ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๔)

-----------------------

หมายความอย่างไร

“อัตถโยชนา” หรือที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โยชนา” เป็นคัมภีร์อธิบายความหมายของศัพท์และความสัมพันธ์ระหว่างศัพท์ในประโยคบาลี แสดงไวยากรณ์ และแยกแยะให้เข้าใจเชิงชั้นของศัพท์ที่ปรากฏในประโยคนั้น ๆ เป็นคัมภีร์ประกอบหรือหนังสือคู่มือ ช่วยให้การแปลคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

สรุปว่า คัมภีร์อัตถโยชนามุ่งแสดงหลักภาษา ไม่ได้มุ่งอธิบายหลักธรรม

คัมภีร์อัตถโยชนาเป็นภาษาบาลี ไม่มีแปลเป็นภาษาไทย ผู้ที่จะอ่านคัมภีร์อัตถโยชนารู้เรื่องจึงต้องรู้ภาษาบาลีในระดับใช้งานได้ดี

คัมภีร์อัตถโยชนาเป็นคัมภีร์อธิบายความในอรรถกถาลงมา (ไม่มีคัมภีร์อัตถโยชนาที่อธิบายความในพระบาลีพระไตรปิฎก) ฉบับหนึ่งก็อธิบายเฉพาะอรรถกถาหรือฎีกาฉบับใดฉบับหนึ่ง ไม่ใช่เอาอรรถกถาหรือฎีกาทุกฉบับมาอธิบายรวมกัน คัมภีร์อัตถโยชนามีครบทั้งสามสายในพระไตรปิฎก

หลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์เรียนคัมภีร์ ๕ คัมภีร์ คือ -

๑ ธัมมปทัฏฐกถา (สายพระสูตร)

๒ มังคลัตถทีปนี (ปกรณ์พิเศษ)

๓ สมันตปาสาทิกา (สายพระวินัย)

๔ วิสุทธิมรรค (ปกรณ์พิเศษ)

๕ อภิธัมมัตถวิภาวินี (สายพระอภิธรรม)

ทั้ง ๕ คัมภีร์นี้ มีคัมภีร์อัตถโยชนาที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยเพียง ๒ คัมภีร์ คือ อัตถโยชนาของคัมภีร์สมันตปาสาทิกา และอัตถโยชนาของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี

แปลว่า นักเรียนบาลีบ้านเราได้หยิบจับคัมภีร์อัตถโยชนาเพียง ๒ ฉบับเท่านั้น

และธรรมชาติของนักเรียนบาลีบ้านเรา เปิดอัตถโยชนาก็เพียงเพื่อจะดูว่า ศัพท์นี้โยคอะไร

กล่าวคือ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของอัตถโยชนาก็คือ การบอกศัพท์ที่ต้องใส่เพิ่มเข้ามา ที่เรียกว่า “โยค” 

เนื่องจากประโยคภาษาบาลีกล่าวถึงคำนามใดครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อจะกล่าวถึงคำนามนั้นอีก นิยมใช้คำสรรพนามแทน สรรพนามที่ใช้เป็นพื้นคือ ต-ศัพท์ (ตะ-สับ) แปลว่า “นั้น” อาจแจกวิภัตติเป็น -

โส = อันว่า-นั้น 

ตํ = ซึ่ง-นั้น

ตสฺมึ = ใน-นั้น

เวลาแปลต้องเพิ่มศัพท์เข้ามาให้ถูกต้องว่า “อะไร-นั้น” เช่น คนนั้น สัตว์นั้น ต้นไม้นั้น ธรรมะข้อนั้น ถ้าใส่ศัพท์ผิด ความหมายก็จะเพี้ยนไป ตรงนี้แหละเป็นหน้าที่ของอัตถโยชนาที่จะบอกศัพท์ที่จะต้องใส่เพิ่มเข้ามา

นักเรียนบาลีบ้านเรา ถ้าจะเปิดอัตถโยชนา ก็จะเปิดเพื่อดูศัพท์ที่จะต้องใส่เพิ่มเข้ามานี่แหละ ถามกันติดปากว่า โส-โยคอะไร ตํ-โยคอะไร ตสฺมึ-โยคอะไร 

เปิดอัตถโยชนาเพื่อจะดูตรงนี้เท่านั้น 

พอรู้ว่าโยคอะไรแล้วก็ปิด 

ไปเจอศัพท์ที่ไม่รู้ว่าโยคอะไรเข้าอีก ก็ค่อยมาเปิดอีก 

นักเรียนบาลีบ้านเราใช้ประโยชน์จากอัตถโยชนาเฉพาะเรื่องนี้มากที่สุด เรื่องอื่น ๆ ใช้น้อยที่สุดหรือไม่เคยใช้เลย

