ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๒)

-----------------------

หมายความอย่างไร

หลักของคัมภีร์บาลี คือ -

.........................................................

พระบาลีคือพระไตรปิฎก เป็นชั้นสูงสุด

อรรถกถาเป็นคัมภีร์อธิบายพระบาลี

ฎีกาเป็นคัมภีร์อธิบายอรรถกถา (อาจรวมถึงพระบาลีด้วย)

อนุฎีกาเป็นคัมภีร์อธิบายฎีกา (อาจรวมถึงอรรถกถาและพระบาลีด้วย)

.........................................................

วัฒนธรรมของคัมภีร์บาลี คือ -

.........................................................

อรรถกถาจะไม่ขัดแย้งกับพระบาลี

ฎีกาจะไม่ขัดแย้งกับอรรถกถาและพระบาลี

อนุฎีกาจะไม่ขัดแย้งกับฎีกา อรรถกถา และพระบาลี

.........................................................

ขัดแย้ง ก็อย่างเช่น -

พระบาลีบอกว่า-ขวา

อรรถกถาบอกว่า-ซ้าย

การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อันเป็นส่วนประกอบย่อมทำได้ ความเห็นประกอบนี้อาจมีมาได้หลายทาง เห็นตรงกันก็มี เห็นต่างกันก็มี แต่จะไม่ขัดแย้งกันในหลักการที่แสดงไว้ในพระบาลี

.........................................................

หลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ยอมรับกันมาก็คือ หากจะพึงมีความเห็นไม่ตรงกันจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ท่านให้ถือเอาพระบาลีอันเป็นชั้นสูงสุดเป็นหลัก

.........................................................

อนึ่ง เรื่องที่พึงระวังก็คือ เวลาศึกษาคัมภีร์อรรถกถาฎีกาหรือที่ผมเรียกเป็นคำรวมว่า คัมภีร์อธิบายความ พึงจับประเด็นให้ถูกใน ๒ เรื่อง คือ -

หนึ่ง-ท่านต้องการอธิบายประเด็นไหน

และสอง-ท่านอธิบายว่าอย่างไร

หนึ่ง-ท่านต้องการอธิบายประเด็นหนึ่ง แต่เราเอาคำอธิบายมาใช้กับอีกประเด็นหนึ่ง ก็ผิดประเด็น จริงอยู่ บางประเด็นเป็นคำอธิบายที่อนุโลมเข้ากันได้ แต่บางประเด็นท่านมีคำอธิบายเฉพาะประเด็นนั้น ๆ อยู่แล้วก็ต้องตัดสินด้วยคำอธิบายเฉพาะของประเด็นนั้น ไม่ใช่เอาคำอธิบายประเด็นหนึ่งไปตัดสินอีกประเด็นหนึ่ง

ที่ว่ามานี้เผื่อยังไม่เข้าใจ ขอเทียบให้เห็นง่าย ๆ 

ภิกษุฉันสุรา ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อาหารบางชนิดเขาผสมสุราลงไปเพื่อปรุงรส

ภิกษุฉันอาหารนั้น 

จะเอาเกณฑ์เรื่องฉันสุรามาปรับอาบัติมิได้

คำอธิบายประเด็นไหน ใช้ให้ตรงกับประเด็นนั้น ก็ทำนองเดียวกัน

สอง-ท่านอธิบายว่าอย่างไร นี่เป็นหลักวิชาล้วน ๆ ทั้งนี้เพราะคัมภีร์เป็นภาษาบาลี ต้องแปล และต้องแปลให้ถูก แล้วตีความหรือขบความให้แตกว่าท่านต้องการจะพูดว่าอย่างไร แปลถูกตามที่เรียนมา แต่ตีความผิดเพราะเข้าไม่ถึงอรรถรสของภาษา ความมุ่งหมายที่ท่านต้องการจะพูดก็คลาดเคลื่อน ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องเอาไปปฏิบัติ ก็อาจจะปฏิบัติผิดไปจากเจตนา

ตัวอย่างง่าย ๆ ของการตีความก็อย่างเช่นข้อความว่า -

.........................................................

เต  วยปฺปตฺเต  ฆรพนฺธเนน  พนฺธึสุ. 

(ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ จักขุปาลเถรวัตถุ)

พ่อแม่ผูกลูกผู้ถึงแล้วซึ่งวัยด้วยเครื่องผูกคือเรือน

.........................................................

ดูคำบาลีแล้ว แปลถูกต้องตามนี้ทุกคำ 

ถามว่า พ่อแม่ทำอะไรกับลูก?

ถ้าเข้าไม่ถึงสำนวนภาษา แม้จะแปลได้แปลถูก ก็อาจจะเข้าใจความหมายผิดไปไกล เพราะฉะนั้นจึงว่า-ท่านอธิบายว่าอย่างไร ต้องเข้าใจได้ถูกต้องด้วย

......................

พอได้หลักดังที่ว่านี้แล้ว ทีนี้ก็ลองพิจารณาข้อความในคัมภีร์อธิบายความที่ยกมาเสนอในตอนที่แล้ว

.........................................................

