ปาราชิโก โหติ อสํวาโส (๓)

-----------------------

หมายความอย่างไร

ตรวจดูข้อความนี้ในคัมภีร์สารัตถทีปนีที่แสดงไว้ ปรากฏว่า เป็นคำอธิบายความในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ว่าด้วยปฐมปาราชิก ก็เป็นอันว่าอยู่ในหลักที่ว่า-ท่านต้องการอธิบายประเด็นไหน ตอบว่าอธิบายปฐมปาราชิก ตรงประเด็น

แต่เมื่อจะให้ชี้เฉพาะว่า ท่านอธิบายเฉพาะประเด็นที่ว่า-ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระหรือยัง แบบว่า-บอกชัด ๆ ว่า ต่อไปนี้จะอธิบายประเด็นที่พระบาลีว่า ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระ (พระบาลีว่า ปาราชิโก โหติ อสํวาโส = อสฺสมโณ โหติ อสกฺยปุตฺติโย) ที่พระบาลีว่าไว้เช่นนั้นข้าพเจ้า-ผู้แต่งคัมภีร์สารัตถทีปนีไม่เห็นด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่า จะขาดจากความเป็นพระก็ต่อเมื่อรับสารภาพ ถ้าไม่รับสารภาพก็ยังไม่ขาด

ไม่ปรากฏว่าคัมภีร์สารัตถทีปนีชี้เฉพาะตรง ๆ เช่นนี้

ท่านพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็มาพาดพิงเข้ากับประเด็นนี้-แบบเรื่องมันพาไป ไม่ได้ตั้งใจชี้ประเด็น

ผมอาจจะเข้าใจผิดเพราะศึกษาไมทั่วถึงทั่วถ้วน ขอนักเรียนบาลีทั้งมวลมีเมตตาชี้แนะด้วย

อย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่า -

พระบาลีบอกว่า ต้องอาบัติปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระทันที

คัมภีร์สารัตถทีปนีบอกว่า ถ้าไม่รับสารภาพก็ยังไม่ขาดจากความเป็นพระ

ถ้าคำสรุปนี้ถูกต้อง ก็มาถึงคำถามว่า แล้วจะถือเอาคำของใครเป็นหลัก

.........................................................

หลักสำคัญอย่างหนึ่งที่ยอมรับกันมาก็คือ หากจะพึงมีความเห็นไม่ตรงกันจะด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม ท่านให้ถือเอาพระบาลีอันเป็นชั้นสูงสุดเป็นหลัก

.........................................................

ถ้าใครจะถือเอาคัมภีร์อธิบายความเป็นหลัก ก็ต้องตอบได้-อธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมจึงไม่ยึดพระบาลีอันเป็นชั้นสูงสุดเป็นหลัก

......................

แต่-เรื่องยังไม่จบง่าย ๆ เพียงแค่นี้ เพราะหลักสำคัญที่ต้องจับประเด็นให้ถูกมี ๒ เรื่อง คือ -

หนึ่ง-ท่านต้องการอธิบายประเด็นไหน? 

ตอบว่า อธิบายปฐมปาราชิก นับว่าตรงประเด็น แม้จะไม่ได้ชี้ชัดแบบคำต่อคำ

และสอง-ท่านอธิบายว่าอย่างไร? 

ตรงนี้แหละที่จะต้องพิจารณาต่อไป เราเข้าใจคำอธิบายตรงตามเจตนาที่ท่านต้องการจะพูดหรือเปล่า

บางเรื่อง-หลายเรื่อง ถ้าอ่านตรงทื่อไปตามตัวอักษรก็ไปคนละเรื่องไปเลย เช่นพุทธวจนะในพระธรรมบท บทนี้ -

.........................................................

มาตรํ  ปิตรํ  หนฺตฺวา

ราชาโน  เทฺว  จ  ขตฺติเย 

รฏฺฐํ  สานุจรํ  หนฺตฺวา

อนีโฆ  ยาติ  พฺราหฺมโณ. 

ที่มา: ปกิณกวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๑

.........................................................

แปลตามตัวอักษรว่า

.........................................................

พราหมณ์ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา 

ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์ 

ทำลายรัฐ พร้อมทั้งผู้ครองรัฐเสียแล้ว 

ย่อมสัญจรไป อย่างไร้ทุกข์ 

ที่มา: หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

.........................................................

แปลตรงตัวว่าอย่างนี้ ถูกต้อง แต่-ถามว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำตรงตัวแบบนี้หรือ?

ตอบว่า ไม่ใช่

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำลายกิเลส แต่ทรงใช้ถ้อยคำภาษาที่เป็นปริศนาธรรม

.........................................................

