ศึกษาเรื่องเดิม - ทำไมเมื่อคนบวชเป็นพระเราจึงนับถือเลื่อมใส?

------------------------------------------------------------

การแสดงออกว่านับถือเลื่อมใส ก็อย่างเช่น ทำบุญกับพระ ใส่บาตรให้พระ ไหว้พระ ฯลฯ

ทำบุญกับพระทำไม ใส่บาตรให้พระทำไม ไหว้พระทำไม ฯลฯ

มีใครเคยตามไปศึกษาเรื่องเดิมกันบ้าง?

“เรื่องเดิม” ง่าย ๆ-ง่ายเหมือนหญ้าปากคอก ก็อยู่ที่บทสังฆคุณที่ใคร ๆ (สมัยก่อน) ก็สวดได้คล่องนั่นเอง คือ เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ -

.........................................................

สุปะฏิปันโน = ปฏิบัติดี 

อุชุปะฏิปันโน = ปฏิบัติตรง 

ญายะปะฏิปันโน = ปฏิบัติควร 

สามีจิปะฏิปันโน = ปฏิบัติชอบ

.........................................................

ตั้งเป็นหลักใหญ่ได้ว่า เราทำบุญ ใส่บาตร ไหว้พระ อุปถัมภ์บำรุง หรือควักกระเป๋าทุ่มเทให้พระสงฆ์สามเณรรูปไหน วัดไหน สำนักไหน ก็เพราะพระสงฆ์สามเณรรูปนั้น วัดนั้น สำนักนั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบนั่นแล้ว

ทุกวันนี้เราเคยศึกษาตรวจสอบกันบ้างหรือเปล่าว่าพระหรือสำนักที่เรานับถือเลื่อมใสอุปถัมภ์บำรุงนั้น ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบจริง ๆ หรือเปล่า?

ถึงตรงนี้คงมีคนอยากพูดว่า มัวแต่ไปตรวจสอบก็ไม่ต้องได้ทำอะไรกันพอดี 

แล้วอีกประการหนึ่ง ใครจะไปตรวจสอบได้ว่าพระเณรที่เราเห็น-เช่นเห็นท่านออกบิณฑบาตทุกเช้า-รูปไหนสำนักไหนปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า

ตรงนี้แหละคือช่องโหว่ของสังคมไทย 

และเป็นช่องโหว่ขนาดมหึมาด้วย

หมายความว่าอย่างไร?

ก็หมายความว่า - คนที่เก่งทางการตลาดย่อมจะตีโจทย์ออกแล้วว่า สังคมไทยเลื่อมใสง่าย ศรัทธาง่าย เพราะฉะนั้น ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดูดี น่าเลื่อมใส 

ง่ายๆ เท่านี้เอง 

ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดูดี น่าเลื่อมใส ก็จะสามารถทำให้คนไทยเทกระเป๋าออกมาถวายได้อย่างไม่อั้น

.......................

นอกจากนี้ ยังมีท่านอีกจำพวกหนึ่ง ไม่ได้คำนึงว่าพระท่านจะปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า จับหลักแต่เพียงว่ารูปไหนอำนวยประโยชน์ให้ข้าพเจ้าได้ หรือรูปไหนทำอะไรถูกใจข้าพเจ้า-เท่านั้นพอ

ข้าพเจ้าถูกใจ-ได้ประโยชน์ เท่านี้พอ

ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบหรือเปล่า ไม่รู้ ไม่รับรู้ ไม่สน

.......................

คราวนี้ลองถอยกลับมาดูว่า มีเหตุผลอะไรท่านจึงใช้การปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เป็นมาตรฐานในการตัดสินพระว่าควรแก่การนับถือเลื่อมใส หรือไม่ควร

ยกเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งว่า มีเหตุผลอะไรท่านจึงบอกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่คนธรรมดา

ตรงนี้ต้องตามไปดูกำเนิดของพระสงฆ์

.........................................................

ว่าย่อ ๆ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาทรงชี้ทางไว้ว่า การปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์จะได้ผลดีต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน

คำแนะนำนี้มีตัวพระพุทธเจ้าเองเป็นบทพิสูจน์ และต่อมาก็มีพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน

พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย แต่เดิมก็คือชาวบ้านธรรมดาเหมือนเราท่านนี่เอง ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่ไหน เป็นชาวบ้านที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา 

แล้วออกบวช 

แล้วปฏิบัติตาม 

แล้วบรรลุธรรม 

ที่ยังไม่บรรลุก็พยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เพื่อบรรลุในโอกาสต่อไป 

.........................................................

