สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ
ทําอย่างไรจึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ถาม เกิดมาแล้วเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง สุดแต่กรรมในอดีตที่ทำไว้ แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่อยากทราบว่าควรทำปัจจุบันอย่างไรจึงจะเป็นสุข ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ตอบใคร ๆ ก็ทราบว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการความสุขไม่เดือดร้อนในภายหลัง จึงควรทำแต่ความดี คือบุญกุศล ละเว้นความชั่ว คือบาปอกุศลเสีย เพื่อให้คำตอบนี้ชัดเจน จึงขอนำคำสอนของพระพุทธเจ้าในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าชนสันธะ ซึ่งตรัสสอนประชาชนของพระองค์ถึงเหตุที่จะ ทำให้จิตเดือดร้อนในภายหลัง ๑๐ ประการบุคคลไม่ทำเหตุเหล่านี้แล้วย่อมประสบสุข ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
ในชนสันธชาดก ทวาทสนิบาตชาดก ข้อ ๑๖๔๙-๑๖๖๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องอดีตชาติของพระองค์ครั้งยังบำเพ็ญบารมีอยู่ว่า
ในครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตทรงครองกรุงพาราณสีนั้นพระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ชนสันธะ จบการศึกษามาจากตักกสิลา ทรงดำรงตำแหน่งอุปราช เมื่อพระราชบิดาสวรรคตก็ได้ครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา ทรงพระนามว่าพระเจ้าชนสันธะ พระเจ้าชนสันธะทรงฝักใฝ่ในการให้ทาน จึงโปรดให้สร้างโรงทานขึ้น ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ กับที่ท่ามกลางพระนคร และที่ประตูพระราชวัง ทรงบริจาคทานด้วยทรัพย์ ๖ แสนทุกวัน ทรงชักชวนให้ประชาชนฟังธรรมให้รักษา
ศีล ๕ และศีล ๘ พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมตลอด วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระเจ้าชนสันธะทรงสมาทานอุโบสถศีลแล้ว โปรดให้ประชุมประชาชนที่หน้าพระลานหลวงแล้วทรงแสดงธรรมกับประชาชนว่า เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ บุคคลไม่ได้กระทำกิจที่ควรทำไว้เสียก่อน ย่อมเดือดร้ในภายหลัง
เหตุที่ทำให้จิตเดือดร้อน ๑๐ ประการ คือ
๑. บุคคลเมื่อยามหนุ่มไม่พยายามแสวงหาทรัพย์ไว้ ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ ไว้
คนเราเมื่อยังหนุ่มยังสาวมีกำลังวังชาดี ถ้ามัวงอมืองอเท้าไม่ทำการงานหาทรัพย์สินเก็บสะสมไว้ใช้ในยามแก่เฒ่าที่ร่างกายไม่แข็งแรง ทำอะไรก็ไม่ค่อยจะไหวแล้ว ก็ย่อมจะเดือดร้อนได้รับความทุกข์ยาก ถ้าใครมีลูกหลานคอยปรนนิบัติเลี้ยงดูก็โชคดี ถ้าไม่มีก็ลำบากแสนเข็ญทีเดียว เพราะคนที่ไม่มีเงินมีทองนั้น ไม่มีใครเขาอยากนับเป็นญาติ หรือแม้จะมีลูกหลานคอยดูแลเลี้ยงดู แต่ถ้ายากจนก็ยากนักที่เขาจะเอาใจใส่ คนแก่ที่มีเงินนั้นพรั่งพร้อมด้วยลูกหลานบริวารคอยเอาอกเอาใจดูแล นี่ก็เป็นการเตือนสติสำหรับผู้ที่ยังมีกำลังวังชาแข็งแรงอยู่ว่าอย่าได้ประมาท
๒. ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก
ข้อนี้เป็นความจริง คนที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่แสวงหาวิชาความรู้ไว้ประดับตนในเยาว์วัย โตขึ้นก็ไม่ทราบจะทำมาหากินอย่างไร ถึงแม้จะหาได้ก็ฝืดเคืองต้องใช้กำลังกายเข้าแลกเงิน เมื่อยังหนุ่มแน่นก็พอมีแรงพอจะใช้กำลังกายแลกกับเงินได้ แต่เมื่ออายุมากเข้าก็ไม่มีแรงพอจะทำงานอย่างนั้นได้ หลายคนคงเคยเห็นคนแก่หาบของขายหนักจนบ่าลู่ น่าสงสารมาก เพราะฉะนั้นวิชาความรู้จึงเป็นอาภรณ์ประดับกาย อยู่ที่ไหนก็ไม่อดตาย ถ้าขยันใช้วิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์
