Jine Southernบันทึกประวัติศาสตร์

เหตุใดจึงเรียก กรมหลวงชุมพรฯ ว่า “เสด็จเตี่ย”
,
เคยสงสัยกันไหมว่า เหตุใดใคร ๆ จึงเรียก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ว่า “เสด็จเตี่ย” 
.
หลาย ๆ ท่านคงเคยศึกษาพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กันมาบ้างแล้ว และทราบว่า พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย” อีกทั้งยังทรงมีอีกพระบทบาทหนึ่งคือ การเป็นหมอพรของชาวบ้าน เหตุเพราะทรงใช้วิชาความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยและฝรั่งช่วยรักษาผู้ป่วยให้หายจากความเจ็บไข้ได้ป่วยโดยไม่คิดเงิน หรือเลือกชั้นวรรณะ และด้วยพระเมตตา ความรู้ พระปรีชาสามารถ และน้ำพระทัยของพระองค์ ทำให้ผู้คนต่างพร้อมใจกันขนานนามพระองค์ว่า “หมอพรเทวดา” ยกย่องพระองค์เป็นเสมือนเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลงมาโปรดมนุษย์มากกว่าการเป็นเจ้าเป็นนาย ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมใคร ๆ จึงเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” นั้น เพจน้ำเงินเข้มจะค่อย ๆ เล่าไปตามลำดับ 
.
ก่อนอื่นเรามาศึกษาพระประวัติคร่าว ๆ ของพระองค์กันสักเล็กน้อย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร"  และเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด สายสกุลบุนนาค ธิดาคนที่ 6 ของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ หรือ วร บุนนาค ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง และเจ้าจอมมารดาโหมดยังเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์อีกด้วย 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส โดยพระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เหตุเนื่องจากพระมารดาของพระองค์กับพระมารดาของพระนางเจ้าสุวัทนาทรงเป็นพี่น้องกัน
.
ด้านการศึกษา ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จไปทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในต่างประเทศ และทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 6 ปีเศษ พร้อมกับได้รับการเลื่อนยศเป็น เรือเอก ในกองทัพราชนาวีประเทศอังกฤษ
.
เมื่อเสด็จกลับนิวัติพระนครทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในกิจการทหารเรือ ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท หรือปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี และเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์" ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในปี พ.ศ. 2449 
.
ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “พระราชวังเดิม” ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และได้ยึดถือทุกวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันกองทัพเรือ” 
.
นอกจากนี้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ยังได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ และทรงเป็นครูสอนให้แก่นักเรียนนายเรือ อีกทั้งยังทรงเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับทหารเรือ เพื่อให้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ คือ วิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ และการเดินเรือเรขาคณิต
.
อีกทั้งยังทรงจูงใจให้มีผู้มาสมัครเรียนเป็นทหารเรือเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่ไม่ค่อยมีคนนิยมมาสมัครเป็นทหารเรือเพราะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดทะเล โดยทรงแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนที่สมัครเข้ามาเรียนและเพิ่มเงินตามชั้นที่สูงขึ้น รวมทั้งทรงผูกพระทัยนักเรียนด้วยความตั้งพระทัยจริงให้นักเรียนนายเรือทุกนายมีความตั้งใจเรียน รักและภาคภูมิใจในสถาบันที่เรียนและกองทัพเรือ
.
นอกจากนี้ด้วยพระอุปนิสัยที่ทรงมีพระเมตตาโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ และความมีใจนักเลง กอปรกับวิชาความรู้ พระปรีชาสามารถ และเก่งฉกาจในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านวิชาอาคมซึ่งพระองค์ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านนี้ จึงสามารถผูกใจให้นักเรียนที่มีนิสัยนักเลงไว้ได้ ทำให้เหล่านักเรียนเชื่อมั่นในพระองค์ว่าทรงเป็นที่พึ่งพาของพวกเขาได้ อีกทั้งทรงเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนและผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในเวลาและนอกเวลางานอย่างไม่ถือพระองค์ โดยมีเรื่องเล่ากันว่า ในเวลาค่ำของวันหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันในขณะประทับพักผ่อนที่วังนางเลิ้ง โดยมีผู้วิ่งมาทูลว่า มีทหารเรือชั้นผู้น้อยนายหนึ่งถูกรุมต่อยตีอยู่ที่ตลาดนางเลิ้ง จึงทรงเร่งเสด็จไปช่วยเหลือทหารเรือนายนั้นทันที โดยทรงเอาพระวรกายเข้ารับคมดาบของอีกฝ่าย แต่ไม่สามารถทำอันตรายใด ๆ แก่พระองค์ได้เลย จนเป็นที่เลื่องลือว่าทรงอยู่ยงคงกระพัน และอีกครั้งทรงมีพระกรุณาเสด็จไปสู่ขอผู้หญิงให้แก่ลูกศิษย์ในฐานะพระอาจารย์อย่างไม่ถือพระองค์ว่าเป็นเจ้า อีกทั้งหากมีการฌาปนกิจศพทหารเรือก็ทรงให้จัดการพิธีอย่างสมเกียรติทุกชั้นยศ 
.