น  หิ  ปาราชิกํ  อนาปนฺนสฺส  สิกฺขํ  อปจฺจกฺขาย  วิพฺภมิสฺสามีติ  คิหิลิงฺคคฺคหณมตฺเตน   ภิกฺขุภาโว   วินสฺสติ  ฯ  ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต  ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว  ฯ

ภิกษุที่มิได้ต้องอาบัติปาราชิก ยังไม่ได้บอกลาสิกขา เพียงแต่นึกว่าจะสึก แล้วแต่งตัวเป็นคฤหัสถ์ ก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ (ส่วน) ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก (แต่) ยังอยู่ในภิกขุลิงคะ (แต่งตัวอย่างพระ) ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับ (ว่าตนต้องอาบัติปาราชิก) ภิกขุภาวะ (ความเป็นพระ) ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๒ หน้า ๑๖๐

.........................................................

ที่มาของข้อความนี้คือ คัมภีร์สารัตถทีปนี 

ก่อนที่จะช่วยกันพิจารณาประเด็นที่คัมภีร์สารัตถทีปนีแสดงไว้ ขออนุญาตแวะหาความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์สารัตถทีปนีสักเล็กน้อย

สารัตถทีปนีคือคัมภีร์อะไร พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า -

.........................................................

สารัตถทีปนี : ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระแห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙)

.........................................................

คัมภีร์สารัตถทีปนีพิมพ์เป็นบาลีอักษรไทย ๔ เล่มหรือ ๔ ภาค ใช้เป็นคัมภีร์ประกอบการศึกษาชั้นเปรียญธรรม ๖ และ ๗ ประโยค ตามหลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน

“คัมภีร์ประกอบการศึกษา” หมายความว่า เป็นหนังสืออ่านประกอบ จะอ่านหรือไม่ก็ได้ นักเรียนบาลีบ้านเราส่วนมากไม่อ่าน เพราะไม่ได้เอามาเป็นข้อสอบ 

นักเรียนบาลีบ้านเราศึกษาเฉพาะคัมภีร์ที่ออกเป็นข้อสอบเท่านั้น แทบไม่ได้แตะต้องคัมภีร์ประกอบ

อย่างไรก็ตาม ในอดีตคณะสงฆ์ไทยเคยกำหนดให้คัมภีร์สารัตถทีปนีเป็นแบบเรียนในหลักสูตรบาลีชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค จนกระทั่งมายกเลิกในสมัยกลางรัชกาลที่ ๕ 

เป็นอันว่านักเรียนบาลีรุ่นเก่าของเราเรียนคัมภีร์สารัตถทีปนี แต่นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว แม้จะกำหนดให้เป็นคัมภีร์ประกอบก็ไม่มีใครสนใจ เพราะไม่มีผลโดยตรงต่อการสอบได้

.........................................................

ถ้าการเรียนบาลีในบ้านเรายังเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป-คือเน้นการสอบได้ แต่ไม่ได้เน้นการมีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยคือพระไตรปิฎก ผลก็จะออกมาเป็นอย่างนี้เรื่อยไป-คือนักเรียนบาลีที่สอบได้หาไม่ยาก แต่นักเรียนบาลีที่มีความรู้หลักพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกหาไม่ง่าย

.........................................................

คัมภีร์สารัตถทีปนีนี้ ท่านอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.๙ สำนักวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ได้แปลเป็นไทยจบครบทั้ง ๔ ภาค และพิมพ์เป็นเล่มแล้วครบถ้วน

ผมไม่มีข้อมูลว่า คัมภีร์สารัตถทีปนีฉบับแปลนี้ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และจัดการพิมพ์เผยแพร่ ลองคลิกเข้าไปที่ google ก็เห็นมีจำหน่ายที่เว็บไซต์ขายหนังสือด้วย 

ผมอยากให้มีใครสักคนที่มีกุศลจิตและมีฉันทะอุตสาหะรับเป็นธุระติดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์-ซึ่งเดาว่าน่าจะเป็นมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ นั่นเอง เอาคัมภีร์สารัตถทีปนีฉบับแปลมาทำเป็นหนังสืออีบุ๊ก มีไฟล์ PDF ให้ดาวน์โหลดได้ หรือท่านผู้ใดสามารถหาหนังสือมาทำเป็นอีบุ๊กดาวน์โหลดได้ด้วยวิธีการหรือช่องทางอย่างใดอย่างหนึ่งที่สุจริต ก็จะเป็นคุณูปการแก่การศึกษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง

ผมเองมีคัมภีร์สารัตถทีปนีฉบับแปลที่เป็นเล่มกระดาษครบชุดครับ แต่อยากให้นักเรียนบาลีทั้งหลายได้มีไว้ด้วย กลไกไฮเทคในปัจจุบันช่วยให้อ่านหนังสือจากหน้าจอสะดวกสบายกว่ายกเล่มกระดาษมากางอ่าน ขอแรงช่วยกันคิดหน่อยนะครับ

นักเรียนบาลีแก่ ๆ คนหนึ่ง ฝากความหวังไว้กับนักเรียนบาลีหนุ่ม ๆ ครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๑ เมษายน ๒๕๖๗

๑๘:๐๐

 

[full-post]

ปกิณกธรรม,ปาราชิโก,อสํวาโส,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.