๓. ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนโกง ส่อเสียดกินสินบน ดุร้าย หยาบคายในกาลก่อน คนโกงนั้นนอกจากจะถูกสาปแช่งจากผู้อื่นแล้วตนเองยังเดือดร้อนใจในการทําความชั่วของตนด้วย
๔. ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติเมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน คำว่าเดือดร้อนในภายหลังนี้มิได้หมายเอาเดือดร้อนในชาตินี้หลังจากที่ทำชั่วลงไปแล้วเท่านั้น แต่หมายความไปถึงชาติต่อ ๆ ไปด้วยเพราะผู้ประพฤติชั่วย่อมเกิดในอบาย เมื่อได้รับความทุกข์ในอบายก็ย่อมจะเป็นทุกข์เดือดร้อนว่า เราได้ทำความชั่วอย่างนั้น ๆ ไว้จึงได้รับทุกข์เข็ญปานนี้เพราะฉะนั้นคนที่ทำชั่วนั้นแม้จะปากแข็งว่าไม่กลัว แต่ใจของเขาย่อมเดือดร้อนเสมอ เพียงแต่เขาไม่แสดงให้เรารู้เท่านั้น
๕. ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนมีอยู่เป็นอันมากไม่ควรเลยที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่น จริงทีเดียว ชายหญิงที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนก็มีอยู่เป็นอันมากเหตุใดจึงไม่คบหาชายหญิงเหล่านั้น
๖. ดนตระหนีย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็มิได้ให้ทานเลย
๗. ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ว่า เราสามารถที่จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็มิได้เลี้ยงดูท่าน
ท่านคงจำนิทานเรื่องหนึ่งได้ เพราะเล่ากันอยู่เสมอ ๆ ที่ลูกชายหลงภรรยาแล้วไม่เลี้ยงดูบิดาผู้แก่ชรา ขัดกะลามะพร้าวเพื่อให้บิดาออกไปขอท่าน ลูกเห็นพ่อทำดังนั้นก็ทำบ้าง พ่อก็ถามว่าทำเอาไปทำไม ลูกก็ตอบว่าเตรียมเอาไว้ให้พ่อออกไปขอทานเหมือนที่พ่อทำให้ปู่ ผู้เป็นพ่อจึงสำนึกผิดเลิกความคิดที่จะให้พ่อออกไปขอทาน กลับเลี้ยงดูพ่ออย่างดี
คนเราถ้าไม่ประสบกับตัวเองแล้วก็ยากที่จะสำนึกตัวได้ หรือสำนึกได้ก็ต่อเมื่อสายเสียแล้ว ลองมองออกไปรอบ ๆ ตัวเรา เราจะได้พบตัวอย่างชีวิตที่สามารถจะสอนให้เราเป็นคนดีได้มากมาย หากเราได้ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี
๘. ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดาย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาเป็นอาจารย์สั่งสอน ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู
ธรรมดาพ่อแม่ ท่านกล่าวว่าเป็นบุพพาจารย์ของบุตรคือเป็นครูคนแรกของบุตรได้อบรมสั่งสอนเลี้ยงดูบุตรมาด้วยความรัก หาอาหารที่มีรสต่างๆ ที่ถูกต้องการมาให้ คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากเห็นลูกเป็นคนเลว คนชั่ว อดอยาก มีแต่ตักเตือนสั่งสอนให้ลูกตั้งอยู่ในความดี เมื่อลูกไม่อยู่ในโอวาทก็เป็นทุกข์เสียใจ แต่ผู้ที่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าคือตัวลูกผู้ไม่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่นั่นเอง
๙. ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีลเป็นพหูสูตเลย
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีปัญญามากก็เพราะได้เคยเข้าไปคบหาใกล้ชิดกับสมณพราหมณ์ผู้รู้มาก่อน
๑๐. ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้วย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย
ถึงกระนั้น หากยังต้องเกิดอยู่ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนใจไปได้ ในเมื่อทุกคนล้วนทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่วกันมานานนับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นการที่จะพ้นจากความเดือดร้อนใจได้อย่างแท้จริง จึงต้องดำเนินตามทางสายกลาง คืออริยมรรคมีองค์แปด หรือวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเกิดอีกต่อไปเท่านั้น
การไม่เกิดอีกนั่นแหละเป็นการพ้นจากความเดือดร้อนใจอย่างแท้จริง
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