สำหรับเหตุที่ใคร ๆ ต่างเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย บันทึกไว้ในบทความชื่อ “ชีวิตนักเรียนนายเรือสมัย พ.ศ. 2462” ได้บันทึกไว้ช่วงตอนหนึ่งว่า
.
ในวันที่ 11 ต.ค. พ.ศ. 2462 ได้มีการออกฝึกภาคทะเล ในขณะนั้น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการฝึก และประทับที่ ร.ล.พาลีฯ ในเวลาเช้าวันหนึ่งมีการขัดหินทรายและเช็ดล้างดาดฟ้าไม้ที่ท้ายเรือ พวกนักเรียนใหม่ทำงานกันไม่เป็น ท่าทางเงอะงะ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงประทับและทอดพระเนตรอยู่ในที่นั้นด้วย จึงมีพระดำรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า 
.
“อ้ายลูกชายมานี่ เตี่ยจะสอนให้” แล้วทรงทำงานให้ดูจนเสร็จอย่างไม่ถือพระองค์ ทำให้นักเรียนมีความเคารพรักและภักดีต่อพระองค์กันมาก และพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” จนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ยังมีบันทึกในเอกสารสโมรสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ในเรื่องการเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย”  ด้วยดังนี้
.
“นอกจาก ‘เสด็จเตี่ย’ แล้ว ในหมู่พระโอรส พระธิดา และทหารผู้ใกล้ชิด ก็ยังโปรดให้เรียกพระองค์ว่า ‘ติ๊ดเตี่ย’ นายพลเรือ พระยาหาญกลางสมุทร หรือบุญมี พันธุมนาวิน ก็เคยเขียนชี้แจงว่า ตอนที่ทรงเป็น ‘หมอพร’ รักษาคนโดยไม่คิดสตังค์นั้น คนจีนก็เรียกพระองค์ว่า ‘เตี่ย’ และว่าคนไทยเรียก ‘ทิดเตี่ย’ 
.
ด้วยเหตุนี้ จึงสันนิษฐานว่า ทำไมใคร ๆ จึงเรียกขานพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” เพราะด้วยพระอุปนิสัยที่ทรงมีพระเมตตาอย่างไม่ถือพระองค์ ประหนึ่ง “พ่อ” ทำให้คนทั่วไปจึงขอปวารณาเป็นลูกของพระองค์กันด้วยความรู้สึกเคารพรักในพระองค์ และยิ่งเมื่อทรงสิ้นพระชนม์ ความรักเทิดทูนบูชาพระองค์ยิ่งเพิ่มพูนทวีมากขึ้น และมีการเสริมเติมแต่งเรื่องราวให้ทรงเป็นเสมือนผู้วิเศษ ที่สามารถบนบานขานกล่าวขอให้ทรงช่วยในเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีคนประสบความสำเร็จในสิ่งที่ขอ ก็ยิ่งเพิ่มเรื่องราวปาฏิหาริย์มากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ประหนึ่งว่าดวงพระวิญญาณของพระองค์ยังคงคุ้มครองทุกคนตราบจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังมีการสร้างรูปเหรียญรูปเคารพไว้สำหรับบูชากันอย่างมากมายอีกด้วย
.
นี่ก็คือ เรื่องราวโดยสังเขปที่เพจน้ำเงินเข้มนำมาบอกเล่ากันในความเป็นมาของ “เสด็จเตี่ย” หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หวังว่าทุกท่านจะชื่นชอบในเรื่องราวที่ได้นำมาเล่าทั้งหมดนี้

----------------
เรียบเรียงโดย เพจน้ำเงินเข้ม
แหล่งที่มา : silpa-mag , สารานุกรมเสรี
Credit น้ำเงินเข้ม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.