สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ

พระอรหันต์ไม่มีอุปาทานทำไมจึงมีอุปาทานขันธ์

   ถาม  พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว แต่ท่านยังมีอุปาทานขันธ์ห้าอยู่ ก็อุปาทานนั้นเป็นชื่อของ กิเลสประเภทหนึ่งไม่ใช่หรือ ช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วย 

   ตอบ ที่เข้าใจอุปาทานว่า เป็นกิเลสประเภทหนึ่งนั้น ถูกแล้ว เพราะอุปาทานนั้นมี ๔ คือกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสภาวะแล้วก็ได้แก่ โลภะเจตสิกและทิฏฐิเจตสิก เพียง ๒ ประเภทเท่านั้น  ซึ่งเจตสิกทั้งสองนี้เมื่อจัดเป็นขันธ์ก็เป็นสังขารขันธ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งสำหรับอุปาทานเจตสิกทั้งสองนี้พระอรหันต์ท่านละได้หมดสิ้นแล้ว แต่สำหรับอุปาทานขันธ์นั้น ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน เมื่อว่าโดยสภาวะแล้ว ได้แก่ ขันธ์ ๕ ที่เป็นโลกียธรรมทั้งหมด ไม่รวมโลกุตรธรรม ขันธ์ ๕ ที่เป็นโลกียธรรมนั้นก็ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิกที่ประกอบ ๕๒ รูป ๒๘ ซึ่งในโลกียจิต ๘๑ นั้น ก็รวมเอากิริยาจิตและจิตอื่นๆ ของ พระอรหันต์ไว้ด้วย เช่นเมื่อเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิก ขันธ์ ๓ คือเวทนา สัญญา และสังขาร เมื่อรวมกับจิตซึ่งเป็นวิญญาณขันธ์จึงเป็นนามขันธ์ ๔

   แม้ในรูป ๒๘ ซึ่งเป็นรูปขันธ์ พระอรหันต์ท่านก็มีถึง ๒๗ รูป เว้นภาวรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย คือถ้าเป็นชายก็เว้นอิตถีภาวรูป ถ้าเป็นหญิงก็เว้นปุริสภาวรูป เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ท่านจึงยังมีขันธ์ทั้ง ๕ ที่เป็นโลกียะอยู่ครบถ้วน ขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้เมื่อกล่าวโดยสัจจะก็เป็นทุกขสัจจะ ซึ่งเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ไม่ใช่ธรรมที่ควรละ เพราะฉะนั้นแม้ท่านจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ขันธ์ ๕ ของท่านไม่ได้ถูกละไปด้วย กิเลสท่านนั้นที่ถูกละ ก็บรรดาโลกียขันธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ ๕ ของใคร คือไม่ว่า จะเป็นขันธ์ ๕ ของปุถุชนหรือพระอริยบุคคลทุกประเภท ต่างก็ชื่อว่าอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น นี่พูดเฉพาะบุคคลที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕

   ที่ขันธ์ ๕ ของบุคคลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นปุถุชน หรือพระอริยะได้ชื่อว่า อุปาทานขันธ์นั้น เพราะ จักขุวิญญาณ คือจิตเห็น โสตวิญญาณ คือจิตได้ยิน เป็นต้น ซึ่งจิตเหล่านี้เป็นอารมณ์ของอุปาทานได้ หมายความว่าอุปาทานสามารถ จะเข้าไปยึดขันธ์ ๕ ของบุคคลเหล่านั้นเป็นอารมณ์ได้ อย่างท่านพระวักกลิที่ติดตาม ดูรูปของพระพุทธเจ้าไปทุกหนทุกแห่งในเวลาที่ท่านยังเป็นปุถุชนอยู่นั้น ก็ด้วยอำนาจ ของอุปาทานที่เข้าไปยึดเอารูปของพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นรูปของ พระพุทธเจ้าอันเป็นรูปขันธ์จึงเป็นอารมณ์ของอุปาทาน ของพระวักกลิในเวลาที่ท่านยัง เป็นปุถุชนอยู่ ก็ปุถุชนนั้นสามารถจะยึดเอาขันธ์ ๕ ทั้งของตนและคนอื่นมาเป็นอารมณ์ 

ด้วยอำนาจของอุปาทานได้ส่วนพระอรหันต์นั้นท่านหมดความยึดถือใดๆ แล้ว ท่านจึงไม่ยึดขันธ์ ๕ ของท่านและคนอื่นเป็นอารมณ์ด้วยอำนาจของอุปาทาน แต่ขันธ์ ๕ ของท่านสามารถจะเป็นอารมณ์ให้อุปาทานของคนอื่นทียังละอุปาทานไม่ได้ เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุนี้ขันธ์ ๕ ของท่านก็ยังชื่อว่าอุปาทานขันธ์อยู่นั่นเอง 

   ส่วนในพระอภิธรรมคัมภีร์ที่ ๑ คือธรรมสังคณีก็กล่าวถึง  อุปาทานิยา ธัมมา คือธรรมที่เป็นอารมณ์ของอุปาทานว่าได้แก่  โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘

----------------------

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.