ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,301)


สัปปายะสภาสถาน

“ที่ประชุมสภาอันน่าสบาย”

อ่านว่า สับ-ปา-ยะ-สะ-พา-สะ-ถาน

ประกอบด้วยคำว่า สัปปายะ + สภา + สถาน

(๑) “สัปปายะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สปฺปาย” อ่านว่า สับ-ปา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ป (หรือลบนิคหิตแล้วซ้อน ป), แปลง อิ ที่ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย แล้วทีฆะ อะ ที่ อ-(ย) เป็น อา ด้วยอำนาจ ณ ปัจจัย (อย > อาย) 

: สํ > สปฺ + ป = สปฺป + อา = สปฺปา + อิ > เอ > อย = สปฺปย + ณ = สปฺปยณ > สปฺปย > สปฺปาย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้พร้อมทั่วถึง” = อยากจะไป อยากจะทำอะไร ก็ไปได้ทำได้ไม่ติดขัด 

“สปฺปาย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ - 

(1) เป็นคำนาม: สิ่งที่เป็นประโยชน์, คุณประโยชน์, การช่วยเหลือ (something beneficial, benefit, help)

(2) เป็นคุณศัพท์: น่าเป็นจริง, มีประโยชน์, เหมาะสม, สมควร (likely, beneficial, fit, suitable)

“สปฺปาย” ในภาษาไทยใช้ว่า “สบาย” (โปรดสังเกตว่าไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ส-) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า -

(1) อยู่ดีกินดี เช่น เดี๋ยวนี้เขาสบายขึ้น ลูก ๆ ทำงานหมดแล้ว, เป็นสุขกายสุขใจ เช่น เวลานี้เขาสบายแล้ว เพราะมีฐานะดีขึ้น ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ.

(2) สะดวก เช่น ทำตามสบายไม่ต้องเกรงใจ มีรถส่วนตัวสบายกว่าไปรถประจำทาง, มักใช้เข้าคู่กับคำ สุข หรือ สะดวก เป็น สุขสบาย หรือ สะดวกสบาย.

(3) พอเหมาะพอดี เช่น เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบาย.

(4) ไม่ลำบากกาย เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องแบกหามเหมือนเมื่อก่อน.

(5) ไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เวลานี้เขาสบายดี ไม่ป่วยไข้.

(6) มีความพอใจเมื่อได้สัมผัส เช่น สบายหู สบายตา สบายกาย.

ความหมายในทางธรรม “สัปปายะ” หมายถึง สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดีและการที่จะพัฒนาชีวิต, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อหนุนในการปฏิบัติงานให้ได้ผลดี ช่วยให้มีความตั้งใจมุ่งมั่น ไม่เสื่อมถอย 

ในทางธรรม ท่านจำแนก “สัปปายะ” ไว้ 7 อย่าง ขอยกคำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [286] สัปปายะ 7 มาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อประกอบการศึกษา ดังนี้

..............

สัปปายะ 7 (สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดีและการที่จะพัฒนาชีวิต, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย — Sappāya: beneficial or advantageous conditions; suitable or agreeable things; things favourable to mental development)

1. อาวาสสัปปายะ (ที่อยู่อันเหมาะ เช่น ปลอดภัย ไม่พลุกพล่านจอแจ — Āvāsa-sappāya: suitable abode) บางแห่งเรียก เสนาสนสัปปายะ

2. โคจรสัปปายะ (แหล่งอาหารอำนวย ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป — Gocara~: suitable resort)

3. ภัสสสัปปายะ (การพูดคุยที่เหมาะกัน เช่น พูดคุยเล่าขานกันแต่ในกถาวัตถุ 10 และพูดแต่พอประมาณ ข่าวสารและสื่อสารที่เอื้อปัญญา — Bhassa~: suitable speech) บางแห่งเรียก ธัมมัสสวนสัปปายะ

4. ปุคคลสัปปายะ (บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น ไม่มีคนร้าย แต่มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ — Puggala~: suitable person)

5. โภชนสัปปายะ (อาหารที่เหมาะกัน เช่น ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ ฉันไม่ยาก — Bhojana~: suitable food) บางแห่งเรียก อาหารสัปปายะ

6. อุตุสัปปายะ (ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะ เช่น ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไปเป็นต้น — Utu~: suitable climate)

7. อิริยาปถสัปปายะ (อิริยาบถที่เหมาะกัน เช่น บางคนถูกกับจงกรม บางคนถูกกับนั่ง ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี มีอิริยาบถสมดุล — Iriyāpatha~: suitable posture)

..............

ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง สัปปายะ:

วิสุทธิมรรคฉบับบาลี ภาค 1 หน้า 161-163

วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2 หน้า 101-104

..............

(๒) “สภา” 

อ่านว่า สะ-พา รากศัพท์มาจาก -

(1) สนฺต (คนดี) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส, ลบ กฺวิ

: สนฺต > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ส), ลบ ส ที่สุดธาตุ (ภาสฺ > ภา) และลบ กฺวิ

: สํ > ส + ภาสฺ = สภาสฺ + กฺวิ = สภาสกฺวิ > สภาส > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด”

(3) สห (คำอุปสรรค = ร่วมกัน) + ภา (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ห ที่ สห (สห > ส) และลบ กฺวิ

: สห > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน”

ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดี ๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่าง ๆ ของบ้านเมือง

“สภา” (อิตถีลิงค์) ทั้งบาลี สันสกฤต และภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“สภา : (คำนาม) องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).”

