิโมกข์, อนิมิตตวิโมกข์, อัปปณิหิตวิโมกข์ แล้วยึดเอาวิสังขารธรรม คือนิพพาน เป็นอารมณ์...เมื่อโคตรภูญาณดับลง...ต่อแต่นั้นมรรคญาณได้เกิดขึ้น ทำกิจ ๔ อย่างในอริยสัจจ์ ถอนอัตตานุทิฏฐิ, ถอนตัณหาและมานะ (อยาถาวมานะ คือ มานะที่ถือตัวโดยไม่มีความเป็นจริง) อย่างหยาบที่นำไปสู่อบายได้แล้ว และเมื่อมรรคญาณดับลง ผลญาณเกิดขึ้นต่อไป... ในกาลนั้น พระโยคีบุคคล (กล่าวตามปุคคลาธิษฐาน) นั้น ได้ชื่อว่า "ไม่ยึดมั่นในสังขารธรรม ด้วยอำนาจแห่งตัณหา มานะ ทิฏฐิ" (ตามสมควรแก่โสดามรรค คือ ทิฏฐิ ถูกละได้เด็ดขาด ส่วนตัณหาและมานะ ที่ละเอียด ยังมีอยู่), 

      (ตามความจริงนั้น สภาพธรรมที่ไม่ยึดถือในสังขารธรรมรูปนาม คือไม่มีสังขารธรรมรูปนามเป็นอารมณ์นั้นได้แก่ มหากุศล-มหากริยาญาณสัมปยุตตจิต ขณะมีนิพพานเป็นอารมณ์, และมรรคจิต-ผลจิต, มโนทวาราวัชชนจิต, อภิญญาจิต ๒ ของพระอริยบุคคล ขณะมีนิพพานเป็นอารมณ์) 


      เมื่อพระโยคาวจรนั้น เจริญวิปัสสนาจนทำอรหัตตมรรคญาณ-อรหัตตผลญาณ ให้เกิดขึ้นได้แล้ว...เมื่อนั้น "ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจตัณหา มานะที่เหลือ" เป็นอันละได้หมดสิ้นสมบูรณ์. (แต่การยึดถือสังขารธรรม รูป-นาม ตามบัญญัติโวหารของชาวโลก ยังมีอยู่แก่พระอรหันต์ทั่วไป)


      สรุปว่า "ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ต้องมุ่งหมายว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา,มานะ,ทิฏฐิ" แต่การยึดถือตามโวหารบัญญัติของชาวโลก ด้วยอำนาจจิตอื่น ๆ ที่นอกจากอกุศลจิต ยังมีแก่กริยาจิตของพระอรหันต์ เช่น การยึดถือตามชื่อ,บุคคล,สถานที่...หรือยึดถือเพศสภาพ หญิง-ชาย...ยังมีอยู่ เช่น พระพุทธเจ้า ก็ยังถือว่า พระมารดาสิ้นพระชนม์แล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ก็ทรงตามเสด็จไปโปรด...หรือยังถือว่าพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชบิดา ต้องเสด็จไปโปรด...พระอรหันต์ท่านอื่นๆ เช่น พระสารีบุตร ก็ยึดอยู่ว่า นางสารี เป็นมารดา...ต้องไปโปรดก่อนท่านจะปรินิพพาน...หรือการยึดถือเพศสภาพ เช่น หญิงจะบวชเป็นภิกษุณี ต้องมีองค์คุณอย่างนั้นอย่างนี้...มีศึลและข้อวัตรปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้...นี่ก็เป็นการยึดถือเพศสภาพ ซึ่งแตกต่างจากภิกษุ... 


      ว่าโดยจิต กริยาจิตของพระอรหันต์ ที่เป็นกามาวจร สามารถรับอารมณ์ที่เป็นบัญญัติได้, นอกจากนี้ กริยาจิตที่เป็นรูปาวจร ก็มีบัญญัติเกี่ยวกับกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์, กริยาจิตที่เป็นอรูปาวจร (อากาสานัญจายตนะ, อากิญจัญญายตนะ) ก็รับบัญญัติกรรมฐานเป็นอารมณ์ ได้...


       การยึดถือบัญญัติโวหารชาวโลก ทั้งสัตว์ บุคคล สถานที่ เพศสภาพ...ของพระอรหันต์นั้น เป็นไปตามธรรมดาของจิต ที่เป็นกริยา ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจของตัณหา,มานะ,ทิฏฐิ...เหมือนอย่างที่ปุถุชนทั่วไปยึดถือกัน...


      สำหรับปุถุชนทั่วไป ย่อมมีความยึดถือด้วยอำนาจของตัณหา,มานะ,ทิฏฐิ และยึดถือตามโวหารของชาวโลกทั้ง ๒ อย่าง, ส่วนผลเสกขบุคคล ๓ ย่อมมีความยึดถือด้วยอำนาจของตัณหา,มานะที่ละเอียดที่ตนยังละไม่ได้... ตามสมควร...ฯ 


ฉะนั้น...


"ธรรมทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" (สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย) ที่กล่าวกันทั่วไป...มักคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ส่อไปในทางที่ไม่ถูกต้อง มีลักษณะปล่อยปละละวางทุกอย่าง...ลามไปถึงโลกียกุศล อันเป็นบาทเบื้องต้นของฌาน อภิญญา มรรค ผล ด้วย... บางคนบางท่าน ก็พูดเลยเถิดไปว่า "ให้ละ ไม่ให้ยึดถือ" จนถึงบางครั้งมีคำพูดว่า "ชั่วกับดี อัปรีย์เท่ากัน" ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้พูดและผู้ฟัง ขาดหลักปริยัติ และไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนาเลย...สักแต่ว่าพูด ๆ กันไปตามคำกล่าวของอาจารย์บางคนบางท่านเท่านั้น...ฯ

(บุคคลจะละกุศลธรรมได้ ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นบรรลุเป็นอรหัตตผล เป็นพระอรหันตบุคคลเท่านั้น,  เมื่อนั้น กุศลทั้งมวล ทั้งที่เป็นกามาวจรกุศล,รูปาวจรกุศล,อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศลคือมรรคจิต เป็นอันละได้หมด (คือมรรคจิตที่เป็นกุศลธรรม ก็จะไม่เกิดกับพระอรหันต์อีกเลย) ส่วนโลกียกุศล หากจะเกิดคราวใด คราวนั้นก็จะถูกเรียกว่า "กริยาจิต" ทันที)   

---------///---------





[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.