พระรัตนตรัย หมายถึงแก้ว อันประเสริฐ 3 ประการ ในที่นี้ได้แก่
1. พระพุทธรัตนะ
2. พระธรรมรัตนะ
3. พระสังฆรัตนะ
พุทธรัตนะ
พระพุทธเจ้า คือใคร และเป็นมาอย่างไรนั้น ก็พอทราบกันแล้วในพุทธประวัติ หรือในส่วนที่แสดงถึงวัน วิสาขบูชา จะให้ความหมายในจุดนี้นิดหน่อยว่า คำว่า “สัมมาสัมพุทธะ” นั้น มีส่วนที่เป็นไป 2 อย่าง คือ
1. ส่วนที่เป็นตัวตนรูปร่าง รูปกาย พระวรกาย
2. ส่วนที่เป็นนามธรรม
ส่วนที่เป็นตัวตนรูปร่างนั้น ก็คือตัวตนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง อันประกอบด้วยขันธ์ 5 แล้วมาสมมติบัญญัติเรียกขานกันว่า “เจ้าชายสิทธัตถะบ้าง,พระสมณโคดมบ้าง, พระพุทธเจ้าบ้าง..ฯลฯ..” คำที่บุคคลทั่วไปทราบกันว่า “สัมมาสัมพุทธะ” นี้ เป็นพระคุณนาม ที่เกิดขึ้นจากการที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา คำว่าสัมมาสัมพุทธะ มีความหมายว่า “ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง” พร้อมกันนี้ยังมีคำถวายพระนามตามมาอีกว่า “และสั่งสอนให้ผู้อื่นบรรลุตามได้ด้วย” หมายความว่า เมื่อตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองโดยไม่เคยได้ยินได้ฟังหรือได้เรียนรู้มาจากผู้ใดแล้ว ก็ยังสามารถแสดงสิ่งที่พระองค์ได้รู้ได้เห็นนั้น แก่ผู้อื่นได้ด้วย และผู้อื่นก็สามารถบรรลุตามพระองค์ได้ด้วย นี่เป็นความหมายของคำว่า “สัมมาสัมพุทธะ” โดยสังเขป นอกจากนี้คุณนามที่ร้องเรียกพระพุทธเจ้านั้นก็ยังมีอีกมากมาย เช่น พระทศพล, พระจอมมุนี, พระโลกนาถ …ฯลฯ… ชื่อทั้งหลายนั้น ก็เป็นไปตามพระคุณที่พระองค์มี ฯ
ส่วนที่เป็นนามธรรมนั้น ก็ได้จาก พระพุทธพจน์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสกับพระวักกลิ ว่า “ดุก่อน วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา, ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า เห็นธรรม” ในที่นี้ พระองค์ได้ทรงเปรียบเทียบว่า พระองค์ก็คือธรรม, ธรรมก็คือพระองค์. ซึ่งคำว่า ธรรม ในที่นี้นั้น ได้แก่ โลกุตตรธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1.
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า หรือเป็นดุจพระพุทธเจ้านั้น ก็คือ ธรรมและวินัยทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงตรัสแล้ว บัญญัติแล้ว ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสแก่พระอานนท์ ในที่หนึ่งว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดแล ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย, ธรรมและวินัยนั้นแล จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย หลังจากที่เราได้ละ(สังขาร)ไปแล้ว”
พระดำรัสทั้ง 2 แห่งที่ยกมานี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ ในรูปของพระธรรมวินัย ความเป็นไปแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยธรรมและวินัยจึงแยกกันไม่ออก อนึ่ง ความเป็นไปแห่งธรรมและวินัยจะปรากฏอยู่ได้ ก็ด้วย อาศัยผู้ที่ประพฤติในธรรมวินัยนั้นอยู่ เพราะธรรมและวินัยนั้นเป็นนามธรรม ย่อมไม่สามารถจะปรากฏเองได้ จะต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับบุคคล และบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมวินัยนั้น ก็คือเหล่าพระสาวกทั้งหลาย อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา….
พระธรรมรัตนะ คืออะไร ?
