ทองย้อย แสงสินชัย

ถ้ารู้วิธีทำบุญ ก็จะได้วิธีเก็บบุญ
---------------------------------
คนไทย ถ้าพูดว่า “ทำบุญ” ภาพที่เด่นที่สุดในห้วงนึกก็คือ ใส่บาตร หรือเอาสตางค์ใส่ตู้บริจาค อาจเป็นเพราะนั่นเป็นวิธีทำบุญที่ง่ายที่สุดและเห็นกันดาษดื่นที่สุด
โปรดทราบว่า การทำบุญไม่ใช่มีเพียงวิธีใส่บาตรหรือเอาสตางค์ใส่ตู้บริจาค นั่นเป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้น
วิธีทำบุญในพระพุทธศาสนาท่านแนะไว้ถึง ๑๐ วิธี เรียกตามศัพท์วิชาการว่า “บุญกิริยาวัตถุ” (อ่านว่า บุน-ยะ-กิ-ริ-ยา-วัด-ถุ) แปลตรงๆ ว่า “วิธีทำบุญ” มีรายละเอียดดังนี้ -
.....................................
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ = ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี (bases of meritorious action)
๑. ทานมัย (ทา-นะ-ไม) = ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ (meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving) เรียกเพื่อจำง่ายว่า = ทำบุญให้ทาน
๒. สีลมัย (สี-ละ-ไม) = ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี (by observing the precepts or moral behaviour) = ทำบุญถือศีล
๓. ภาวนามัย (พา-วะ-นา-ไม) = ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา (by mental development) = ทำบุญภาวนา
๔. อปจายนมัย (อะ-ปะ-จา-ยะ-นะ-ไม) = ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม (by humility or reverence) = ทำบุญไหว้พระ
๕. เวยยาวัจจมัย (เวย-ยา-วัด-จะ-ไม) = ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ (by rendering services) = ทำบุญช่วยงาน
๖. ปัตติทานมัย (ปัด-ติ-ทา-นะ-ไม) = ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (by sharing or giving out merit) = ทำบุญแบ่งบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย (ปัด-ตา-นุ-โม-ทะ-นา-ไม) = ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น (by rejoicing in others’ merit) = ทำบุญโมทนา
๘. ธัมมัสสวนมัย (ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ-ไม) = ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ (by listening to the Doctrine or right teaching) = ทำบุญฟังเทศน์
๙. ธัมมเทสนามัย (ทำ-มะ-เท-สะ-นา-ไม) = ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ (by teaching the Doctrine or showing truth) = ทำบุญให้ธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทิด-ถุ-ชุ-กำ) = ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง (by straightening one’s views or forming correct views) = ทำบุญเห็นถูก
(คำและความเก็บจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ ๑๐)
.....................................
คำว่า “-มัย” ที่อยู่หลังคำนั้น มีความหมายว่า “สำเร็จด้วย-” หรือ “ทำด้วย-”เช่น “ทานมัย” หมายความว่า บุญที่สำเร็จด้วยวิธีให้ บุญที่ทำด้วยการให้
......................
