ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,300)


ส่วนกุศลธรรมบูชา

แบ่งคำอย่างไรดี

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ มีรายการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระ ภาคเช้าเวลา 08:00 นาฬิกา และภาคค่ำเวลา 18:00 นาฬิกา มีผู้มีจิตศรัทธาส่งเงินไปบูชาธรรมที่เรียกเป็นคำสามัญว่า “ติดกัณฑ์เทศน์” เมื่อพระแสดงธรรมจบ ผู้ประกาศของทางสถานีจะนำรายชื่อของผู้บริจาคติดกัณฑ์เทศน์มาประกาศอนุโมทนา 

คำประกาศอนุโมทนาจะจบลงด้วยข้อความว่า -

“ทั้งนี้ ทางราชการขออนุโมทนาในส่วนกุศลธรรมบูชาครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง”

..............

คำว่า “ส่วนกุศลธรรมบูชา” แบ่งคำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามเจตนาของผู้คิดข้อความนี้ หรือแบ่งคำอย่างไรจึงจะดี

(๑) ส่วนกุศล + ธรรมบูชา

(๒) ส่วนกุศลธรรม + (ธรรม) บูชา

หรืออีกนัยหนึ่ง “กุศลธรรม” กับ “ธรรมบูชา” น้ำหนักควรจะอยู่ที่คำไหน

ผู้คิดข้อความนี้ต้องการจะให้เป็น “ส่วนกุศลธรรม” หรือ “ส่วนธรรมบูชา” 

หรือว่า -

“ส่วนกุศลธรรม” ก็ได้ 

“ส่วนธรรมบูชา” ก็ดี

ใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง ดีทั้ง 2 คำ

ขยายความ :

(๑) “กุศล” ( -ศล ศ ศาลา)

บาลีเป็น “กุสล” ( -สล ส เสือ) อ่านว่า กุ-สะ-ละ รากศัพท์มาจาก -

(1) กุส (กิเลส; หญ้าคา; โรค) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + อ (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อุ ที่ ลุ (ลุ > ล)

: กุส + ลุ = กุสลุ > กุสล + อ = กุสล แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมดีที่ตัดกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน” (2) “กรรมที่ตัดบาปธรรมได้เหมือนหญ้าคา” (“ธรรมที่ตัดความชั่วอันเป็นดุจหญ้าคา”) (3) “ภาวะที่ตัดโรคอันนอนเนื่องอยู่ในร่างกายออกไปได้” (ตามข้อ (3) นี้หมายถึงความไม่มีโรค)

(2) กุ (แทนศัพท์ “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด, น่ารังเกียจ) + สลฺ (ธาตุ = หวั่นไหว; ปิด, ป้องกัน) + อ (อะ) ปัจจัย

: กุ + สลฺ = กุสล + อ = กุสล แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมที่ยังบาปธรรมอันน่ารังเกียจให้หวั่นไหว” (2) “กรรมเป็นเครื่องปิดประตูอบายที่น่ารังเกียจ”

(3) กุส (ญาณ, ความรู้) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + อ (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ลา (ลา > ล)

: กุส + ลา = กุสลา > กุสล + อ = กุสล แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมที่พึงถือเอาได้ด้วยญาณที่ทำให้บาปเบาบาง” (“ความรู้ที่ทำความชั่วร้ายให้เบาบาง”) (2) “ผู้ถือเอากิจทั้งปวงด้วยปัญญา”

“กุสล” ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความดีงาม, กรรมดี, สิ่งที่ดี, กุศลกรรม, บุญ (good thing, good deeds, virtue, merit, good consciousness) 

“กุสล” ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า ฉลาด, เฉียบแหลม, สันทัด, ชำนาญ; ดีงาม, ถูกต้อง, เป็นกุศล (clever, skilful, expert; good, right, meritorious)

บาลี “กุสล” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “กุศล”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -

“กุศล : (คำนาม) สิ่งที่ดีที่ชอบ, บุญ. (คำวิเศษณ์) ฉลาด. (ส.; ป. กุสล).”

(๒) “ธรรม”

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า -

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ -

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คำสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

(๓) “บูชา”

บาลีเป็น “ปูชา” (ไทย บู- บ ใบไม้ บาลี ปู- ป ปลา) อ่านว่า ปู-ชา รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ปูชฺ + อ = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”

..............

(1) ถ้าเป็น “กุศลธรรม” 

คำว่า “ธรรม” จะหมายถึงสภาพทั่วไป มีความหมายเป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ขึ้นอยู่กับบริบทหรือคำขยาย เช่น -

ถ้ามีคำว่า “กุศล” มาขยาย เป็น “กุศลธรรม” ก็หมายถึงเรื่องที่ดี สิ่งที่ดี

ถ้ามีคำว่า “อกุศล” มาขยาย เป็น “อกุศลธรรม” ก็หมายถึงเรื่องที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่ดี

(2) ถ้าเป็น “ธรรมบูชา”

คำว่า “ธรรม” จะมีความหมายเฉพาะ คือหมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “พระธรรม” เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

“ธรรมบูชา” หมายถึง บูชาพระธรรมในพระรัตนตรัยที่พระท่านนำมาแสดง

..............

ดูก่อนภราดา!

คนเก่าแนะนำว่า -

: ฟังสวด ส่งจิตไปตามถ้อยคำ

: ฟังธรรม ส่งใจไปตามข้อความ

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,กุศลธรรม,แผ่ส่วนกุศล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.