ทองย้อย แสงสินชัย

#บาลีวันละคำ (4,320)


อย่าประวิสรรชนีย์กลางคำ

คืออย่าใส่สระ อะ กลางคำสมาส

ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่แน่ใจว่าเด็กไทยรุ่นใหม่รู้จักคำว่า “วิสรรชนีย์” หรือเปล่า เนื่องจากสังเกตเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ห่างเหินจากพจนานุกรมกันมาก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า - 

“วิสรรชนีย์ : (คำนาม) เครื่องหมายสระรูปดังนี้ ะ ใช้ประหลังอักษร. (ส. วิสรฺชนีย).”

คำว่า “ใช้ประหลังอักษร” คือทำอะไรหลังอักษร?

คำว่า “ประ” ดูเป็นคำง่าย ๆ แต่ถ้าถามว่า ที่เรียกว่า “ประ” คือทำอะไรหรือทำอย่างไร ก็อาจตอบไม่ถูก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ประ” ไว้ 5 คำ บอกไว้ดังนี้ - 

(1) ประ- ๑ : ใช้เติมหน้าคำอื่นเพื่อให้คำหนักแน่นขึ้น เช่น ชิด เป็น ประชิด, ท้วง เป็น ประท้วง; คำที่แผลงมาจาก ผ เช่น ผทม เป็น ประทม แล้วแผลง ประ เป็น บรร เช่น ประทม เป็น บรรทม.

(2) ประ ๒ : (คำกริยา) ปะทะ เช่น ประหมัด, กระทบ, ระ, เช่น ผมประบ่า.

(3) ประ ๓ : (คำกริยา) ทำให้เป็นจุด ๆ เช่น ประไข่ปลา, ทำให้เป็นจุด ๆ หรือเม็ด ๆ ทั่วไปอย่างประแป้ง.

(4) ประ ๔ : (ภาษาถิ่น-ปักษ์ใต้, มลายู) (คำนาม) ลูกกระ. (ดู กระ ๒).

(5) ประ ๕ : ดู กระ ๓.

ดูตามพจนานุกรมฯ “ประ” ที่น่าจะมีความหมายตรงที่สุดคือ “ประ ๓” ซึ่งมีความหมายว่า “ทำให้เป็นจุด ๆ”

ดูต่อไปที่ “ประ ๓” ก็จะพบลูกคำว่า “ประวิสรรชนีย์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ -

“ประวิสรรชนีย์ : (คำกริยา) ใส่เครื่องหมายวิสรรชนีย์.”

“ประวิสรรชนีย์” พูดภาษาปากเข้าใจง่าย ๆ คือ ใส่สระ อะ หลังอักษร

ต่อไปก็หาความรู้กันว่า “วิสรรชนีย์” แปลว่าอะไร

“วิสรรชนีย์” อ่านว่า วิ-สัน-ชะ-นี พจนานุกรมฯ บอกว่าคำสันสกฤตเป็น “วิสรฺชนีย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ฉบับที่ผู้เขียนบีวันละคำใช้ค้นคว้าไม่ได้เก็บคำว่า “วิสรฺชนีย” ไว้ แต่มีคำว่า “วิสรฺชน” บอกไว้ดังนี้ -

“วิสรฺชน : (คำนาม) ทาน; การสละ; การส่งหรือใช้ไป; การปลดหรือไล่ออก; a gift; quitting; sending; dismissing or sending away.”

“วิสรฺชน” ในสันสกฤตตรงกับบาลีว่า “วิสฺสชฺชน” และมีอีกคำหนึ่งที่รากศัพท์เดียวกับ “วิสฺสชฺชน” คือ “วิสฺสคฺค” (ช กับ ค แปลงกันได้ มีทั่วไปในบาลี เช่น สํเวชน > สํเวค = สังเวช, วิภชน > วิภาค = การแบ่ง)

“วิสฺสคฺค” อ่านว่า วิด-สัก-คะ แปลว่า การจ่ายให้, การบริการ, การบริจาค, การแจก, การอด [อาหาร] (dispensing, serving, donation, giving out, holding [a meal])

บาลี “วิสฺสคฺค” สันสกฤตเป็น “วิสรฺค”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “วิสรฺค” ไว้ 2 คำ ขอยกมาเฉพาะคำที่ประสงค์ดังนี้ -

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วิสรฺค : (คำนาม) ‘วิสรรค์,’ มฤทุมหาปราณหรือวิสรรค์, อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : ), และเปนเครื่องหมายอันใช้แทนอักษร ส หรือ ร, ตัวสกดของวิภัตติ์ต่างๆ ทั้งนามและกริยา, ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี;’ the soft aspirate or Visarga, marked by two perpendicular dots, thus ( : ), and as the substitute for the letters ส or ร, the termination of various inflections both of nouns and verbs.”

ได้เค้าที่คำว่า “วิสรฺค” ในสันสกฤต

คำจำกัดความที่ว่า “อันหมายด้วยจุดตั้งได้ฉากสองจุดดังนี้ ( : )” เป็นเค้าว่า เครื่องหมาย “:” ดังนี้นี่เองที่หนังสือไทยเอามาแปลงรูปเป็น -ะ 

อาจารย์ภาษาไทยตั้งชื่อเครื่องหมายนี้ว่า “วิสรรชนีย์” ตรงกับที่คำนิยามบอกต่อไปว่า “ไทเรียกว่า ‘วิสรรชนี’ ” 

นักเรียนไทยเรียกกันเป็นสามัญว่า “สระ อะ”

เวลาใช้สระ อะ ลงที่ท้ายพยัญชนะ เรียกเป็นภาษาไวยากรณ์ว่า “ประวิสรรชนีย์” เรียกแบบภาษาปากว่า “ใส่สระ อะ”

แถม :

คำที่ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ = ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ แต่มักมีผู้เขียนผิด คือใส่สระ อะ กลางคำเข้าไปด้วยมีอยู่หลายคำ เช่น -

กาลเทศะ อย่าเขียนเป็น กาละเทศะ

ธุรกิจ อย่าเขียนเป็น ธุระกิจ

โทณพราหมณ์ อย่าเขียนเป็น โทณะพราหมณ์

บูรณปฏิสังขรณ์ อย่าเขียนเป็น บูรณะปฏิสังขรณ์

มรณภาพ อย่าเขียนเป็น มรณะภาพ

สมณทูต อย่าเขียนเป็น สมณะทูต

สาธารณสุข อย่าเขียนเป็น สาธารณะสุข

หัตถศิลป์ อย่าเขียนเป็น หัตถะศิลป์

สักการบูชา อย่าเขียนเป็น สักการะบูชา

อารยประเทศ อย่าเขียนเป็น อารยะประเทศ

อุปการคุณ อย่าเขียนเป็น อุปการะคุณ

ฯลฯ

คำจำพวกนี้ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ = ไม่ต้องมีสระ อะ กลางคำ

ที่ยกคำเขียนผิดมาเทียบไว้ด้วยนั้น โปรดเข้าใจว่า เพื่อให้เห็นหน้าตาของคำผิด เหมือนชี้ให้ดูตัวคนร้าย เจอที่ไหนจะได้รู้จักและรู้ทัน

ไม่ได้มีเจตนาจะให้เห็นคำผิดติดตาแล้วเอาไปเขียนตามแต่ประการใดทั้งสิ้น

..............

ดูก่อนภราดา!

ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ

: ใช้ภาษาวิปลาส

: สมบัติของชาติก็วิปริต

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,ประวิสรรชนีย์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.