ทองย้อย แสงสินชัย

ฉลาดกันเสียทีเรื่องกฐิน (๘)
-------------------------
๘ คุณสมบัติของพระที่รับกฐินได้
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ พระที่จะรับกฐินได้ต้องมีคุณสมบัติเช่นไร
ในกฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค ภาค ๒ พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ มีพระบาลีอันเป็นพระพุทธานุญาตต้นเดิมว่า
.....................................................
อนุชานามิ  ภิกฺขเว  วสฺสํ  วุตฺถานํ  ภิกฺขูนํ  กฐินํ  อตฺถริตุํ. ... เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  กฐินํ  อตฺถริตพฺพํ ...
แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ ...
.....................................................
พระบาลีตรงนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความไว้ ขอยกมาพร้อมทั้งคำแปลประโยคต่อประโยค ดังนี้
.....................................................
เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  กฐินํ  อตฺถริตพฺพนฺติ  เอตฺถ  
วินิจฉัยในคำว่า  เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  กฐินํ  อตฺถริตพฺพํ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้) นี้ พึงทราบดังนี้ :-
กฐินตฺถารํ  เก  ลภนฺติ  เก  น  ลภนฺตีติ  ฯ
ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้?
คณนวเสน  ตาว  
ตอบว่า ว่าด้วยจำนวนก่อน 
ปจฺฉิมโกฏิยา  ปญฺจ  ชนา  ลภนฺติ  
ภิกษุห้ารูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กรานกฐิน (รับกฐินได้)
อุทฺธํ  สตสหสฺสมฺปิ  ฯ
อย่างสูง แม้ตั้งแสนก็ได้
ปญฺจนฺนํ  เหฏฺฐา  น  ลภนฺติ  ฯ
หย่อนห้ารูป ไม่ได้
วุตฺถวสฺสวเสน  
ว่าด้วยภิกษุผู้จำพรรษา 
ปุริมิกาย  วสฺสํ  อุปคนฺตฺวา  ปฐมปวารณาย  ปวาริตา  ลภนฺติ  
ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว รับกฐินได้
ฉินฺนวสฺสา  วา  ปจฺฉิมิกาย  อุปคตา  วา  น  ลภนฺติ  
ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง รับกฐินไม่ได้
อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ  น  ลภนฺตีติ  มหาปจฺจริยํ  วุตฺตํ  ฯ
แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. คัมภีร์มหาปัจจรีอธิบายไว้ดังว่ามานี้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๐
.....................................................
สรุปความไว้ทีหนึ่งก่อนว่า -
๑ พระที่จะรับกฐินได้ต้องอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว (รับกฐินกลางพรรษาไม่ได้)
๒ ระหว่าง ๓ เดือนนั้นต้องไม่ขาดพรรษา
.....................................................
“ขาดพรรษา” คืออย่างไร?
ในช่วงเวลาเข้าพรรษา ๓ เดือน กฎข้อหนึ่งสำหรับพระภิกษุก็คือ จะต้องอยู่ภายในเขตวัดที่จำพรรษาจนกว่าอรุณจะขึ้นทุกวัน 
ถ้าไปทำกิจอย่างอื่นนอกเขตวัดจนมืดค่ำ ต้องกลับเข้าวัดภายในเวลาที่อรุณยังไม่ขึ้น เรียกเป็นคำวัดว่ามา “รับอรุณ” ในเขตวัด 
เมื่ออยู่ในเขตวัดตลอดคืนแล้ว ถ้าจะออกจากวัด ต้องให้อรุณขึ้นก่อนจึงออกจากวัดได้ เรียกเป็นคำวัดว่า “ได้อรุณ” 
ถ้าไปอยู่นอกเขตวัดที่จำพรรษากลับเข้ามาไม่ทันอรุณขึ้น หรือออกจากเขตจำพรรษาก่อนอรุณขึ้น นั่นคือ “พรรษาขาด” หรือ “ขาดพรรษา” เป็นเหตุให้เสียสิทธิ์ในประโยชน์บางอย่างทางพระวินัย เช่น ไม่ได้รับอานิสงส์จากการจำพรรษา และไม่มีสิทธิ์รับกฐินเป็นต้น
.....................................................
๓ ต้องเข้าพรรษาต้นจึงจะรับกฐินได้ เข้าพรรษาหลัง รับกฐินไม่ได้
.....................................................
เข้าพรรษาต้น เข้าพรรษาหลัง คืออย่างไร?
