ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๕)-จบ

-----------------------

หมายความอย่างไร

.........................................................

“ต้องอาบัติปาราชิก ต้องทำพิธีลาสิกขาก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ”

เราควรได้ข้อคิดเตือนใจอะไรบ้างจากความเข้าใจเช่นนี้?

.........................................................

ในตัวบทบัญญัติของปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบท บอกไว้แต่เพียงว่า เมื่อทำผิดครบองค์ประกอบก็เป็นปาราชิก (ปาราชิโก) และขาดจากความเป็นพระ (อสฺสมโณ) ไปแล้ว ไม่ได้มีเงื่อนไขว่า ต้องทำพิธีลาสิกขาก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ 

แต่ในคัมภีร์อธิบายความมีเงื่อนไขที่บอกว่า ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับว่าต้องอาบัติปาราชิก ตราบนั้นก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

น่าคิดว่า ทำไมจึงมีเงื่อนไขแบบนี้?

ถ้าศึกษาต้นเหตุต้นเรื่องของการบัญญัติสิกขาบท ก็จะพบว่า ขั้นตอนจะเริ่มจาก (๑) มีผู้กระทำความผิดหรือก่อเหตุขึ้น (๒) แล้วเรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า (๓) ทรงให้ประชุมสงฆ์ (๔) เรียกตัวผู้กระทำมาสอบถาม (๕) ได้ความจริงแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทหรือปรับโทษ

ขั้นตอน-เรียกตัวผู้กระทำมาสอบถามนั้น ปรากฏว่าผู้กระทำยอมรับว่าได้กระทำเช่นนั้นจริงทุกราย 

จะเห็นได้ว่า กระบวนการปรับโทษมีขั้นตอนการยอมรับความจริง (คำบาลีว่า ปฏิชานาติ) มาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ เพราะผู้กระทำยอมรับตั้งแต่ต้นเช่นกัน 

ทำจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ไม่มีปรากฏเลย

ทำจริงหรือเปล่าจึงไม่ต้องพิสูจน์

พิสูจน์กันที่การกระทำนั้นเป็นความผิดหรือเปล่า

แต่ครั้นล่วงกาลผ่านเวลาไป ระดับคุณธรรมในจิตใจค่อย ๆ ลดลง อลัชชีหรือคนหน้าด้านมีมากขึ้น 

ทำจริง ผิดจริง ตัวคนทำก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่ยอมรับ ก็มีมากขึ้น

.........................................................

ในอริยวินัย-คือพระพุทธศาสนา-ไม่มีระบบใช้กำลังบังคับ

บังคับให้ยอมรับผิด ไม่มี

รับผิดแล้ว ลงโทษด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายกัน ก็ไม่มี

มีแต่ระบบนิคหกรรมสำหรับภิกษุ เช่น ตัดสิทธิ์ ลดฐานะ ขับออกจากหมู่คณะ เป็นต้น และระบบทัณฑกรรมสำหรับสามเณร โดยให้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เช่น ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย ล้างส้วม เป็นต้น (ระบบทัณฑกรรมนี้บางทีใช้กับภิกษุด้วย)

.........................................................

ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแสดงกระบวนการสอบสวนของพระวินัยธรไว้อย่างละเอียด เป็นการสอบสวนที่สุภาพ ละมุนละไม ไม่ได้มุ่งจะเอาผิด ทั้งไม่ได้มุ่งจะช่วยคนชั่วให้หมกตัวอยู่ในพระศาสนา แต่มุ่งจะช่วยให้ออกไปแต่โดยดี

กระบวนการสอบสวนขั้นตอนสุดท้าย ท่านบอกว่าให้ผู้กระทำผิดไปปฏิบัติธรรม ตัดสินด้วยผลของการปฏิบัติ เพราะหลักสัจธรรมมีอยู่ว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกจริง ปฏิบัติขนาดไหนจิตก็ไม่มีทางที่จะสงบลงได้ 

ปฏิบัติแล้วอาการของจิตเป็นอย่างไร ขอให้มาบอก

เมื่อผู้กระทำผิดมาบอกว่าจิตไม่สงบ-ซึ่งหมายถึงต้องอาบัติปาราชิกจริง ท่านก็แนะให้พระวินัยธรให้กำลังใจด้วยคำแนะนำที่นุ่มนวล ดังนี้ -

.........................................................

นตฺถิ  โลเก  รโห  นาม  ปาปกมฺมํ  ปกุพฺพโต  สพฺพปฐมํ  หิ  ปาปํ  กโรนฺโต  อตฺตนาว  ชานาติ  อถสฺส  อารกฺขเทวตา  ปรจิตฺตวิทู  สมณพฺราหฺมณา  อญฺเญ  จ  เทวตา  ชานนฺติ  ตฺวํเยว  ทานิ  ตว  โสตฺถึ  ปริเยสาหีติ  วตฺตพฺโพ  ฯ 

ที่มา: สมันตปาสาทิก ภาค ๑ หน้า ๓๓๘

(ควรศึกษาตอนที่ว่าด้วยจตุพพิธวินยกถาทั้งหมด หน้า ๓๒๖-๓๓๘) 

.........................................................

แปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ -

.........................................................