พระธรรม อันได้ชื่อว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น อาจจะมีมากมายหลายประการ แล้วแต่ว่าจะแบ่งแยก จำแนกออกไปในลักษณะใด ซึ่งมีหลายประการ เช่น เป็นหมวด เป็นหมู่ เป็นนิกาย เป็นปิฎก เป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต เป็นปรมัตถ์บ้าง บัญญัติบ้าง เป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์…ฯลฯ… จะไม่แสดงในที่นี้ทั้งหมด
ข้อสังเกต : คำว่า พระธรรม นี้ จะต้องมุ่งหมายเอาส่วนที่เป็นพระวินัยเข้าไปด้วย ฯ แท้จริง คำว่า ธรรม กับ วินัย นั้น ท่านจะแสดงแยกกัน หรือเรียกแยกกัน เหมือนดั่งที่ตรัสว่า “โยโว อนนฺท ธมฺโม จ วินโย จ มยา เทสิโต ปัญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” (ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว)
แต่เมื่อมุ่งหมายว่า พระธรรม หมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหมดแล้ว คำว่า “พระธรรม” ในที่นี้ก็ต้องหมายเอาส่วนที่เป็นวินัยบัญญติเข้าไปด้วย
โดยนัยแห่งธรรมรัตนะ ที่ท่านแสดงเป็นบทที่ใช้สวด เพื่อแสดงถึงพระธรรมคุณที่ว่า “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม…..ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” นั้น ซึ่งว่าตามความจริงแล้ว ในพระธรรมคุณนี้ ท่านมุ่งหมายเอา โลกุตตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1. เท่านั้น ซึ่งจะมีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันธ์กันกับ พระพุทธรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ดังจะให้ความหมายไว้ดังนี้
มรรค 4 และ ผล 4 นั้น เป็นชื่อของมรรคจิต และผลจิต ซึ่งมีอย่างละ 4 คือ
บุคคลผู้เข้าไปบรรลุถึง มรรคจิต 4 ผลจิต 4 นั้น เรียกว่า มรรคบุคคล และ ผลบุคคล ซึ่งท่านก็จัดเป็น 8 บุคคล (เรียกตามจิตที่ได้บรรลุ) คือ
ในขณะแห่งมรรคจิต และผลจิตเกิดขึ้นมานั้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ให้ คือจิตทั้ง ๘ ดวงนั้น (มรรคจิต ๔, ผลจิต ๔) รับนิพพานเป็นอารมณ์
จะเห็นได้ว่า มรรค ผล นิพพาน นั้น เกิดขึ้นสัมพันธ์กัน และเกี่ยวพันธ์กันกับบุคคล เพราะจิตที่เกิดขึ้นก็ต้องเกิดกับบุคคล และบุคคลนั้นเอง ท่านถูกเรียกว่า “สังฆรัตนะ” ดังจะกล่าวต่อไป ฯ
พระสังฆรัตนะ คือใคร ?
หลายคนหลายท่าน อาจจะมีความเข้าใจว่า สังฆรัตนะ ก็คือพระสงฆ์ บุคคลที่มีอายุครบ 20 ปี แล้วก็ได้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา นั่นคือ สังฆรัตนะ ข้อนี้ยังจัดว่า มีความเข้าใจผิดอยู่ เพราะอะไร ? เพราะว่า คำว่า สังฆรัตนะ ตามที่สวดกันในบทสังฆคุณ ว่า “สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ….ฯลฯ….อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ” นั้น ไม่มีพระบาลีตอนใดที่บอกว่า สังฆรัตนะ นั้น คือ พระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร อุบาสก อุบาสิกา แต่อย่างใด แต่บอกว่า สังฆรัตนะนั้น ได้แก่ “คู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวเป็น 8 บุคคล (จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐะปุริสปุคคะลา)” คู่แห่งบุรุษ 4 คู่ คือ (คำว่า บุรุษในที่นี้ มิได้หมายถึงผู้ชาย แต่หมายถึง ผู้เต็ม คือผู้บริบูรณ์ด้วยองค์คุณ)
1) พระโสดาปัตติมรรค คู่กับ พระโสดาปัตติผล
2) พระสกทาคามิมรรค คู่กับ พระสกทาคามิผล
3) พระอนาคามิมรรค คู่กับ พระอนาคามิผล
4) พระอรหัตตมรรค คู่กับ พระอรหัตตผล
นี่แหละที่เรียกว่า 4 คู่ 8 บุคคล เพราะฉะนั้นใครก็ได้ในพุทธบริษัท 4 ที่ได้บรรลุ มรรค-ผล ในขั้นใดขั้นหนึ่งย่อมจัดได้ว่าเป็นสังฆรัตนะทั้งนั้น