“ฆ่ามารดา” หมายถึง ฆ่าตัณหา อันเป็นตัวแม่ของกิเลส

“ฆ่าบิดา” หมายถึง ฆ่าอัสมิมานะ หรือความถือตัว อันเป็นกิเลสตัวพ่อ

“ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์” หมายถึง ฆ่าสัสตทิฐิ (ความเห็นว่าตายแล้วมีสิ่งเป็นอมตะอยู่ไปชั่วนิรันดร์) และอุจเฉททิฐิ (ความเห็นว่าตายแล้วทุกอย่างสูญสิ้นหมด)

“ทำลายรัฐ” หมายถึง ควบคุมระบบการรับกระทบในตัว (ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นล้มรส กายรับสัมผัส ใจคิดนึก) ไม่ให้มีปฏิกิริยาเกินขอบเขต

“ผู้ครองรัฐ” หมายถึง นันทิราคะ หรือความกำหนัดยินดี

.........................................................

ถ้าตีปริศนาธรรมไม่แตกหรือตีความไม่ถูก เข้าใจตรงทื่อไปตามตัวอักษร ก็จะกลายเป็นว่าพระพุทธพจน์บทนี้เป็นคำสอนที่วิปริตผิดเพี้ยน

......................

พระบาลีว่า ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก เป็น “ปาราชิโก” แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ คืออยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ไม่ได้อีกต่อไป เหมือนนักมวยแพ้แล้วต้องลงจากเวทีไป “อสฺสมโณ” แปลว่า “ไม่ใช่สมณะ” คือไม่เป็นพระอีกต่อไป

พระบาลีมีอยู่ชัด ๆ อย่างนี้ ท่านผู้รจนาคัมภีร์สารัตถทีปนีก็ย่อมจะเห็นประจักษ์ตาอยู่ ท่านจะบังอาจโต้แย้งเชียวหรือ?

เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาถ้อยคำในคัมภีร์สารัตถทีปนีอีกที -

.........................................................

ปาราชิกํ  อาปนฺโนว  ภิกฺขุลิงฺเค  ฐิโต  ยาว  น  ปฏิชานาติ  ตาว  อตฺเถว  ตสฺส  ภิกฺขุภาโว  ฯ

ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก ยังอยู่ในภิกขุลิงคะ (แต่งตัวเป็นพระ) ตราบใดที่ยังไม่ยอมรับ (ว่าตนต้องอาบัติปาราชิก) ภิกขุภาวะ (ความเป็นพระ) ก็ยังมีอยู่ตราบนั้น

ที่มา: สารัตถทีปนี วินยฏีกา ภาค ๒ หน้า ๑๖๐

.........................................................

สรุปชัด ๆ ว่า ถ้ายังนุ่งสบงทรงจีวรอยู่ และเชื่อว่าตัวเองยังเป็นพระ ก็ยังคงเป็นพระอยู่

หมายความตามนี้แน่หรือ 

หรือมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่

......................

ผมไม่เชื่อว่า ท่านผู้รจนาคัมภีร์สารัตถทีปนีมีเจตนาแสดงความเห็นขัดแย้งกับพระบาลี แต่น่าจะต้องมี “นัย” อะไรบางอย่างในความเห็นของท่าน

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญปราดเปรื่องในคัมภีร์ ประเภทมองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าเรื่องนี้อยู่ในเล่มนั้น เรื่องนั้นอยู่ในเล่มโน้น 

ตรงกันข้าม ผมเป็นคนค่อนข้างงุ่มง่าม เรื่องในธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ที่นักเรียนบาลีต้องเรียนต้องผ่าน อย่ามาถามผม ในจำนวนเรื่องทั้งหมด ๓๐๒ เรื่อง เรื่องไหนอยู่ภาคไหนผมจำได้ไม่เกิน ๕ เรื่อง 

แต่ผมขยันค้น ไม่เบื่อที่จะค้น รู้สึกสนุก-มีความสุขที่ได้ค้นเรื่องต่าง ๆ ในคัมภีร์ สติปัญญาไม่ดี ก็ต้องใช้ความพยายามเข้าช่วยมากขึ้น เหนื่อยมากหน่อย

ผมค้นไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง มีกำลังก็ลุกขึ้นมาค้นต่อไป

.........................................................

ถ้านักเรียนบาลีของเรารวมกำลังกันเป็นกลุ่ม เป็นชมรม ช่วยกันทำงานบาลี ไม่ปล่อยให้ใครงมงุ่มง่ามไปคนเดียว ค้นเรื่องอะไรก็จะเจอได้ง่ายขึ้น ทำงานได้มากขึ้น และที่สำคัญ-ให้ความรู้แก่สังคมได้มากขึ้น กว้างขวางขึ้น

คงมีสักวันหนึ่ง-ที่วงการบาลีบ้านเราจะมีกลุ่มหรือชมรมที่ผมฝันไว้นี้

.........................................................

ค้นไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด 

ในที่สุดก็ไปเจอคำตอบในคัมภีร์อัตถโยชนาครับ

คัมภีร์อัตถโยชนาคือคัมภีร์อะไร?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๒๒ เมษายน ๒๕๖๗

๑๑:๓๕ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,ปาราชิโก,อสํวาโส,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.