ทองย้อย แสงสินชัย อยู่กับ ราเชนทร์ ศิวะเสาร์แก้ว

#บาลีวันละคำ (4,334)


นานาสัตถุอุลโลกนภัย

ภัยลึกลับน่ารู้ที่มา

อ่านว่า นา-นา-สัด-ถุ-อุน-โล-กะ-นะ-ไพ

ประกอบด้วยคำว่า นานา + สัตถุ + อุลโลกน + ภัย

(๑) “นานา” 

อ่านตรงตัวเหมือนภาษาไทยว่า นา-นา เป็นคำจำพวก “นิบาต” ลักษณะเฉพาะของนิบาตคือ คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย 

“นานา” แปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) หมายถึง ต่าง ๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley; variously, differently, all kinds of)

คำไข :

“นานา” มีความหมายว่าอย่างไร คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 521 ไขความไว้ว่า “นานา” มีความหมายเท่ากับ วิวิธํ, อญฺโญญฺญํ, ปุถุ, น เอกํ 

(1) วิวิธํ (วิ-วิ-ทัง) = หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed) 

(2) อญฺโญญฺญํ (อัน-โยน-ยัง) = แปลตามตัวว่า “อื่นและอื่น” หมายถึง ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally) 

(3) ปุถุ (ปุ-ถุ) = มากมาย, หลายอย่าง, ต่าง ๆ (numerous, various, several, more, many, most) 

(4) น เอกํ (นะ เอ-กัง) = แปลตามตัวว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” หมายถึง มาก, ต่าง ๆ กัน; นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (“not one”, many, various; countless, numberless) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“นานา : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ. (ป.).”

(๒) “สัตถุ”

เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺถุ” อ่านว่า สัด-ถุ รากศัพท์มาจาก - 

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สาสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ (รตฺถุ > ตฺถุ) 

: สาสฺ + รตฺถุ = สาสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สั่งสอนเวไนยตามความเหมาะสมด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต และประโยชน์สูงสุด” (2) “ผู้สั่งสอนแนะนำสัตวโลก”

(2) สชฺ (ธาตุ = สละ, ปล่อย) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (สชฺ > ส) และลบ ร ที่ รตฺถุ 

: สชฺ + รตฺถุ = สชรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สละกิเลส” 

(3) สิจฺ (ธาตุ = ชำระ, ราด, รด) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สิจฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ 

: สิจฺ + รตฺถุ = สิจรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ชำระกิเลสด้วยน้ำคือคำสอน” 

(4) สุสฺ (ธาตุ = เหือดแห้ง) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สุสฺ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ 

: สุสฺ + รตฺถุ = สุสรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังเปือกตมคือคมกิเลสให้เหือดแห้งไป” 

(5) สสุ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รตฺถุ ปัจจัย, แปลง สสุ เป็น ส, ลบ ร ที่ รตฺถุ 

: สสุ + รตฺถุ = สสุรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนกิเลส” 

(6) สมฺ (ธาตุ = สงบ) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (สมฺ > ส) และลบ ร ที่ รตฺถุ 

: สมฺ + รตฺถุ = สมรตฺถุ > สรตฺถุ > สตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังกิเลสให้สงบระงับ” 

“สตฺถุ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ครู, ศาสดา (teacher, master) ในคัมภีร์ ถ้าไม่มีคำระบุเป็นอย่างอื่น หมายถึงพระพุทธเจ้า

“สตฺถุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สตฺถา” แปลว่า “อันว่าพระศาสดา” เป็นคำที่นักเรียนบาลีคุ้นที่สุด

ในที่นี้คงรูปเป็น “สตฺถุ” เขียนแบบไทยเป็น “สัตถุ”

(๓) “อุลโลกน” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อุลฺโลกน” (มีจุดใต้ ลฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อุน-โล-กะ-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก), + โลกฺ (ธาตุ = มอง, เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน ลฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ลฺ + โลกฺ)

: อุ + ลฺ + โลกฺ = อุลฺโลกฺ + ยุ > อน = อุลฺโลกน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็นขึ้น” “การมองขึ้นไป” หมายถึง มองดู, มองหา, เฝ้าคอย (looking on to, looking for, awaiting)

คำไข :