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่มีเพศสมณะเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา

ฝ่ายชาวบ้านที่มีศรัทธา แต่ยังไม่พร้อมที่จะออกบวช เมื่อได้เห็นพวกที่พร้อมกว่าได้ออกบวชไปแล้ว ก็มีแก่ใจสนับสนุนด้วยปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ออกบวชมีความสะดวกในการครองชีพ จะได้มุ่งปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เพื่อบรรลุธรรมต่อไป

นี่คือเหตุผลต้นเดิม-เรื่องเดิม ที่ชาวพุทธมีศรัทธานับถือเลื่อมใสพระ แล้วแสดงออกด้วยการอุปถัมภ์บำรุงพระ อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยประการต่าง ๆ

และที่ว่าถวายทานแก่พระสงฆ์ได้บุญมากกว่าให้ทานแก่สัตว์ แก่คนธรรมดา ก็ด้วยเหตุผลข้อนี้แหละ

คือเหตุผลที่ว่า-เป็นการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์

ถึงตัวเองจะยังไปไม่ได้ แต่ก็สนับสนุนคนที่เขาไปได้

ถามว่า ทุกวันนี้มีใครได้คิดไปให้ถึงเหตุผลต้นเดิมเรื่องเดิมตรงนี้กันบ้าง?

นอกจากใส่บาตรทุกเช้าแล้ว การอุปถัมภ์บำรุงในรูปแบบอื่น ๆ ทุกอย่าง สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ บริจาคที่ ตั้งทุนมูลนิธิ บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม บวชเณร บวชพระ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ฯลฯ ก็ล้วนแต่มีรากเหง้าเค้าเดิมมาจากการสนับสนุนให้คนดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ทั้งสิ้น

เราได้คิดสาวไปให้ถึงเหตุต้นเค้าที่แท้จริงของการมีศรัทธานับถือเลื่อมใสกันบ้างหรือเปล่า

เมื่อทำกันนานเข้าจนกลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณี เป็นค่านิยม เราก็เลยลืมกันไปว่าเหตุผลที่แท้จริงของการนับถือเลื่อมใสเช่นนั้นคืออะไร 

กลายเป็นทำตามประเพณี หนักเข้าก็เลยเป็น “ความเชื่อ” คือศรัทธาล้วน ๆ ไม่ได้มองไปที่เหตุผลที่แท้จริงของการมีศรัทธา 

และในที่สุดก็ถึงขั้น-ไม่ต้องการคำอธิบายหรือเหตุผลใด ๆ 

ใครจะพูดจะชี้แจงก็ไม่อยากฟัง (ซ้ำชักจะรำคาญเอาด้วย)

ขอเพียงแค่ได้ศรัทธา ได้นับถือ ได้เลื่อมใส เท่านั้นพอ อย่ามายุ่งกับฉัน

และมีเป็นอันมากที่อ้างเหตุผลเพียงว่า ทำแล้วสบายใจ ก็พอแล้ว ขอแค่นั้น

คำแนะนำง่าย ๆ ของผมก็คือ 

อะไรบ้างที่ห้ามพระทำ

และอะไรบ้างที่พระต้องทำ

ช่วยกันศึกษาหาความรู้ที่ถูกต้อง อย่าคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง

เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้ว -

เห็นพระรูปไหนสำนักไหนไม่ทำสิ่งที่ห้ามทำ

เห็นพระรูปไหนสำนักไหนไม่ละเลยสิ่งที่ต้องทำ

นับถือเลื่อมใสศรัทธาเถอะครับ-ไม่ผิดหวัง

แต่ถ้าเห็นตรงกันข้าม ก็ค่อย ๆ ถวายกำลังใจให้ท่าน

เอาเมตตา ไมตรี หวังดีเป็นที่ตั้ง

อย่าเพิ่งรีบหันหลัง หรือถล่มกันให้พังทันที-นะครับ

---------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๘:๒๔ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,บวช,พระภิกษุ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.