ในภาษาบาลี “สภา” หมายถึง “สถานที่” แต่ในภาษาไทยนอกจากหมายถึงสถานที่แล้ว ยังหมายถึง “องค์การ” (หรือองค์กร) คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงาน เช่น

- สภาผู้แทนราษฎร

- สภาสตรีแห่งชาติ

- สภามหาวิทยาลัย

- วุฒิสภา

“สภา” ในความหมายนี้เล็งถึงความเป็น “หน่วยงาน” ไม่ได้เล็งถึง “สถานที่” หมายความว่า “สภา” ดังกล่าวนี้จะมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่จะไม่มีสถานที่ตั้ง ก็มีฐานะเป็น “สภา” อยู่ในตัวแล้ว

(๓) “สถาน” 

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล” 

“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

การประสมคำ :

๑ สภา + สถาน = สภาสถาน แปลว่า “สถานที่ประชุม” หมายถึง สถานที่ประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่เรียกรู้กันสั้น ๆ ว่า “ที่ประชุมสภา”

๒ สัปปายะ + สภาสถาน = สัปปายะสภาสถาน แปลว่า “สถานที่ประชุมอันเป็นสัปปายะ” คือ สถานที่ประชุมอันสบาย 

หลักภาษา :

ตามหลักการเขียนคำสมาสสนธิ ชื่อนี้ควรสะกดเป็น “สัปปายสภาสถาน” ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ -ยะ ภาษาไวยากรณ์พูดว่า ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ คือ สัปปาย- ไม่ต้องมีสระ อะ แต่คงอ่านว่า สับ-ปา-ยะ-

แต่คำนี้เป็นวิสามานยนาม หรือที่คำบาลีเรียกว่า “อสาธารณนาม” (proper name) เพราะฉะนั้น จะสะกดอย่างไรต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ของผู้คิดคำนี้ขึ้นมา

“สัปปายะสภาสถาน” เป็นชื่ออาคารรัฐสภาของไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณมุมตะวันตกเฉียงใต้ของสี่แยกเกียกกาย ระหว่างถนนทหารกับถนนสามเสน ในพื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ขยายความ :

คำว่า “สัปปายะสภาสถาน” มีความหมายว่าอย่างไร?

ถอดความคำว่า “สัปปายะ” ให้สอดคล้องกับฐานะของที่ประชุมสภาแห่งแผ่นดิน ตามอัตโนมัตยาธิบายของผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นดังนี้ -

1. อาวาสสัปปายะ = “ที่อยู่สบาย” คือ สถานที่เหมาะสม ทั้งสถานที่ทั้งหมดโดยรวม และสถานที่ย่อย เช่นห้องหับต่าง ๆ

2. โคจรสัปปายะ = “หาอาหารสบาย” คือ แหล่งอาหารการกินหาง่าย ไม่ต้องออกไปนอกพื้นที่

3. ภัสสสัปปายะ = “พูดคุยสบาย” คือเรื่องที่นำเข้าสู่การประชุมปรึกษาหารือกันเป็นเรื่องที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

4. ปุคคลสัปปายะ = “บุคคลสบาย” คือสมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเป็นคนดีมีศีลธรรม มีความรู้ความสารถเหมาะสมแก่หน้าที่ของตน ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

5. โภชนสัปปายะ = “อาหารสบาย” คือมีชนิดของอาหารให้เลือกได้ตามต้องการ (คนละอย่างกับข้อ 2 โคจรสัปปายะ หมายถึงแหล่งอาหารหาง่าย ข้อนี้หมายถึงมีอาหารที่ถูกกับจริตหรือถูกกับสุขภาพของแต่ละคนให้เลือกได้)

6. อุตุสัปปายะ = “ลมฟ้าอากาศสบาย” คือสถานที่ทำงานมีอากาศดี หรือปฏิบัติหน้าที่ในห้วงเวลาที่ดินฟ้าอากาศดีหรือธรรมชาติแวดล้อมเหมาะสม 

7. อิริยาปถสัปปายะ = “อิริยาบถสบาย” คือมีสถานที่และมีเวลาให้ผ่อนคลายได้ตามสมควร 

เมื่อตั้งชื่อว่า “สัปปายะสภาสถาน” ที่ประชุมสภาแห่งแผ่นดินก็ควรประกอบด้วยคุณสมบัติดังอธิบายมานี้ 

แต่โปรดเข้าใจว่า คำอธิบายนี้ไม่ได้เป็นคำรับรองยืนยันว่า ที่ประชุมสภาแห่งแผ่นดินของเราแห่งนี้ ในขณะนี้มีคุณสมบัติตามที่ว่านี้ครบถ้วนแล้ว

อนึ่ง โปรดทราบว่า บาลีวันละคำอธิบายความหมายตามแนวหลักภาษาเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงความหมายตามเจตนาของผู้ตั้งชื่อ

..............

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีที่ประชุมสภา ก็ยังพูดจากันได้

: แต่ถ้าไม่มีธรรมประจำใจ สภาไหน ๆ ก็ไม่มีราคา

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,สัปปายสถาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.