ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๑)

-----------------------

หมายความอย่างไร

ศีลของภิกษุทั้ง ๒๒๗ ข้อ มีตัวบทบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกเรียกว่า “สิกขาบท” เทียบกับพระราชบัญญัติก็คือที่เรียกว่า “มาตรา” เมื่อจบข้อความแต่ละสิกขาบท จะมีคำจำกัดความเรียกว่า “วิภังค์” คำเก่าเรียกว่า คัมภีร์วิภังค์ พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยใช้คำว่า “สิกขาบทวิภังค์” 

สิกขาบทวิภังค์ตรงกับคำในพระราชบัญญัติที่บอกว่า “ในพระราชบัญญัตินี้ ... หมายความว่า ... ” เช่น -

.........................................................

        ในพระราชบัญญัตินี้ 

         “การศึกษาพระปริยัติธรรม” หมายความว่า การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก

         “วัด” หมายความว่า วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ 

.........................................................

สิกขาบทแต่ละข้อจะมีคำว่า “โย ปน ภิกฺขุ ...” แปลว่า “ภิกษุใด” สิกขาบทวิภังค์ก็จะให้คำจำกัดความว่า “ภิกษุ” ในสิกขาบทนี้หมายถึงใคร ทั้งนี้เพราะภิกษุในพระพุทธศาสนามีที่มาหลายทาง เช่น -

ผู้บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุ ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บวชด้วยวิธีรับไตรสรณคมน์ในสมัยต้น ๆ ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บรรลุธรรมเป็นเสขบุคคล ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บรรลุธรรมเป็นอเสขบุคคล ก็เป็น “ภิกษุ” 

ผู้บวชด้วยวิธีที่สงฆ์ประชุมกันอนุมัติดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็เป็น “ภิกษุ” 

สิกขาบทวิภังค์บอกที่มาของภิกษุดังนี้แล้วก็ระบุว่า “ภิกษุ” ในสิกขาบทนี้หมายถึงผู้บวชด้วยวิธีที่สงฆ์ประชุมกันอนุมัติ (ภาษาวิชาการเรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา)

การให้คำจำกัดความแบบนี้ นักเลงกฎหมายอาจพูดได้ว่า ภิกษุที่บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุเสพเมถุนได้ ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะไม่ใช่ภิกษุที่บวชด้วยวิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา

ในแง่ภาษาย่อมมองได้เช่นนั้น แต่ภาษาในพระวินัยไม่ได้คำนึงเฉพาะภาษาอย่างเดียว หากแต่คำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วย

ข้อเท็จจริงก็คือ ภิกษุที่มาด้วยวิธีอื่น ๆ เป็นภิกษุในสมัยต้นแห่งการประกาศพระศาสนา บวชแล้วก็ปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรมหมดสิ้น และในเวลาที่ทรงบัญญัติสิกขาบทต่าง ๆ ท่านเหล่านั้นก็อยู่ในฐานะเป็น “ภิกษุ” แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะละเมิดสิกขาบทได้อีกแล้ว ถ้าไม่จำกัดความไว้ให้ชัดเจน ก็จะมีผู้กล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทเหวี่ยงแหทั่วไปหมด ไม่รู้จักแยกแยะ ไม่สมกับที่ยกย่องว่าเป็นสัพพัญญู

......................

ในตัวบทอาบัติปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบท จะลงท้ายด้วยคำที่เหมือนกัน คือ “ปาราชิโก โหติ อสํวาโส” มีคำแปลว่า เมื่อภิกษุประพฤติล่วงละเมิดทั้ง ๔ กรณี (เสพเมถุน ลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริ) ก็จะ “เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส”

“ปาราชิโก” แปลว่า “ผู้ปาราชิก” (ผู้พ่ายแพ้)

“โหติ” แปลว่า “ย่อมเป็น”

“อสํวาโส” แปลว่า “ไม่มีสังวาส”

......................

“ปาราชิโก โหติ อสํวาโส เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส” หมายความว่าอย่างไร?

สิกขาบทวิภังค์ขยายความไว้ดังนี้ -

.........................................................

         ปาราชิโก  โหตีติ  เสยฺยถาปิ  นาม  ปุริโส  สีสจฺฉินฺโน  อภพฺโพ  เตน  สรีรพนฺธเนน  ชีวิตุํ  เอวเมว  ภิกฺขุ  เมถุนํ  ธมฺมํ  ปฏิเสวิตฺวา  อสฺสมโณ  โหติ  อสกฺยปุตฺติโย  เตน  วุจฺจติ  ปาราชิโก  โหตีติ  ฯ

         คำว่า ปาราชิโก  โหติ หมายความว่า บุรุษถูกตัดศีรษะแล้วไม่อาจมีสรีระคุมกันมีชีวิตอยู่ได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้วย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปาราชิโก  โหติ (เป็นปาราชิก) 

         อสํวาโสติ  สํวาโส  นาม เอกกมฺมํ เอกุทฺเทโส สมสิกฺขาตา  เอโส  สํวาโส  นาม  โส  เตน  สทฺธึ  นตฺถิ  เตน  วุจฺจติ  อสํวาโสติ  ฯ

         คำว่า อสํวาโส หมายความว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีร่วมกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้นจึงตรัสว่า อสํวาโส (ไม่มีสังวาส)

ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๓๖-๓๗

.........................................................

