ทองย้อย แสงสินชัย
บาลีวันละคำ (3,725)

อุปายาส
เพชรเม็ดหนึ่งในบาลี
ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปา-ยาด
บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ยา-สะ
“อุปายาส” รากศัพท์มาจาก อุป + อายาส
(๑) “อุป” 
ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :
“อุป-” (ขีด - ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ- เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น” 
“อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ -
(1) ข้างบน, บน (on upon, up)
(2) ข้างนอก (out) 
(3) สุดแต่ (up to) 
(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)
(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)
(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)
(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย --, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by -- , miniature, made after the style of)
แต่ในที่นี้ “อุป” มีความหมายเฉพาะ ไม่ตรงกับความหมายดังที่แสดงมานี้ (ดูข้างหน้า)
(๒) “อายาส”
บาลีอ่านว่า อา-ยา-สะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ; ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ”) + ยสฺ (ธาตุ = พยายาม, ขยัน, หมั่น; อา + ยสฺ = ท้อแท้, เศร้า) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ยสฺ > ยาส)
: อา + ยสฺ = อายสฺ + ณ = อายสณ > อายส > อายาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความท้อแท้” “ความเศร้า” หมายถึง ความยุ่งยาก, ความเสียใจ (trouble, sorrow)
อุป + อายาส = อุปายาส (อุ-ปา-ยา-สะ) แปลว่า “ความเสียใจอย่างยิ่ง”
“อุป” เมื่อนำหน้าหรือรวมกับ “อายาส” (อุป + อายาส = อุปายาส) ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่า “ภุโส  อติวิย  อายาโส  อุปายาโส” (คัมภีร์ปัญจิกา* ภาค 3 หน้า 313)
..............
หมายเหตุ: *ปัญจิกา เป็นชื่อคัมภีร์ประเภทอัตถโยชนา (คือคัมภีร์อธิบายศัพท์และแนะวิธีแปล มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “โยชนา”) ของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทยชั้น ป.ธ.9
..............
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปายาส” ว่า [a kind of] trouble, turbulence, tribulation, unrest, disturbance, unsettled condition (ความทุกข์ยาก [ชนิดหนึ่ง], ความระทม, ความยากลำบาก, ความไม่สงบ, ความโกลาหล, ภาวะที่ไม่ราบรื่น)
นักธรรมะของเรานิยมแปล “อุปายาส” ว่า “ความคับแค้นใจ”
พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ว่า -
“อุปายาส : (คำนาม) ความคับใจ, ความแค้นใจ, ความลำเค็ญใจ เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง.”
คำว่า “อุปายาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

ขยายความ :
“อุปายาส” ที่นักธรรมของเราน่าจะคุ้นกันดี-โดยเฉพาะท่านที่ชอบทำวัตรสวดมนต์ ก็คือที่แสดงไว้ใน “สังเวคปริกิตตนปาฐะ” ที่สวดต่อท้ายบททำวัตรเช้า ดังจะขอยกมาเสนอเพื่อเป็นการเจริญสติดังนี้ (ในที่นี้เขียนแบบบาลีไทย) -
..............
ชาติปิ ทุกขา
แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
ชะราปิ  ทุกขา
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์
มะระณัมปิ  ทุกขัง
แม้ความตายก็เป็นทุกข์
โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา
แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์
อัปปิเยหิ  สัมปะโยโค  ทุกโข
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
ปิเยหิ  วิปปะโยโค  ทุกโข
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์
ยัมปิจฉัง  นะ  ละภะติ  ตัมปิ  ทุกขัง
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์
สังขิตเตนะ  ปัญจุปาทานักขันธา  ทุกขา
ว่าโดยสรุป อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
..............
ดูก่อนภราดา!
: ในบาลีมีเพชรเม็ดงามๆ อยู่ทั่วไป
: เรียนบาลีแบบลิงเห็นผลไม้ก็ไม่เห็นเพชร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.