หลักวิชา ไม่ใช่ค่านิยม

----------------------

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ว่าด้วยพระสวดพระอภิธรรมและสวดถวายพรพระ

สวดพระอภิธรรม คือสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ในงานศพ ที่เราคุ้นกันดี เวลาไปในงานก็มักพูดกันว่า “ไปฟังสวด”

“ไปฟังสวด” นั่นแหละหมายถึงไปฟังพระสวดพระอภิธรรม

ประเด็นที่ต้องการพูดไม่ใช่ตัวบทพระอภิธรรมที่พระท่านสวด แต่เป็นเรื่องก่อนลงมือสวด

เริ่มจากจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล รับศีล พอพระให้ศีลจบ ตัส๎มา สีลัง วิโสธะเย 

บางวัด พิธีกรจะอาราธนาธรรม - พ๎รัห๎มา จะ โลกา ... จบแล้วพระจึงเริ่มสวด

บางวัด ไม่มีการอาราธนาธรรม พอพระให้ศีลจบ ตัส๎มา สีลัง วิโสธะเย ก็สวดไปเลย

อาราธนาธรรมก่อน หรือไม่อาราธนา นี่คือ “ค่านิยม”

ไม่ต้องถามว่า อาราธนาหรือไม่ต้องอาราธนา แบบไหนถูกแบบไหนผิด

วัดไหนเคยอาราธนา ก็อาราธนาไป

วัดไหนไม่เคยอาราธนา ก็ไม่ต้องอาราธนา

เพราะนี่เป็นค่านิยมพื้นถิ่น ไม่มีผิดไม่มีถูก

จบ

.....................

คราวนี้มาถึงเรื่องสวดถวายพรพระ

“ถวายพรพระ” คือสวดบทต่อไปนี้ -

๑. นมการปาฐะ (นะโม ๓ จบ)

๒. พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิ โส ภะคะวา ฯเปฯ อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ)

๓. บทถวายพรพระ คือชยมังคลัฏฐกคาถา (พาหุง ฯเปฯ นะโร สะปัญโญ)

๔. ชยปริตฺตคาถา (มะหาการุณิโก นาโถ ฯเปฯ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ)

จบแล้ว สวด ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ฯเปฯ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ต่อไปเลย โดยไม่ต้องหยุดขึ้นใหม่

พูดให้จำกันง่าย ๆ ว่า ถวายพรพระ คือสวด นะโม… อิติปิ โส… พาหุง…มะหากาฯ… ภะวะตุ สัพฯ…

เมื่อสวดจบแล้ว ถ้าเป็นทำบุญวันพระ ก็กล่าวคำบูชาข้าวพระและถวายภัตตาหารให้เป็นของสงฆ์ (ที่นิยมเรียกกันว่าถวายสังฆทาน) แล้วประเคนภัตตาหาร พระฉัน ถ้าเป็นสวดมนต์ในงานพิธีตามบ้าน เจ้าภาพก็ประเคนภัตตาหาร พระฉันต่อไป

.....................

ประเด็นที่ต้องการพูดในเรื่องสวดถวายพรพระก็คือ คำว่า “คัพภินียา” และคำว่า “วิพุธัง” ในบทพาหุง

(๑) “คัพภินียา” ปรากฏอยู่ในวรรคแรกของบทที่ ๕ ข้อความเต็ม ๆ ในบทนี้เป็นดังนี้ (เขียนแบบคำอ่านเพื่อให้อ่านง่าย) -

.........................................................

กัต๎วานะ  กัฏฐะมุทะรัง  อิวะ  คัพภินียา 

จิญจายะ  ทุฏฐะวะจะนัง  ชะนะกายะมัชเฌ 

สันเตนะ  โสมะวิธินา  ชิตะวา  มุนินโท 

ตันเตชะสา  ภะวะตุ  เต  ชะยะมังคะลานิ.

คำแปล :

พระจอมมุนีได้ชนะคำกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา

ผู้เอาไม้กลมผูกที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์

ด้วยวิธีสงบระงับอันงามในท่ามกลางหมู่ชน

ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.

.........................................................

