คำสอน ๒ คำที่คนไทยเข้าใจผิดสุดขั้วโลก
----------------------------------------
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่คนไทยเข้าใจผิดสุดขั้วโลกมี ๒ คำ คือ -
๑ สันโดษ
คนไทยเข้าใจว่า สันโดษคือความไม่อยากได้ใคร่ดี ไม่อยากทำอะไร ซึ่งก็คือความขี้เกียจ
๒ อุเบกขา
คนไทยเข้าใจว่า อุเบกขาคือเฉยเมย ปล่อยปละละเลย ซึ่งก็คือไม่รับผิดชอบ
แล้วจริงๆ คืออย่างไร
จริงๆ ก็คือ --
๑ สันโดษ คือ ความพอใจ อิ่มใจ สุขใจกับสิ่งที่ตนได้ ตนมี ตนเป็น
อาการตรงกันข้ามกับสันโดษซึ่งมนุษย์มักเป็นกันทั่วไปก็คือ ได้อะไรก็ไม่รู้จักพอ มีอะไรก็ไม่รู้จักอิ่ม เป็นอะไรก็ไม่รู้จักสุข
สันโดษสอนให้รู้จักพอ รู้จักอิ่ม รู้จักสุขกับสิ่งที่ตนได้ ตนมี ตนเป็น
ยกตัวอย่างเช่น -
มีคู่ครอง ก็พอใจ อิ่มใจ สุขใจกับคู่ครองของตน นี่คือสันโดษ
มีคู่ครอง แต่ไม่พอใจ ไม่อิ่มใจ ไม่สุขใจกับคู่ครองของตน นี่คือไม่สันโดษ
สันโดษเป็นเรื่องของการทำใจ ท่านสอนให้ทำ
ส่วนการแก้ไขข้อบกพร่องและการพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นเรื่องของการทำตัว ท่านไม่ได้ห้ามทำ
๒ อุเบกขา คือ ทำพูดคิดไม่ผิดธรรม คือ ทำพูดคิดไม่เสียความเป็นธรรม ทำพูดคิดไม่ฝืนหรือขัดกับความเป็นจริง
อะไรควรเป็นอย่างไรจึงจะถูกต้องชอบธรรม ก็ทำพูดคิดตามที่ควรเป็นนั้น นี่คือมีอุเบกขา ถ้าตรงกันข้ามก็คือไม่มีอุเบกขา
ยกตัวอย่างเช่น -
คนทำผิด สมควรถูกลงโทษ ก็ลงโทษ นี่คือมีอุเบกขา
คนทำผิด สมควรถูกลงโทษ แต่หาทางกลบเกลื่อนไม่ให้ถูกลงโทษหรือทำให้กลายเป็นไม่ผิด นี่คือไม่มีอุเบกขา
อะไรเกิดขึ้นเป็นไปตามที่มันจะต้องเกิดต้องเป็น ก็ยอมรับได้ ไม่ดิ้นรนขัดขืนโวยวาย นี่คือมีอุเบกขา ถ้าตรงกันข้ามก็คือไม่มีอุเบกขา
ยกตัวอย่างเช่น -
สิ่งที่มีชีวิต เมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องไม่มีชีวิต คือต้องตาย นี่คือความจริงที่จะต้องเกิดต้องเป็น
วันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ลูกหลานญาติมิตรของเราตาย เราทำใจยอมรับได้ นี่คือมีอุเบกขา
ถ้ายอมรับไม่ได้ เอาแต่คร่ำครวญหรือเอะอะโวยวาย นี่คือไม่มีอุเบกขา
อุเบกขาเป็นเรื่องของการทำใจ ท่านสอนให้ทำ
แต่คนมีปัญหาควรช่วยแก้ไขอย่างไร เช่นคนเจ็บป่วยควรจะรักษาอย่างไรเป็นต้น เป็นเรื่องของการทำตัว ท่านไม่ได้ห้ามทำ
......................
ถ้าเข้าใจสันโดษและอุเบกขาถูกต้อง ย่อมได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากสันโดษและอุเบกขา
การศึกษาเพื่อเข้าใจสันโดษและอุเบกขาให้ถูกต้องไม่ใช่เรื่องหวงห้าม ไม่ใช่ความลับ และไม่ได้สงวนไว้สำหรับใครโดยเฉพาะ
ถ้าสามารถเข้าใจผิดได้
ก็ต้องสามารถเข้าใจถูกได้ด้วยเช่นกัน
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕
๑๗:๒๐
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