ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎก มีแสดงลักษณะไว้ ๒ อย่างคือ

๑. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

๒. มีการข่มนิวรณ์คือข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

คำว่า “ปสาทะ” หมายถึง ความผ่องใส ซึ่ง ปสาทะ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของศรัทธา (สัทธา) เช่นกัน หรือ บางครั้งก็ใช้เหมือนกันได้ ที่หมายถึง ศรัทธา (สัทธา) แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ ในคำว่า ปสาทะ หมายถึง ความผ่องใส ยังสามารถใช้ในความหมายอื่น ๆ เช่น ลักษณะสภาพธรรมใด ๆ ที่ผ่องใส ก็ชื่อว่า ปสาทะ เช่น ใช้ในความหมายของรูป คือ ปสาทรูป ๕ (จักขุปสาทรูป, โสตปสาทรูป, ฆานปสาทรูป, ชิวหาปสาทรูป, กายปสาทรูป)


ในที่นี้จะกล่าวถึง “ปสาทะ” ที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา ซึ่งมีข้อความในพระไตรปิฎกปรากฏ ดังนี้ 


ข้อความบางตอนจาก… (ปธานิยงฺคสุตฺตวณฺณนา)

อรรถกถาเล่มที่ ๑๖ ภาษาบาลีอักษรไทย องฺ.อ. (มโนรถ.๓)

สทฺโธติ สทฺธาย สมนฺนาคโต. สทฺธา ปเนสา อาคมสทฺธา อธิคมสทฺธา โอกปฺปนสทฺธา ปสาทสทฺธาติ จตุพฺพิธา.

ตตฺถ สพฺพญฺญุโพธิสตฺตานํ สทฺธา อภินีหารโต ปฏฺฐาย อาคตตฺตา อาคมสทฺธา นาม. อริยสาวกานํ ปฏิเวเธน อธิคตตฺตา อธิคมสทฺธา นาม. พุทฺโธ ธมฺโม สํโฆติ วุตฺเต อจลภาเวน โอกปฺปนํ โอกปฺปนสทฺธา นาม. ปสาทุปฺปตฺติ ปสาทสทฺธา นาม.

… ฯ


บทว่า สทฺโธ แปลว่า ผู้ประกอบด้วยศรัทธา. ก็ศรัทธานั้นมี ๔ อย่าง คือ อาคมศรัทธา ๑ อธิคมศรัทธา ๑ โอกัปปนศรัทธา ๑ ปสาทศรัทธา ๑.

บรรดาศรัทธาทั้ง ๔ นั้น ศรัทธาของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ ชื่อว่าอาคมศรัทธา เพราะเริ่มมีมาตั้งแต่การบำเพ็ญบารมี. ที่ชื่อว่าอธิคมศรัทธา เพราะบรรลุด้วยการแทงตลอดของพระอริยสาวกทั้งหลาย. ความเชื่ออย่างมั่นคง เพราะไม่หวั่นไหว เมื่อเขากล่าวว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ดังนี้ ชื่อว่าโอกัปปนศรัทธา. การเกิดขึ้นแห่งความเลื่อมใส ชื่อว่าปสาทศรัทธา.


ซึ่งจากข้อความในพระไตรปิฎก มีศรัทธา หรือ สัทธา ๔ อย่าง คือ

๑. อาคมสัทธา คือ ศรัทธาของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ ชื่อว่า “อาคมศรัทธา” เพราะเริ่มมีมาตั้งแต่การบำเพ็ญบารมี

๒. อธิคมสัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธา ที่เกิดจากการบรรลุธรรมของพระอริยสาวกทั้งหลาย (เชื่อด้วยเห็นประจักษ์ มิได้เชื่อตามผู้อื่นบอก)

๓. โอกัปปนสัทธา คือ ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อได้ยินเขาพูดว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (“พุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน”)

๓. ปสาทสัทธา คือ การเกิดความเลื่อมใส, (ความเกิดขึ้นแห่งความเลื่อมใส ชื่อว่า ปสาทศรัทธา / ปสาทุปฺปตฺติ ปสาทสทฺธา นาม.)


* ศรัทธาที่เป็นความผ่องใส (ปสาทสัทธา) ควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า เป็นศรัทธาอันประกอบด้วยศีล และสมาธิ เบื้องต้น (ศีลวิสุทธิ, จิตตวิสุทธิ) เป็นไปได้ทั้งที่มีปัญญาชนิดโลกียะเข้าประกอบและยังไม่เข้าประกอบ (มหากุศลจิต ๘) มีความตั้งมั่นแห่งจิต เพราะประกอบด้วย อุปจารสมาธิ (เฉียดเข้าใกล้ฌานจิต) สามารถข่มนิวรณ์ได้ เปิดทางให้อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น เป็นความผ่องใสที่กล่าวโดยอ้อม, อัปปนาสมาธิ เป็นความผ่องใสแห่งจิตและสัมปยุตตธรรม ที่ท่านเรียกว่า “วิสุทธิ” โดยตรง (ศรัทธาที่ประกอบในฌานจิต หมายเอาทั้งในโลกียฌานและโลกุตตรฌาน คือมรรค-ผล, ) (ซึ่งเมื่ออยู่ในวิถีเดียวกับอัปปนาชวนะเกิด ศรัทธา-ปสาทะนั้น ก็ประกอบด้วยปัญญาโดยแท้)

—————–


เสริม –

ข้อความบางตอนจาก “ตัณหาสูตร”

แม้ศรัทธา เรา (พระพุทธเจ้า) ก็กล่าวว่ามีอาหาร (ปัจจัย) มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า “การฟังสัทธรรม (สัทธัมมัสวนะ)” (การฟังธรรม เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “โยนิโสมนสิการ”) แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า “การคบหาสัปบุรุษ” (การคบหาสัปบุรุษ ‘สัปปุริสูปสังเสวะ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “โยนิโสมนสิการ”) …ฯลฯ… 

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.