คำว่า “คัพภินียา” ตรงคำว่า “-นี-” (นี สระ อี) พระวัดต่าง ๆ ที่ผมเคยฟัง มักออกเสียงผิดเป็น “-นิ-” (นิ สระ อิ) 

คือสวด “คัพภินียา” เป็น “คัพภินิยา”

ข้อพิสูจน์ว่า “คัพภินิยา” (นิ สระ อิ) ออกเสียงผิด มีดังนี้ -

๑ พุทธชัยมงคลคาถา แต่งเป็นคำฉันท์ที่เรียกว่า “วสันตดิลกฉันท์”

๒ วสันตดิลกฉันท์กำหนดจำนวนคำบาทละ ๑๔ พยางค์

๓ พยางค์ที่ ๑๓ กำหนดให้ใช้คำครุ คือคำเสียงหนัก หมายถึงคำที่มีตัวสะกดหรือสระเสียงยาว

๔ คำว่า “คัพภินียา” “-นี-” เป็นพยางค์ในลำดับที่ ๑๓ จึงต้องเป็นคำครุ-เสียงยาว

๕ “นิ” เป็นคำสระเสียงสั้น ออกเสียงว่า “คัพภินิยา” (นิ สระ อิ) จึงผิดข้อบังคับฉันทลักษณ์

(๒) “วิพุธัง” ปรากฏอยู่ในวรรคแรกของบทที่ ๙ ข้อความเต็ม ๆ ในบทนี้เป็นดังนี้ -

.........................................................

นันโทปะนันทะภุชะคัง  วิพุธัง  มะหิทธิง 

ปุตเตนะ  เถระภุชะเคนะ  ทะมาปะยันโต 

อิทธูปะเทสะวิธินา  ชิตะวา  มุนินโท 

ตันเตชะสา  ภะวะตุ  เต  ชะยะมังคะลานิ. 

คำแปล :

พระจอมมุนีโปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส 

นิรมิตกายเป็นนาคราชไปทรมานพญานาคราชชื่อนันโทปนันทะ

ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า 

ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.

.........................................................

คำว่า “วิพุธํ” นี้ บางวัดบางสำนัก (หลายวัดหลายสำนัก) สวดเป็น วิ-พุด-ทัง คือออกเสียง -พุ- เป็น -พุด-

โปรดทราบว่า คำนี้เป็น “วิพุธัง” ไม่ใช่ “วิพุทธัง” 

-พุ- ไม่ใช้ -พุท-

เป็นคนละคำกัน โปรดออกเสียงให้ถูก

ออกเสียงว่า วิ-พุ-ทัง ไม่ใช่ วิ-พุด-ทัง

ถ้าดูในแผนผังวสันตดิลกฉันท์จะเห็นชัดเจนว่า -พุ- ในคำว่า “วิพุธัง” อยู่ในลำดับคำที่เป็นลหุ คือคำที่เป็นเสียงเบาหรือเสียงสั้น (พุ- เสียงเบาหรือเสียงสั้น, พุท- เสียงหนักหรือเสียงยาว)

ทั้ง ๒ คำที่ว่ามานี้ โปรดดูภาพประกอบ จะเข้าใจชัดเจน

.....................

ข้ออ้างที่ได้ยินมาก็คือ สวดว่า “คัพภินิยา” (-นิ- เสียงสั้น) และ “วิพุทธัง” (-พุท- เสียงยาว) เป็นค่านิยมของวัดนี้ ที่นี่สวดอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว 

โปรดเข้าใจว่า เรื่องนี้อ้างว่าเป็นค่านิยมไม่ได้ขอรับ เรื่องนี้เป็นหลักวิชา ไม่ใช่ค่านิยม

หลักวิชา ถ้าผิด ต้องแก้ไขให้ถูก ไม่ใช่ปล่อยให้ผิดอยู่อย่างนั้น แล้วอ้างว่าเป็นค่านิยม

ขอกราบแทบเท้าพระเดชพระคุณเจ้าอาวาสทุกวัด โปรดสละเวลาเรียกประชุมพระเณรในวัดซักซ้อมเรื่องสวดถวายพรพระตรง ๒ คำนี้ให้ถูกต้อง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

อย่าปล่อยให้สวดผิดไปตลอดกาลนานเทอญเลยขอรับ

เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนบาลีจะต้องบอกกัน และว่ากันตามจริงแล้วเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ที่จะต้องคอยทบทวนตรวจสอบ ไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน

แต่เมื่อท่านเพิกเฉยเลยผ่านนิ่งเงียบกันไปหมด จะให้ทำอย่างไรละขอรับ?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๕ มีนาคม ๒๕๖๗

๑๑:๑๙ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,หลักวิชา, ค่านิยม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.