ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,321)


อิณาทาน

ฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า อิ-นา-ทาน

แยกศัพท์เป็น อิณ + อาทาน

(๑) “อิณ”

บาลีอ่านว่า อิ-นะ รากศัพท์มาจาก -

(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ 

: อิ + ยุ > อน = อิน > อิณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความงอกงาม” (คือมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น)

(2) อิณฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย

: อิณฺ + อ = อิณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความงอกงาม” 

“อิณ” หมายถึง หนี้ (debt)

บาลี “อิณ” ภาษาไทยใช้เป็น “อิณะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“อิณะ : (คำนาม) หนี้ เช่น ราชิณ (ราช + อิณ) ว่า หนี้หลวง. (ป.; ส. ฤณ).”

(๒) “อาทาน” 

บาลีอ่านว่า อา-ทา-นะ ประกอบด้วย อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, กลับความ) + ทาน 

(1) ทาน รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งที่ให้”

คำว่า “ทาน” มีความหมายว่า -

๑ การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

๒ สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

(2) อา + ทาน = อาทาน 

“อา” ในที่นี้ทำหน้าที่ “กลับความ” เช่น -

คม หมายถึง “ไป” 

อาคม กลับความ หมายถึง “มา” 

ดังนั้น : ทาน แปลว่า “ให้” 

“อาทาน” กลับความ จึงหมายถึง “เอา” คือ รับเอา ถือเอา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อาทาน” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า - 

“อาทาน : (คำนาม) การถือเอา, การรับ, การยึดถือ, มักใช้เป็นส่วนท้ายศัพท์ เช่น อุปาทาน สมาทาน. (ป., ส.).”

อิณ + อาทาน = อิณาทาน (อิ-นา-ทา-นะ) แปลว่า “การถือเอาหนี้” หมายถึง การกู้หนี้ คือหยิบยืมเงินของผู้อื่นมาใช้

“อิณาทาน” ใช้ในภาษาไทย อ่านแบบไทยว่า อิ-นา-ทาน หมายถึง การกู้หนี้ยืมสิน 

“อิณาทาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อทินนาทาน” ซึ่งเป็นศัพท์ทางธรรมเช่นเดียวกับ “อิณาทาน” บอกไว้ดังนี้ -

“อทินนาทาน : (คำนาม) การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แก่ตน, การลักทรัพย์. (ป.).”

ดังนั้น ถ้าจะมี “อิณาทาน” ใช้ในภาษาไทยและมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ก็ย่อมไม่ผิดกติกาแต่ประการใด

จึงขอฝาก “อิณาทาน” ไว้ - “ในอ้อมใจของมิตรแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง

ขยายความ :

“กู้หนี้” ประโยคบาลีว่า “อิณํ  คณฺหาติ” แปลตามศัพท์ว่า “ถือเอาซึ่งหนี้” หมายถึง ขอยืมเงินหรือกู้หนี้ (to borrow money or take up a loan) 

“ชำระหนี้” ประโยคบาลีว่า “อิณํ  มุญฺจติ” แปลตามศัพท์ว่า “เปลื้องซึ่งหนี้” หมายถึง ชำระหนี้ (to discharge a debt)

หนังสือ พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 แบบเรียนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม นักธรรมชั้นตรี มีสุภาษิตบทหนึ่งที่นักเรียนนักธรรมจำกันได้ดี คือ -

อิณาทานํ  ทุกขํ  โลเก.

การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก

ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่มาของสุภาษิตบทนี้ พระพุทธพจน์อันเป็นต้นฉบับมีข้อความว่า -

..............

อิณาทานมฺปิ  ภิกฺขเว  ทุกฺขํ  โลกสฺมึ  กามโภคิโน.

แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก

ที่มา: อิณสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 316

..............

หนังสืออธิบายธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 1 แบบประกอบนักธรรมชั้นตรี ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย อธิบายเรื่องสุขของคฤหัสถ์ 4 อย่าง สุขอย่างที่ 3 คือ สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้ อธิบายว่า -

..............

... เมื่อได้แบ่งทรัพย์ออกเป็นส่วน ๆ ใช้เองบ้าง ทำบุญบ้าง ลงทุนประกอบอาชีพบ้าง เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินบ้าง ก็เป็นไท ไม่ตกเป็นทาสใคร ไม่ต้องกู้หนี้ใคร มองเห็นโทษในการกู้หนี้ตามพระบาลีว่า อิณาทานํ  ทุกฺขํ  โลเก การกู้หนี้เป็นทุกข์ในโลก เมื่อตนไม่มีหนี้ติดตัวก็ย่อมมีความสุขอิ่มใจว่า “เราไม่มีหนี้ สบาย” ...

..............

อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก อธิบายเรื่องการกู้หนี้เป็นทุกข์ไว้ตอนหนึ่งว่า -

..............

คนเราเมื่อจนไม่มีจะกินก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา ก็เป็นทุกข์

เมื่อไม่มีให้เขา ถูกเขาทวง ก็เป็นทุกข์

เขาทวงหนัก ๆ เข้าอายเขา จึงพยายามหลบหน้า ก็เป็นทุกข์

เมื่อไม่มีปัญญาใช้หนี้เขา ถูกเขาจับหรือฟ้องร้อง ก็เป็นทุกข์

ตกลงทุกข์ทุกขั้นตอนเลย 

ที่มา: คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ มติชนออนไลน์ 

วันที่ 8 ธันวาคม 2562

..............

ดูก่อนภราดา!

ปริศนาธรรม -

: กู้หนี้ใหม่

: ใช้หนี้เก่า

คืออะไร ใครรู้บ้าง


[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,อิณาทาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.