นตฺถิ  โลเก  รโห  นาม  ปาปกมฺมํ  ปกุพฺพโต 

ขึ้นชื่อว่าความลับของผู้กระทำกรรมชั่วย่อมไม่มีในโลก

สพฺพปฐมํ  หิ  ปาปํ  กโรนฺโต  อตฺตนาว  ชานาติ

แท้จริงบุคคลผู้กระทำความชั่วย่อมรู้ด้วยตนเองก่อนคนอื่นทั้งหมด 

อถสฺส  อารกฺขเทวตา  

ต่อจากนั้นก็อารักขเทวดาทั้งหลาย (ย่อมรู้ความชั่วของเธอ)

ปรจิตฺตวิทู  สมณพฺราหฺมณา  อญฺเญ  จ  เทวตา  ชานนฺติ

สมณพราหมณ์และเทพเจ้าเหล่าอื่นผู้รู้จิตของบุคคลอื่น ย่อมรู้ความชั่วของเธอ

ตฺวํเยว  ทานิ  ตว  โสตฺถึ  ปริเยสาหิ

บัดนี้ เธอนั่นแลจงแสวงหาความสวัสดีแก่เธอเองเถิด

อิติ  วตฺตพฺโพ  ฯ

พระวินัยธรพึงบอกภิกษุนั้นไปดังว่ามานี้

.........................................................

ขั้นตอนการยอมรับ ไม่มีปัญหาในยุคสมัยที่จิตใจคนยังมีหิริโอตตัปปะอยู่มาก แต่มีปัญหามากในยุคสมัยที่หิริโอตตัปปะในจิตใจคนมีอยู่น้อย

สมัยที่จิตใจคนยังมีหิริโอตตัปปะอยู่มาก เราก็หวังได้ว่าผู้ต้องอาบัติปาราชิกปฏิบัติธรรมแล้วจะมาบอกอาการของจิตไปตามความจริงดังที่ท่านบรรยายไว้ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา

แต่สมัยนี้ หาคนที่จะพูดความจริง คงยากมาก

ขั้นตอนการยอมรับก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่อลัชชียกขึ้นมาใช้เพื่อยื้อตัวเองให้คงอยู่ในสังคมสงฆ์ได้ต่อไป

ถอดเป็นคำพูดว่า ไม่ยอมรับซะอย่างก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ-แม้จะทำผิดจริง

คัมภีร์อัตถโยชนาจึงแนะทางออก ให้ช่วยกันรู้ทันว่า ภิกขุภาวะ-ความเป็นพระ มี ๒ แบบ

โวหารภิกขุภาวะ เป็นพระตามที่เขาเรียกกัน

กัมมวาจาภิกขุภาวะ เป็นพระตามพระธรรมวินัย

จะเป็นพระแบบไหน ผู้ต้องอาบัติปาราชิกที่ยืนยันว่าตนยังเป็นพระอยู่-ย่อมรู้ได้ด้วยตัวเอง

......................

ผมมองเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต-ตามที่ท่านพรรณนาไว้ในเรื่องความอันตรธานของพระศาสนา ดังนี้ -

หลักของพระพุทธเจ้า-ทำผิดปาราชิกครบองค์ประกอบ ขาดจากความเป็นพระทันที

ต่อมา มีการยกขั้นตอนสอบสวนขึ้นมาอ้าง-ต้องรับสารภาพจึงจะขาด 

เริ่มเคลื่อนจากหลักของพระพุทธเจ้า

บัดนี้ มีผู้ตั้งเงื่อนไขที่คนไทยพากันสนับสนุน-ต้องทำพิธีลาสิกขาจึงจะขาดจากความเป็นพระ

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลานี้

ต่อไปในอนาคตอันไม่ไกลต้องมีแน่ คือเงื่อนไขที่ว่า-แม้ทำพิธีลาสิกขาแล้ว ความเป็นพระก็ยังไม่ขาด ต้องเปลื้องจีวรออกจากตัวจึงจะขาด

เห็นไหม มีทางยื้อได้ต่อไปอีก

และในอนาคตซึ่งอาจจะไกลหน่อย แต่มาถึงแน่ ก็จะเกิดเงื่อนไขสุดท้าย นั่นคือ-เปลื้องจีวรออกจากตัวแล้วก็จริง แต่ถ้ายังมีชิ้นส่วนของจีวรติดกายอยู่ ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

เอากะท่านสิ

ซึ่งนั่นก็คือ “โคตรภูสงฆ์” ที่มีพุทธพยากรณ์ล่วงหน้ามาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีบุคลิกโดดเด่นที่ท่านใช้คำว่า “กาสาวกัณฐะ” คำบาลีแปลว่า “ผ้าเหลืองพันคอ” คำคนไทยเก่าพูดว่า “ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู”

.........................................................

โคตรภูสงฆ์ : พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัด ปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศ เช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

.........................................................

เงื่อนไขที่ช่วยกันสร้างขึ้นแต่ละขั้นตอน-เพื่อจะยื้อความเป็นพระไว้ มองให้ถูกก็จะเข้าใจ -

ก็คือเงื่อนไขที่เรากำลังช่วยกันผลักดันให้พระศาสนาถึงยุคผ้าเหลืองน้อยห้อยหูเร็ว ๆ ขึ้นนั่นแล

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๓ เมษายน ๒๕๖๗

๑๘:๕๙

[full-post]

ปกิณกธรรม,ปาราชิโก,อสํวาโส,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.