แท้ที่จริงคำว่า โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล…….อรหัตตผล นั้น เป็นชื่อของจิต เป็นการเรียกชื่อจิต ที่ได้บรรลุนิพพาน แล้วกำจัดกิเลสได้ตามความสามารถแห่งมรรคของตน ๆ คือ ในขณะที่จิตของผู้ใดได้บรรลุนิพพานเป็นครั้งแรก จิตที่เกิดขึ้นและกำจัดอนุสัยกิเลส คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส เป็นสมุจเฉทปหาณได้ ในขณะจิตที่กำลังปหาณอนุสัยกิเลสทั้ง 3 ตัวนั้น จิตนั้นเรียกว่า โสดาปัตติมรรคจิต และเมื่อพูดถึงจิตก็ต้องพูดถึงบุคคล เพราะจิตก็ต้องเกิดกับบุคคล จะมีเฉพาะจิตลอย ๆ ไม่ได้ (แม้ในอรูปภูมิไม่มีรูป แต่ก็ยังจัดว่ามีบุคคลอยู่) และบุคคลผู้เป็นเจ้าของจิตนั้นก็ถูกเรียกว่า โสดาปัตติมรรคบุคคล และเมื่อโสดาปัตติมรรคจิตดับลง โสดาปัตติผลจิตก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตใดมาคั่น (ตรงนี้แหละที่เรียกว่า อกาลิโก = พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล) ตรงโสดาปัตติผลจิตนั่นแหละบุคคลนั้นก็ถูกเรียกว่า โสดาปัตติผลบุคคลทันที และต่อจากนั้นไปบุคคลผู้นั้น ก็จัดว่าเป็นโสดาปัตตผลบุคคล หรือ เป็นโสดาบันบุคคล
จะเห็นได้ว่า โสดาปัตติมรรคจิต หรือโสดาปัตติมรรคบุคคลนั้น เกิดขึ้นเพียงแค่แวบเดียว เร็วจนหาอะไรมาวัดไม่ได้ และเกิดขึ้นได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถจะเกิดได้อีก ถ้าจะเกิดอีกต่อไป ก็จะเป็นสกทาคามิมรรค จะไม่เป็นโสดาปัตตมรรคอีกแล้ว และเมื่อสกทาคามิมรรคจิตเกิด ก็เป็นสกทาคามิมรรคบุคคล เมือสกทาคามิมรรคดับลงและสกทาคามิผลเกิด บุคคลนั้นก็จัดเป็นสกทาคามิผลบุคคล หรือพระสกทาคามี อย่างนี้เป็นต้นเรื่อยไปจนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล (การเกิดขึ้นของมรรคแต่ละอย่างนั้น ต้องเกี่ยวเนื้องด้วยการกำจัดอนุสัยกิเลส)
จากภาวะที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า สังฆรัตนะ คือ บุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวเป็น 8 บุคคล ตามทีสวดกันในบทสังฆคุณนั้น จะเป็นใครก็ได้ มิได้จำกัดว่าต้องเป็นนักบวช คือจะเป็น เป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกาได้ทั้งนั้น ขอให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เท่านั้น ดังนั้นจึงสรูปได้ว่า ภิกษุที่ไม่ได้บรรลุอริยธรรมทั้ง 8 นี้ ไม่จัดว่าเป็น สังฆรัตนะในความหมายแห่งสังฆคุณนี้ ในขณะเดียวกัน คฤหัสถ์ ฆราวาส ผู้ครองเรือนอยู่ ถ้าได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ก็จัดว่าเป็น สังฆรัตนะ ได้เหมือนกัน ดังที่ท่านแสดงไว้ในบทสรรเสริญพระสังฆคุณ
อนึ่ง คำว่า สังฆะ หรือ สงฆ์ แปลว่าหมู่ หรือแปลว่า ผู้กำจัดกิเลสด้วยดี มีวิเคราะห์ว่า สํ สุฏฺฐุ กิเลเส ฆาเตตีติ สงฺโฆ ผู้ใด ฆ่ากิเลสทั้งหลายได้ด้วยดี (คือฆ่ากิเลสตัวใดแล้ว กิเลสตัวนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก) ผู้นั้น เรียกว่า สังฆะ (สงฆ์) ซึ่งตามความหมายนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า คำว่า “สงฆ์” มิได้หมายเอาเฉพาะพระภิกษุผู้ได้อุปสมบท เท่านั้นฯ
ดังนั้น ในขณะที่ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุเป็นพระโสดาบันนั้น จัดว่า สังฆรัตนะ ได้เกิดขึ้นแล้ว มิได้เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านโกณฑัญญะได้บวช ข้อนี้ควรทำความศึกษาให้ดี ในขณะเดียวกัน ถ้าท่านโกณฑัญญะไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม คือไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สังฆรัตนะก็จัดว่ายังไม่ได้เกิดขึ้น คำว่า สาวกสังโฆ (หมู่แห่งสาวก) ก็ยังไม่เกิด แต่ในข้อนี้ก็จัดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือ หมายความว่า เรื่องที่ท่านโกณฑัญญะจะไม่ได้ดวงตาเห็นธรรมและไม่ได้เป็นพระโสดาบันหลังจากที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ข้อนี้เป็นพุทธประเพณี ฯ คำว่า “พุทธประเพณี” ตามไป…
----------------
veeza
[right-side]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