ทองย้อย แสงสินชัย

ในอนาคต สิ่งที่จะเสื่อมหมดคงไม่ใช่กฐินเรื่องเดียว 
---------------------------------------------
เมื่อวาน (๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕) เป็นวันเกิดหลานคนหนึ่งที่อยู่ปากท่อ เป็น “เพื่อน” กันทางเฟซบุ๊กด้วย ผมก็อวยพรวันเกิดไปให้ตามกิจวัตร
กิจวัตรของผมเมื่อเปิดคอม.ในแต่ละวันก็คือไปที่เฟซบุ๊ก ดู “เพื่อน” ที่เกิดวันนั้น อวยพรวันเกิด ครบถ้วนแล้วจึงลงมือค้นคว้าอ่านเขียนอันเป็นกิจประจำวันปกติต่อไป
พอสายๆ ใกล้เที่ยง หลานก็โทร.มาขอบคุณ เล่าสารทุกข์สุกดิบ บอกว่าตอนนี้ป่วยด้วยโรคยอดนิยมกันทั้งบ้าน แต่ไม่มีใครหนักหนาสาหัส ต่างคนต่างกักตัวเอง ก็เลยไม่ได้ไปวัด กลัวจะไปติดพระ
หลานเอ่ยถึงวัด ผมก็เลยถามไปว่า พรรษานี้วัดบ้านเราพระเท่าไร
หลานบอกว่า ๗ องค์เท่านั้นคุณอา เขามาขอไปหมด
ผมร้อง อ้าว มันยังไงกันล่ะ
ก็วัดเขาพระไม่พอ ๕ องค์ วัดนั้นก็มาขอ วัดโน้นก็มาขอ หมด เหลือแต่พระแก่ๆ ไม่มีใครเขาเอาแล้ว
ทำไมต้อง ๕ องค์ ผมถามทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
จะได้พอรับกฐินน่ะคุณอา หลานตอบแบบไม่ต้องนึก
หลานๆ ที่ปากท่อเป็นบ้านนอกเต็มขั้น ตอนผมทำนาอยู่นั้น พวกนี้ยังไม่เกิด ผมบวช พวกนี้ก็ยังเป็นเด็กอยู่ จบ ป.๔ ตามมาตรฐานเด็กบ้านนอกทั่วไป วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตทั้งปวง ไม่ได้เกิดจากห้องเรียน แต่ได้มาจากประสบการณ์ตรงที่ส่งมอบกันจากรุ่นสู่รุ่น 
กฐิน ผ้าป่า เข้าพรรษา ออกพรรษา ตักบาตรเทโว ตรุษสารทสงกรานต์ วันพระไปวัด ทำบุญ เลี้ยงพระ ฯลฯ ได้จากของจริงที่ทำสืบต่อกันมาจริงๆ รุ่นก่อนทำให้ดู รุ่นหลังรับช่วง ส่งมอบให้รุ่นต่อๆ ไป ไม่ต้องบอก ไม่ต้องสอนด้วยปาก แต่สอนด้วยการทำให้เห็น เป็นให้ดู
หลานผมคงไม่ได้ไปอ่านพระไตรปิฎก แค่ภาษาไทยพื้นๆ ยังอ่านไม่ค่อยจะคล่อง ที่รู้ว่าพระพอรับกฐินต้อง ๕ รูปจำพรรษาวัดเดียวกัน ก็รู้จากที่ชาววัดชาวบ้านเขาทำกันมา เห็นกันอยู่ว่าเขามีหลักอย่างนี้
ก่อนเข้าพรรษา วัดไหนบอกว่า “พระไม่พอ” เป็นอันรู้กันว่าวัดนั้นมีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือไปขอจากวัดอื่น วิธีนี้คงทำกันมานานนักหนาแล้ว สมัยเป็นเด็กวัดผมก็เห็นทำกันมาแล้ว
ว่ากันว่า บางวัดที่หาพระไม่ได้จริงๆ ถึงกับขอร้องให้ผู้ชายในหมู่บ้านบวชในพรรษานั้นเพื่อให้มีพระพอรับกฐินได้ก็เคยทำกัน
คนเก่าเขาแก้ปัญหาที่ต้นทาง
คนใหม่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ปลายทาง
“แก้ปัญหาที่ต้นทาง” หมายความว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป เพื่อจะรับกฐินได้ ไม่ต้องมาเถียงกันทีหลัง
“แก้ปัญหาที่ปลายทาง” หมายความว่า วัดไหนมีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ก็ปล่อยไปตามสบาย พอจะรับกฐินค่อยหาวิธีอธิบายว่า-นิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปก็ใช้ได้ แล้วก็เถียงกันว่าได้หรือไม่ได้
.................
