การศึกษาเพื่อใช้งาน (๒)

---------------------

เฉพาะมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งมีอยู่ ๒ แห่ง คือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) คณะสงฆ์เป็นผู้จัดขึ้นมาแต่เดิม ด้วยวัตถุประสงค์จะให้พระภิกษุสามเณรเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ เท่าทันกับที่ชาวบ้านเขารู้ เพื่อที่ว่าชาวบ้านจะได้ไม่ดูถูกพระว่าโง่ ๆ เซ่อ ๆ ดังที่มักจะดูถูกกันอยู่ในสมัยนั้น (แม้ในสมัยนี้!) เมื่อดูถูกพระไม่ได้ ก็จะยอมรับฟังคำสั่งสอนของพระโดยเต็มใจ-นี่คือเป้าหมายของการตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งก็คือเพื่อให้พระสามารถเผยแผ่พระศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง 

แต่ปัจจุบันนี้ มจร และ มมร ถูกนำเข้าไปอยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของรัฐบาล เกือบจะเต็มรูปแล้ว กำลังแปรสภาพเป็นมหาวิทยาลัยทั่วไปของชาวโลก มีฆราวาสเข้ามาเรียนเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป มีฆราวาสดำรงตำแหน่งผู้บริหาร แม้ว่าขณะนี้ตำแหน่งอธิการบดียังเป็นของพระภิกษุอยู่ แต่เชื่อได้แน่ว่าอีกไม่นาน ฆราวาสจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ผู้บริหารและคณะอาจารย์จะเป็นฆราวาสทั้งหมด นั่นคือ มจร และ มมร เป็นมหาวิทยาลัยทางโลกเต็มตัว

นี่คือภาพรวมของสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ระบบการศึกษา” ที่จัดอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อมาถึงขั้นนี้ จะเห็นได้ว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่-ศึกษาเพื่อใช้งานอย่างที่เป็นมาแต่เดิม หากแต่เบี่ยงเบนไปอยู่ที่-ศึกษาเพื่อจบการศึกษา เพราะจบการศึกษาหมายถึงการมีศักดิ์และได้สิทธิ์ตามที่กำหนด

.........................................................

ศักดิ์และสิทธิ์เป็นสิ่งที่ต้องการ

เอาความรู้ไปใช้งานไม่มีใครคิดคำนึง

.........................................................

เพราะเป้าหมายของการศึกษามุ่งไปที่ “จบการศึกษา” และเกณฑ์จบการศึกษาก็มีกำหนดไว้แน่นอน นักเรียนนักศึกษาตามระบบนี้จึงมุ่งไปที่-ทำอะไรอย่างไรก็ได้ให้ได้ตามเกณฑ์ เพราะนั่นหมายถึงจะได้จบการศึกษา และนั่นหมายถึงจะได้ศักดิ์และมีสิทธิ์

ที่ว่า “ทำอะไรอย่างไรก็ได้ให้ได้ตามเกณฑ์” นั้น แม้-ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำกันมาแล้วและยังทำกันอยู่ ดังที่รู้กันว่ามีการรับจ้างเรียน รับจ้างสอบ รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ รวมความว่า-รับจ้างทำให้จบการศึกษา ยังทำกันอยู่จนทุกวันนี้

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อก็คือ การ “ทำอะไรอย่างไรก็ได้ให้ได้ตามเกณฑ์” นี้ เกิดขึ้นแม้กระทั่งในการศึกษาของคณะสงฆ์ นั่นคือ การทำทุจริตในการสอบนักธรรม-บาลี

โปรดเข้าใจว่า การศึกษาของคณะสงฆ์เป็นการศึกษาพระธรรมวินัย หัวใจของพระธรรมวินัยคือการไม่ทำทุจริต 

การเรียนพระธรรมวินัยก็คือการเรียนวิธีไม่ทำทุจริต

ที่ว่านี้ไม่ได้ว่าเอาเอง แต่ว่าตามหลักพระธรรมวินัยที่ปรากฏอันเป็นที่รู้ทั่วกัน นั่นคือ “โอวาทปาติโมกข์” 

ตรงนี้ขออนุญาตขยายความ-อาจจะยาวหน่อย

........................

โอวาทปาติโมกข์นั้นเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้มาแล้วกี่พระองค์ และที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกกี่พระองค์ มีหัวใจของคำสอนที่เรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” ตรงกันหมดทุกพระองค์

ขออนุญาตยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โอวาทปาติโมกข์” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้

.........................................................

โอวาทปาติโมกข์ [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก]

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ เป็นเวลา ๒๐ พรรษาก่อนที่จะโปรดให้สวดปาติโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),

คาถาโอวาทปาติโมกข์ มีดังนี้

สพฺพปาปสฺส อกรณํ 

กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ 

เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี

สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ

อนูปวาโท อนูปฆาโต 

ปาติโมกฺเข จ สํวโร

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ 

ปนฺตญฺจ สยนาสนํ

อธิจิตฺเต จ อาโยโค 

เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ

แปล: 

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ 

การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ 

การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑ 

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง 

พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นบรมธรรม

ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

ผู้เบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ 

ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑ 

ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ 

ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส  

(จบข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ)

.........................................................

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๖ มีนาคม ๒๕๖๗

๑๕:๓๖ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,การศึกษา,พระไตรปิฎก,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.