คำที่ตรงกันข้ามกับ “อุลฺโลกน” คือ “โอโลกน” แปลว่า “การมองลง” อาจแยกความแตกต่างเพื่อให้เห็นชัดได้ดังนี้ -

“โอโลกน” = มองลง คือมองดูสิ่งที่อยู่ต่ำกว่าผู้มอง

“อุลฺโลกน” = มองขึ้น คือมองหาสิ่งที่อยู่สูงกว่าผู้มอง

(๔) “ภัย” 

บาลีเป็น “ภย” อ่านว่า พะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี (ที่ ภี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)

บาลี “ภย” สันสกฤตก็เป็น “ภย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ - 

“ภย : (คำวิเศษณ์) อันน่ากลัว; frightful; dreadful. - (คำนาม) ‘ภย. ภัย,’ ความกลัว; อันตราย; fear; danger or peril.”

“ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”

ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous) 

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous 

การประสมคำ :

๑ นานา + สตฺถุ = นานาสตฺถุ (นา-นา-สัด-ถุ) แปลว่า “ศาสดาต่าง ๆ” หมายถึง เจ้าลัทธิต่าง ๆ เทพต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนนับถือเลื่อมใสว่าศักดิ์สิทธิ์

๒ นานาสตฺถุ + อุลฺโลกน = นานาสตฺถุอุลฺโลกน (นา-นา-สัด-ถุ-อุน-โล-กะ-นะ) แปลว่า “การมองหาศาสดาต่าง ๆ” หมายถึง การเสาะแสวงหาเจ้าลัทธิต่าง ๆ เทพต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่ตนควรจะนับถือเลื่อมใสว่า นับถืออย่างนี้แล้วเปลี่ยนไปนับถืออย่างอื่น มองหาผู้ศักดิ์สิทธิ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ใครบอกว่าที่ไหนศักดิ์สิทธิ์ก็เฮโลตามเข้าไป ไม่มียุติแน่นอนว่าจะนับถือเลื่อมใส่ใครหรืออะไรอย่างไหนกันแน่

๓ นานาสตฺถุอุลฺโลกน + ภย = นานาสตฺถุอุลฺโลกนภย (นา-นา-สัด-ถุ-อุน-โล-กะ-นะ-พะ-ยะ) แปลว่า “ภัยอันเกิดแต่การมองหาศาสดาต่าง ๆ” หมายถึง ข้อเสียหาย หรือโทษที่เกิดจากการมองหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวมานั้น

“นานาสตฺถุอุลฺโลกนภย” เขียนแบบไทยเป็น “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” (นา-นา-สัด-ถุ-อุน-โล-กะ-นะ-ไพ) 

ขยายความ :

ความหมายของ “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” กล่าวชี้เฉพาะให้เห็นชัด ๆ ก็อย่างเช่น -

นับถือศาสนาพุทธอยู่พักหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปนับถือคริสต์

นับถือศาสนาคริสต์อยู่พักหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปนับถืออิสลาม

นับถือศาสนาอิสลามอยู่พักหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปนับถือพราหมณ์ฮินดู

นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูอยู่พักหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปนับถือเต๋า

นับถือลิทธิเต๋าอยู่พักหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปนับถือลัทธิชินโต

และคอยมองหาลัทธิศาสนาอื่น ๆ ที่จะเปลี่ยนไปนับถือใหม่อยู่ตลอดเวลา นี่คือลักษณะอย่างหนึ่งของ “นานาสัตถุอุลโลกน-”

การที่เปลี่ยนลัทธิศาสนาเรื่อยไปเช่นนี้ ผู้รู้ท่านมองเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย เป็นโทษ เป็นภัย กล่าวคือ เป็นการนับถือแบบสับสนปนเป ไม่มีหลักอะไรที่ชัดเจนแน่นอน ในที่สุดก็จะไม่ได้ประโยชน์จากคำสอนที่แน่นอนของลัทธิศาสนาไหน ๆ ทั้งสิ้น เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” 

หมายเหตุ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นคำว่า “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” จากโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง รู้สึกว่าเป็นคำแปลกดี ค้นดูในคัมภีร์บาลีเท่าที่มีอยู่ ก็ไม่พบศัพท์นี้

ลองสืบค้นดูจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เท่าที่จะค้นได้ ก็พบว่า มีกล่าวถึง “ภัย” ในชุดนี้ว่ามี 4 อย่าง คือ 1. นานาสัตถุอุลโลกนภัย 2. วินิปาตภัย 3. อปายภัย 4. ทุจริตภัย