โปรดสังเกตว่า ตามคำอธิบายในสิกขาบทวิภังค์ ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระทันที ไม่มีข้อแม้

คำว่า “อสฺสมโณ  โหติ” แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมไม่เป็นสมณะ” คือที่ผมใช้คำว่า “ขาดจากความเป็นพระ”

......................

เมื่อมีพระต้องอาบัติปาราชิก-เช่นเสพเมถุน มีความเข้าใจกันว่า ต้องลาสิกขา-คือต้องสึก-ก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ และมีข่าวตามมาว่าพระที่ปาราชิกนั้น “ยอมลาสิกขา” ก็ยิ่งทำให้แน่ใจว่า ต้องสึกก่อน “ภิกขุภาวะ” คือความเป็นพระจึงสิ้นสุดลง ดังจะให้เข้าใจต่อไปว่า พระที่ต้องอาบัติปาราชิก ถ้าไม่ลาสิกขาก็ยังคงเป็นพระอยู่ได้ต่อไป

ต่อจากนั้นก็มีผู้รู้บาลียกข้อความจากคัมภีร์มาอ้างว่า พระที่ต้องอาบัติปาราชิก ถ้าไม่ลาสิกขาก็ยังคงเป็นพระอยู่ได้ต่อไป-มีแสดงไว้ในคัมภีร์

คัมภีร์ฉบับหนึ่งบอกไว้ดังนี้ -

.........................................................

น  หิ  ปาราชิกํ  อนาปนฺนสฺส  สิกฺขํ  อปจฺจกฺขาย  วิพฺภมิสฺสามีติ  คิหิลิงฺคคฺคหณมตฺเตน   ภิกฺขุภาโว   วินสฺสติ  ฯ  ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต  ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว  ฯ

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๒ หน้า ๑๖๐

.........................................................

แปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ -

.........................................................

ปาราชิกํ  อนาปนฺนสฺส  

ภิกษุที่มิได้ต้องอาบัติปาราชิก

สิกฺขํ  อปจฺจกฺขาย  

ยังไม่ได้บอกลาสิกขา

(คือยังไม่ได้บอกให้ใครรู้ว่า ฉันสึกละนะ)

วิพฺภมิสฺสามีติ  คิหิลิงฺคคฺคหณมตฺเตน

เพียงแต่นึกว่าจะสึก แล้วแต่งตัวเป็นคฤหัสถ์

น  หิ  ภิกฺขุภาโว   วินสฺสติ 

ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  

(ส่วน) ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก

ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต

(แต่) ยังอยู่ในภิกขุลิงคะ

(ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ยังนุ่งสบงทรงจีวรอย่างพระอยู่)

ยาว  น  ปฏิชานาติ

ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับ (ว่าตนต้องอาบัติปาราชิก)

ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว

ภิกขุภาวะ-ความเป็นพระก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

.........................................................

ดูปาราชิกในพระบาลีกับปาราชิกในคัมภีร์อธิบายความ จะเห็นความแตกต่าง ดังนี้ -

ปาราชิกในพระบาลีหรือปาราชิกของพระพุทธเจ้า:

.........................................................

ปาราชิโก โหติ อสํวาโส

เป็นปาราชิก ไม่มีสังวาส (อยู่ร่วมกับภิกษุปกติไม่ได้)

อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย

ขาดจากความพระ ไม่นับเป็นลูกพระพุทธเจ้าอีกต่อไป

.........................................................

ปาราชิกในคัมภีร์อธิบายความ:

.........................................................

ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต

ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ยังนุ่งสบงทรงจีวรอย่างพระอยู่

ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว

ยังไม่ยอมรับ ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

.........................................................

พูดชัด ๆ -

ปาราชิกของพระพุทธเจ้า: หมดความเป็นพระทันที

ปาราชิกของอาจารย์ทั้งหลาย: ไม่ยอมรับซะอย่าง ก็ยังเป็นพระอยู่ได้

จะเอาปาราชิกของใครดี?

นักเรียนบาลีช่วยกันคิดหน่อย!

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๐ เมษายน ๒๕๖๗

๑๗:๔๘

 

[full-post]

ปกิณกธรรม,ปาราชิโก,อสํวาโส

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.