การศึกษาเพื่อใช้งาน (๑)

.........................................................

ได้ทราบว่า วันนี้ (๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗) คณะสงฆ์โดยกองบาลีสนามหลวงเริ่มตรวจข้อสอบบาลีประจำปี ๒๕๖๗ และอีก ๒-๓ วันก็คงประกาศผลว่าปีนี้มีพระมหาประโยค ๙ เพิ่มขึ้นกี่รูป มีสามเณรนาคหลวงกี่รูป

ผมมีบทความเกี่ยวกับการศึกษามาฝากครับ

.........................................................

เดิมที การศึกษาของไทยเราเป็นการศึกษาเพื่อใช้งาน คือไม่ว่าจะศึกษาอะไร ก็เริ่มด้วยเรียนวิธีทำ แล้วลองทำ จนทำได้ ทำเป็น แล้วเอาไปใช้งาน เช่นเอาไปประกอบอาชีพ

แหล่งที่ให้การศึกษาคือครอบครัว จึงเรียกการศึกษาแบบนี้ว่า การศึกษาตามตระกูล เกิดในตระกูลอะไรก็ศึกษาวิชาตามตระกูลนั้น แต่ที่ศึกษานอกตระกูลก็มีอยู่บ้าง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สาระของการศึกษาก็คงอยู่ที่การใช้งาน คือเรียนรู้จนทำได้ทำเป็น แล้วเอาไปใช้ เอาไปทำ 

ต่อมาเราจัดการศึกษาแบบใหม่ตามแบบฝรั่ง คือตั้งเป็นโรงเรียน เรียกตามคำฝรั่งว่า โรงสคูล (school) ซึ่งก็เป็นคำเดียวกับ “สกุล” ในภาษาสันสกฤต หรือ “กุล” ในภาษาบาลีนั่นเอง แสดงว่า หลักการดั้งเดิมของการศึกษาตรงกัน คือเรียนในสกุล ซึ่งก็คือเรียนตามตระกูลที่ไทยเราทำกันมา

เมื่อจัดการศึกษาตามระบบใหม่ เกิดมีแหล่งกลางสำหรับให้คนไปเล่าเรียนร่วมกัน คราวนี้จะเรียนวิชาตามตระกูลเหมือนเดิมก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาวิชาของตระกูลไหนเป็นหลัก จึงเกิดระบบหลักสูตร คือตกลงกันว่าจะให้เรียนวิชาอะไรบ้าง กำหนดเวลาเรียน กำหนดเกณฑ์วัดผล กำหนดเกณฑ์การจบการศึกษา กำหนดศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดขึ้นจากการจบการศึกษา ดังที่เรากำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน

แรกทีเดียว การศึกษาตามระบบใหม่เราจัดการศึกษาแบบทั่วไป คือตั้งโรงเรียน แล้วกำหนดให้เด็กไปเข้าโรงเรียน แรก ๆ ก็จัดขึ้นในหมู่ลูกเจ้านายและข้าราชการ ต่อมาจึงขยายออกเป็นโรงเรียนสำหรับราษฎรทั่วไป อย่างที่รู้กันเป็นประวัติศาสตร์ว่า โรงเรียนสำหรับราษฎรทั่วไปแห่งแรกของไทยเราคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม 

ต่อมาจึงแบ่งระดับการศึกษาชัดเจนขึ้น เป็นชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ชั้นประศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ เด็กไทยทุกคนต้องเข้าเรียน ผลการศึกษาอยู่ในระดับที่พูดกันในสมัยก่อนว่า “อ่านออกเขียนได้” เหนือชั้นประถมศึกษาขึ้นไปเป็นการศึกษาตามความสมัครใจหรือตามความพร้อม

ที่ควรเข้าใจด้วยก็คือ การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาพื้นฐาน ไม่มีวิชาเอก มีแต่วิชารวม ทุกคนต้องเรียนทุกวิชาตามหลักสูตร (ต่อมา ระดับมัธยมศึกษาจึงเริ่มแยกเป็นมัธยมศึกษาสายวิทยาศาสตร์ และมัธยมศึกษาสายศิลปศาสตร์ ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า สายวิทย์ สายศิลป์) แต่พอถึงระดับอุดมศึกษาจึงกำหนดวิชาเอกแน่นอน เริ่มด้วยการแบ่งเป็น “คณะ” (faculty) ตามสายวิชา ภายในคณะก็ยังแบ่งเป็น “วิชาเอก” (major) ตามวิชาหลักอีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการศึกษาตามระบบนี้ก็คือ หลักสูตรกำหนดให้ต้องเรียนวิชาต่าง ๆ แต่เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว มักไม่ได้เอาวิชานั้น ๆ ไปใช้งานจริง

อีกทั้งเมื่อจบการศึกษาแล้วเอาวุฒิการศึกษาไปสมัครงาน ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ก็ไม่ได้ถามว่าคุณเรียนวิชาอะไรมาบ้าง แต่ถามว่าคุณจบอะไรมา 

น้ำหนักจึงไปอยู่ที่ “จบอะไรมา” ไม่ได้อยู่ที่ “เรียนวิชาอะไรมา”

น้ำหนักของระบบเดิม คือเรียนวิชาอะไรก็เพื่อจะเอาวิชานั้นไปใช้งาน จึงเริ่มเบาบางจางหายไป 

การศึกษาเพื่อใช้งานก็ค่อย ๆ เลือนไป เรียนวิชาต่าง ๆ แต่ไม่ได้เอาไปใช้งาน ค่อย ๆ ปรากฏขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครเห็นว่าเรียนแล้วไม่ได้เอาไปใช้งานเป็นเรื่องผิดปกติหรือเสียหายอะไร 

การรับผู้จบสายหนึ่งเข้ามาทำงาน แต่เวลาทำงานจริงให้ไปทำงานอีกสายหนึ่ง ก็มีให้เห็นทั่วไป การไม่ได้เอาวิชาที่เรียนมาไปใช้งานก็ยิ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญยิ่งขึ้นไปอีก

และสิ่งที่ต้องยอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เมื่อจัดการศึกษาแบบนี้ เป้าหมายของการศึกษาจึงอยู่ที่ “จบการศึกษา” เพราะจบการศึกษาหมายถึงการมีศักดิ์และได้สิทธิ์อันเกิดขึ้นจากการจบการศึกษา อันมีความหมายว่า-จะได้นำศักดิ์และสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการสมัครงานซึ่งหมายถึงการประกอบอาชีพ

.........................................................

การศึกษาของพระภิกษุสามเณร หรือที่เรียกว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ คือที่คณะสงฆ์จัดให้มีขึ้น คือ นักธรรม บาลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์ ปัจจุบันก็ตกอยู่ในระบบหรือค่านิยมเดียวกันนี้ คือเรียนเพื่อให้จบ จบเพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์ จะเอาสิ่งที่เรียนมาไปใช้งานหรือไม่ ไม่มีใครคำนึงถึง

เพราะฉะนั้น มาถึงขั้นนี้ การเรียนบาลีเพื่อใช้งานจึงไม่มีใครนึกถึง เรียนบาลีแต่ไม่ได้เอาความรู้บาลีไปใช้งาน จึงไม่มีใครเห็นว่าเป็นการเสียหายที่ตรงไหน

.........................................................

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗

๑๑:๑๙ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,การศึกษา,พระไตรปิฎก,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.