แต่ทุกแห่งที่กล่าวถึงภัย 4 อย่างนี้ ไม่ได้บอกที่มา หรือบอกก็ไม่ชัดเจน ตามไปดูไม่ได้ว่าต้นฉบับอยู่ที่ไหน แต่มีร่องรอยว่ามีกล่าวไว้ในหนังสือของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) ซึ่งรจนาหนังสือภาษาไทยว่าด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้หลายเรื่อง บางเรื่องได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียง เช่นเรื่อง ภูมิวิลาสินี เป็นต้น

แต่ที่ยกคำว่า “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” มาอ้าง ทุกแห่งไม่ได้บอกว่าเอามาจากหนังสือเล่มไหน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ผู้คนสมัยนี้นิยมประพฤติกัน ทำนองเดียวกับยกกาพย์กลอนมาอ้าง แต่ไม่บอกว่าเอามาจากเรื่องอะไรหรือใครแต่ง ประพฤติแบบนี้ทั่วไปหมด

แต่ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าน่ากลัวที่สุดก็คือ ความประพฤติเช่นว่านี้ (ยกถ้อยคำมาอ้าง แต่ไม่บอกว่าเอามาจากหนังสืออะไรของใคร ยกกลอนมาอ้าง แต่ไม่บอกว่าใครแต่ง ฯลฯ) ไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย ทำแบบนี้กันทั่วไป ซ้ำอ้างว่าที่ไหน ๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า นี่เป็น “ภัย” อีกอย่างหนึ่ง และไม่ใช่ภัยธรรมดา แต่ควรจะเรียกว่า “มหาภัย” ถ้าคนในชาติเรามีนิสัยอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ และอ้างอย่างนี้กันมาก ๆ ไทยก็จะกลายเป็นชาติที่มักง่ายที่สุดในโลก เป็นการช่วยกันทำลายเกียรติภูมิของแผ่นดินถิ่นเกิดอย่างน่าอดสูที่สุด

จึงขอร้อง-ร้องขอมายังนักอ้างหรือนักลอกทั้งหลาย นอกจากขยันลอกแล้ว ขอให้เพิ่มความขยันขึ้นอีกสักอย่างหนึ่ง คือขยันสืบค้นที่มาของคำ ของความ หรือของกลอนที่ลอกมานั้น แล้วบอกที่มาหรือบอกชื่อคนเขียนคนแต่งกำกับไว้ด้วย ก็จะเป็นการช่วยกันรักษาสมบัติวัฒนธรรมอันดีงามของชาติเราไว้ได้อีกทางหนึ่ง

แถม :

ผู้เขียนบาลีวันละคำสืบค้นเบื้องต้น พบว่า คำว่า “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” ปรากฏอยู่ในสารบัญหนังสือเรื่อง “กรรมทีปนี” ของพระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) พบแต่สารบัญของหนังสือ แต่ไม่มีหนังสือฉบับเต็ม พยายามหาตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็พบแต่ในเว็บขายหนังสือ ไม่พบที่เป็นอีบุ๊กหรือไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาอ่านได้ เป็นอันจนปัญญาที่จะรู้ได้ว่า ข้อความที่มีคำว่า “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” นั้น ท่านอธิบายความไว้อย่างไร 

ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำอยากรู้เป็นพิเศษก็คือ คำว่า “นานาสัตถุอุลโลกนภัย” ท่านยกมาจากคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งอีกทีหนึ่ง หรือว่าเป็นคำที่ท่านคิดขึ้นเอง เนื่องจากค้นดูในคัมภีร์บาลีเท่าที่มีอยู่แล้วไม่พบศัพท์นี้

ท่านผู้ใดพบเว็บไซต์ที่มีไฟล์ PDF ของหนังสือ “กรรมทีปนี” ถ้าจะกรุณานำลิงก์มาแปะไว้ให้ หรือส่งไฟล์ให้ทางช่องทางที่สะดวก ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

..............

ดูก่อนภราดา!

: มหาภัยที่น่ากลัว

: คือเห็นว่าการทำชั่วไม่ใช่เรื่องเสียหาย


[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,นานาสัตถุอุลโลกนภัย

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.