ข้อขัดข้องของคนไม่ทำบุญ เท่าที่นิยมอ้างกันก็คือ
๑ ไม่มีเงิน
๒ ไม่มีเวลา
๓ ไม่มีอารมณ์
๔ ไม่สะดวก
ขออนุญาตอภิปรายชี้แจงเล็กน้อย
๑ ไม่มีเงิน
โปรดสังเกตว่า ในการทำบุญทั้ง ๑๐ วิธี มีเพียง “ทานมัย-ทำบุญให้ทาน” หรือพูดตามสำนวนทองย้อยว่า “ทำบุญควักกระเป๋า” เท่านั้นที่ต้องใช้เงิน อีก ๙ วิธี แม้ไม่มีเงินสักบาทก็สามารถทำได้
๒ ไม่มีเวลา
นี่ก็เพราะวาดภาพไปว่า จะทำบุญต้องไปวัด หรือต้องเป็นวันหยุด หรือต้องแบ่งเวลาออกจากชีวิตประจำวัน 
โปรดทราบว่าบุญหลายๆ อย่างทำได้ทุกเวลา พูดให้เห็นภาพว่าทำพร้อมๆ ไปกับเวลาหายใจนั่นเลย ถ้าเรามีเวลาหายใจ ก็แปลว่าเรามีเวลาทำบุญได้เสมอ
๓ ไม่มีอารมณ์
อันนี้ลำบากหน่อย (ความจริงลำบากเยอะ) เพราะอารมณ์เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ก้าวก่ายกันไม่ได้
แต่หลักความจริงข้อหนึ่งคือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถฝึกได้ และต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ไม่ฝึกไม่ประเสริฐ เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่อยากจะทำบุญก็สามารถฝึกให้เกิดมีได้
๔ ไม่สะดวก
โดยมากจะอ้างสุขภาพไม่อำนวย หรือไม่ก็ติดธุระนั่นนี่โน่น โปรดสังเกตว่า ท่านเสนอแนะวิธีทำบุญไว้ถึง ๑๐ วิธี วิธีไหนไม่สะดวกก็ผ่านไป มีวิธีที่สะดวกให้เลือกทำได้อีกหลายวิธี
ขอให้เข้าใจว่า บุญหลายๆ อย่าง นั่งไม่สะดวก นอนทำก็ยังได้ ติดธุระ ทำไปพร้อมๆ กับทำธุระนั่นเลยก็ยังได้ ขอให้เรียนรู้เคล็ดลับในการทำสักหน่อยเดียวเท่านั้น
......................
       ผู้มีประสบการณ์บอกว่า ชีวิตคือการเดินทางไกล ตรงกับที่พระท่านว่า-เวียนตายเวียนเกิดยาวนานในสังสารวัฏ เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว ประมาณ ๑๐๐ ปีก็ต้องเดินทางต่อ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนเวลาที่เราคอยรถโดยสารซึ่งอาจจะมาเวลาใดก็ได้ บุญที่ทำเหมือนค่าโดยสารและเสบียงเดินทาง ทำแทนกันไม่ได้ ขอกันไม่ได้ ให้กันไม่ได้ ของใครของมัน ย่ามใครย่ามมัน
       บอกกันได้ แนะนำวิธีทำให้กันได้ แต่บังคับให้กันทำไม่ได้ ใครทำใครได้ ทำใครทำมัน เก็บบุญใส่ย่ามให้กันไม่ได้ ย่ามใครก็ต้องเก็บใส่เอาเอง
       แล้วก็อย่าคิดว่า ยังมีเวลาเก็บบุญใส่ย่ามได้อีกนาน รอไว้ก่อนก็ได้ บอกแล้วว่ารถโดยสารของท่านอาจมาถึงเวลาไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น ตบย่ามดูบ่อยๆ ใส่บุญไว้พอเป็นค่าเดินทางหรือยัง
อุปสรรคที่หนักหนาสาหัสมากก็คือ วิธีคิด คำพระท่านเรียก “สังกัปปะ” (thought) หรือ “ทิฏฐิ” (view, understanding) ถ้าวิธีคิดเป็น “สัมมา” (right) ก็รอดตัว แต่ถ้าเป็น “มิจฉา” (wrong) ก็ตัวใครตัวมัน 
และวิธีคิดนี้แก้ยากที่สุด ลองศึกษาเรื่องราวในพระพุทธศาสนาดูเถิด คนบางคน-หลายคน แม้ระดับพระพุทธเจ้าก็ยังโปรดไม่ได้
แล้วเอ็งเป็นใคร ถึงบังอาจมาแนะนำข้า ฮ่า ฮ่า ฮ่า
------------------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕
๑๑:๔๘

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.