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าคัมภีร์อัตถโยชนามีสถานะเหมือนหนังสืออ้างอิงชนิดหนึ่ง นักเรียนบาลีจะเปิดอ่านก็เพื่อหาคำตอบเฉพาะเรื่องที่ต้องการ ไม่มีใครเปิดอ่านเพื่อหาความรู้เหมือนอ่านหนังสือทั่วไป

ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ ผมจึงเชื่อว่า ข้อความในคัมภีร์อัตถโยชนาที่ผมไปเจอคำตอบ-กรณีต้องอาบัติปาราชิกยังไม่ขาดจากความเป็นพระ-เข้านี้ นักเรียนบาลีบ้านเราไม่เคยเห็นมาก่อน

นักเรียนบาลีท่านใดเคยเห็นเคยอ่านมาแล้ว ขอน้อมคารวะขอรับ

ข้อความในอัตถโยชนาของคัมภีร์สมันตปาสาทิกา เป็นดังนี้ -

.........................................................

ปาราชิกํ  อาปนฺโน  หิ  โวหารภิกฺขุภาเว  ฐิโต  ปุคฺคโล  ยาว  ปาราชิกาปนฺนภาวํ  น  ปฏิชานาติ  ตาว  ตสฺส  โวหารภิกฺขุภาโวเยว  โหติ  น  กมฺมวาจาย  ลทฺธภิกฺขุภาโว ฯ 

ที่มา: สมนฺตปาสาทิกาย  นาม  วินยฏฺฐกถาย อตฺถโยชนา (ปฐโม ภาโค) หน้า ๒๗๐

.........................................................

แปลประโยคต่อประโยค ดังนี้ -

.........................................................

หิ

จริงอยู่

โวหารภิกฺขุภาเว  ฐิโต  ปุคฺคโล

บุคคลที่ดำรงอยู่ในภิกขุภาวะตามโวหาร

(คือเป็นพระตามที่เรียกกัน)

ปาราชิกํ  อาปนฺโน

ต้องอาบัติปาราชิก

ยาว  ปาราชิกาปนฺนภาวํ  น  ปฏิชานาติ

ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับว่าตนต้องอาบัติปาราชิก

ตาว  ตสฺส  โวหารภิกฺขุภาโวเยว  โหติ

ตราบนั้น บุคคลนั้นก็ยังมีภิกขุภาวะตามโวหารเท่านั้น

น  กมฺมวาจาย  ลทฺธภิกฺขุภาโว  

ภิกขุภาวะที่ได้มาตามกรรมวาจา (คือภิกขุภาวะตามพระธรรมวินัย) หามีไม่

.........................................................

ขออนุญาตสรุปเป็นภาษาบ้าน ๆ

.........................................................

พระต้องอาบัติปาราชิก แต่ปากแข็ง-หรือหน้าด้านก็ตาม-ยืนยันว่า อาตมายังเป็นพระอยู่นะ

ถ้าจะยืนยันอย่างนั้นก็ได้ ไม่เถียง ท่านยังเป็นพระอยู่

แต่เป็น “พระ” ตามที่ชาวบ้านเขาเรียกนะ

ชาวบ้านเห็นคนโกนผมห่มเหลือง จะเป็นพระจริงหรือคนปลอมเขาไม่รู้ แต่เขาก็เรียกไว้ก่อนว่า “พระ”

ท่านก็เป็น “พระ” แบบนั้นแหละ-พระตามที่เขาเรียก (โวหารภิกขุภาวะ)

ไม่ใช่ “พระ” ตามพระธรรมวินัย

.........................................................

นี่คือคำตอบ นี่คือทางออก-ที่คัมภีร์อัตถโยชนาของคัมภีร์สมันตปาสาทิกาชี้ไว้ให้

ปาราชิกในพระบาลีพระไตรปิฎกของพระพุทธองค์ก็ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่

คำอธิบายของคัมภีร์สารัตถทีปนีก็ไม่กระทบกระเทือน เพราะท่านบอกแต่เพียงว่า “ภิกขุภาวะ” ความเป็นพระยังมีอยู่ แต่ท่านละ “โวหารภิกขุภาวะ-ความเป็นพระตามที่เขาเรียก” ไว้ในฐานเข้าใจ

บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ละมุนละม่อมดีแท้ ๆ

......................

“ต้องอาบัติปาราชิก ต้องทำพิธีลาสิกขาก่อนจึงจะขาดจากความเป็นพระ”

เราควรได้ข้อคิดเตือนใจอะไรบ้างจากความเข้าใจเช่นนี้?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๒ เมษายน ๒๕๖๗

๒๐:๑๙ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,ปาราชิโก,อสํวาโส,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.