คือ การเข้าพรรษาของภิกษุสงฆ์นั้นท่านกำหนดไว้ ๒ ระยะ คือ เข้าพรรษาต้น เรียกว่า ปุริมพรรษา และเข้าพรรษาหลัง เรียกว่า ปัจฉิมพรรษา
เข้าพรรษาต้น กำหนดตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ นี่ก็คือการเข้าพรรษาที่พระสงฆ์ท่านปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปทุกปี และที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไปนั่นเอง
เข้าพรรษาหลัง กำหนดตั้งแต่แรมค่ำ ๑ เดือน ๙ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก็คือล่าออกไปอีก ๑ เดือน เป็นกรณีที่ภิกษุบางรูปมีเหตุขัดข้องบางประการ เช่นมาไม่ทันเข้าพรรษาต้น หรือเพิ่งบวชหลังจากเข้าพรรษาต้นไปแล้ว จึงต้องเลื่อนไปเข้าพรรษาหลัง
กรณีเข้าพรรษาหลังนี้ไม่ค่อยปรากฏบ่อยนัก คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้ แต่เป็นกรณีที่มีได้ และสามารถทำได้ตามวินัยบัญญัติ
ในพระวินัยมีข้อกำหนดว่า พระที่เข้าพรรษาหลังนั้นไม่มีสิทธิ์รับกฐิน แต่อาจเข้าร่วมสังฆกรรมกฐินได้ในบางกรณี*
.....................................................
๔ จำนวนพระที่จะรับกฐินได้ อย่างต่ำต้อง ๕ รูป นี่เป็นเรื่องที่รับรู้และปฏิบัติกันทั่วไปอยู่แล้ว
๕ วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึงห้ารูป จะไปนิมนต์พระวัดอื่นมาให้ครบห้ารูปเพื่อรับกฐิน ไม่ได้ 
ข้อนี้ กล่าวตามคำอธิบายของอรรถกถา ขอยกมายืนยันอีกครั้งหนึ่ง -
.....................................................
ปุริมิกาย  วสฺสํ  อุปคนฺตฺวา  ปฐมปวารณาย  ปวาริตา  ลภนฺติ  
ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว รับกฐินได้
ฉินฺนวสฺสา  วา  ปจฺฉิมิกาย  อุปคตา  วา  น  ลภนฺติ  
ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง รับกฐินไม่ได้
อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ  น  ลภนฺตีติ  มหาปจฺจริยํ  วุตฺตํ  ฯ
แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้. คัมภีร์มหาปัจจรีอธิบายไว้ดังว่ามานี้
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๐
.....................................................
และข้อนี้ ใครจะเถียง จะค้าน จะโต้แย้ง เชิญไปโต้แย้งกับอรรถกถา กรุณาอย่ามาโต้แย้งกับทองย้อย เพราะทองย้อยเป็นเพียงผู้ศึกษา และเสนอผลการศึกษาตามความเข้าใจของตนเท่านั้น 
ท่านผู้อื่นย่อมมีสิทธิ์ศึกษาและเข้าใจเป็นอย่างอื่นๆ ได้อีกตามแต่สติปัญญาของแต่ละท่าน
อนึ่ง คัมภีร์ที่อธิบายพระวินัยปิฎกไม่ใช่มีแต่สมันตปาสาทิกาคัมภีร์เดียว ยังมีคัมภีร์อื่นอีก คือ คัมภีร์กังขาวิตรณี คัมภีร์วิมติวิโนทนี คัมภีร์สารัตถทีปนี คัมภีร์วชิรพุทธิ เป็นต้น และอาจมีคัมภีร์ที่ผมไม่รู้จักอีก
ผมอ้างเฉพาะคัมภีร์สมันตปาสาทิกาคัมภีร์เดียว ไม่ได้อ้างคัมภีร์อื่นเพราะยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาสืบค้น นักเรียนบาลีท่านใดมีเวลามีโอกาส ก็ช่วยกันมั่งสิขอรับ อาจจะเจอข้อเยื้องแย้งเป็นอย่างอื่นในคัมภีร์อื่นอีกก็ได้ จะได้ช่วยกันปรับแก้ความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน
ทำไมจะต้องปล่อยให้ทองย้อยงมอยู่คนเดียว?
.....................................................
ผมอายุจวนจะ ๘๐ แล้ว ผมเหนื่อยเป็น ง่วงเป็น ป่วยเป็น
.....................................................
อันที่จริงผมไม่อยากพูดถ้อยคำแบบนี้ ผมยังมีแรงทำงานบาลีอยู่เสมอไม่ว่าจะอายุเท่าไร ไม่เคยอุทธรณ์ แต่ผมอยากพูดให้กระทบใจนักเรียนบาลี โดยเฉพาะนักเรียนบาลีหนุ่มๆ ที่เรียนจบแล้วไม่ทำงานค้นคว้าคัมภีร์ แต่ไปเพลิดเพลินงานอื่นกันหมด
งานอื่น คนที่สามารถทำได้มีมากพอแล้ว แต่งานศึกษาค้นคว้าคัมภีร์เป็นงานโดยตรงของนักเรียนบาลี เป็นงานสืบอายุพระศาสนา เป็นงานแก้ปัญหาคาใจสังคม แต่เป็นงานที่แทบจะไม่มีคนทำ
ก็ต้องถามคำเดิม-ทำไมจะต้องปล่อยให้ทองย้อยงมอยู่คนเดียว?
-----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๘:๓๓

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.