จากการศึกษากรณีกฐินพระรูปเดียว พบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการทอดกฐิน แต่เริ่มต้นด้วยการที่พระจำพรรษารูปเดียว แล้วมีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ 
ย้ำว่า-พระจำพรรษารูปเดียว มีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์นะครับ 
ไม่ใช่พระจำพรรษารูปเดียว แล้วมีผู้มาทอดกฐิน
พระจำพรรษาไม่ครบองค์สงฆ์ มีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ หาพระมาให้ครบองค์สงฆ์ แล้วสงฆ์อนุมัติจีวรนั้นให้แก่ภิกษุผู้รับจีวร ทำอย่างนี้อรรถกถาท่านบอกว่ามีผลเท่ากับได้กรานกฐิน พูดชัดๆ ว่า มีผลเท่ากับได้รับกฐิน
แต่พระจำพรรษาไม่ครบองค์สงฆ์ แล้วมีผู้มาทอดกฐิน แบบนี้ยังไม่พบเรื่องในคัมภีร์
พระจำพรรษาไม่ครบองค์สงฆ์ ใครคิดจะเอากฐินไปทอด โปรดหาหลักฐานไว้ให้พร้อมว่าทำตามเรื่องในคัมภีร์ไหน จะได้มั่นใจว่าทำได้จริงๆ ไม่ผิด
และถ้าทำได้จริงๆ คติที่ว่า-วัดไหนพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ต้องไปเที่ยวหามาให้ครบก่อนเข้าพรรษา-ที่คนเก่าทำกันมานานนักหนาแล้วนั้น ก็เป็นอันล้มล้างล้มเลิกได้เลย วัดไหนมีพระจำพรรษากี่รูปก็ไม่ต้องกังวลเหมือนคนสมัยก่อนอีกต่อไป นิมนต์พระที่ไหนก็ได้มาให้ครบ ๕ รูปก็ทอดกฐินได้ทุกวัดไป
คนรุ่นหลานผมยังจดจำซึมซับว่า-พระจำพรรษาวัดเดียวกัน ๕ รูปจึงจะพอรับกฐินได้ เกิดเป็นคำพูดที่รู้กันว่า “พระไม่พอ” เมื่อคนรุ่นนี้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว ก็จะเหลือแต่คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาก็พบภาพอีกแบบหนึ่ง คือพระจำพรรษากี่รูปก็ทอดกฐินได้ทั้งนั้น ไม่ครบ ๕ รูปก็ไปนิมนต์ที่อื่นมา ก็เรียบร้อย เกิดมาก็เห็นทำกันแบบนี้
กฐินที่ทอดกันตอนนั้นกับกฐินที่พระบรมศาสดาทรงมีพุทธานุญาตไว้จะห่างไกลกันแค่ไหนก็สุดที่จะคาดคิด
ไม่ต้องดูอื่นไกล กฐินที่พระบรมศาสดาทรงมีพุทธานุญาตไว้ หัวใจคือผ้าและความสามัคคีของสงฆ์ แต่กฐินที่ทอดกันในบัดนี้ หัวใจคือเงิน!
แล้วก็คงจะไม่ใช่กฐินเรื่องเดียว หลักพระธรรมวินัยทั้งปวงอันเป็นตัวพระศาสนาจะถูกทำให้วิปริตแปรปรวนไปสักเพียงไร ก็สุดที่จะคาดคิดได้เช่นกัน
เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจและเข้าถึงพระไตรปิฎกอันเป็นหลักคำสอนต้นเค้าเหง้าเดิมของพระศาสนากันบ้างหรือยังเจ้าข้า!



----------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๔:๓๓
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.