องค์ศีล (๑๑)
----------
ศีลข้อที่ ๖
.............
พอขึ้นศีลข้อที่ ๖ ก็เป็นอันรู้กันว่าเป็นศีล ๘
ข้อที่พึงกำหนดเพื่อจำง่ายก็คือ -
ศีล ๘ ต่อจากศีล ๕ ไปอีก ๓ ข้อ
เฉพาะข้อ ๓ เปลี่ยนจาก “กาเม” เป็น “อพรหม”
กาเม คืองดการปฏิบัติกับผู้ที่ไม่ใช่คู่ครองของตน
อพรหม คืองดทั้งหมด แม้กับคู่ครองของตน
ศีล ๘ เป็นศีลของสตรีผู้ถือบวชเป็นแม่ชี แต่ชาวบ้านทั่วไปทั้งชายหญิงจะถือบ้างก็ไม่ผิดกติกา
ศีล ๘ ถ้าถือในวันอุโบสถ เรียกว่าศีลอุโบสถหรืออุโบสถศีล
ข้อแตกต่างระหว่างศีล ๘ ธรรมดากับศีลอุโบสถก็คือ -
ศีล ๘ ถือเป็นรายข้อเหมือนศีล ๕ คือแต่ละข้อเป็นอิสระจากกัน อย่างที่พูดกันว่า ขาดข้อไหนก็ขาดเฉพาะข้อนั้น
แต่ศีลอุโบสถถือรวมกันทั้ง ๘ ข้อเป็นหนึ่งเดียว คือตั้งเจตนาถือทุกข้อรวมกัน ตามหลักที่ว่า “อฏฺฐงฺคสมนฺนาคตํ อุโปสถํ สมาทิเยยฺยามิ” (อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง อุโปสะถัง สะมาทิเยยยามิ) แปลว่า “ข้าพเจ้าพึงสมาทานอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์แปดประการ”
แต่ศีลอุโบสถนั้น ไม่ใช่ว่าทำศีลขาดไปข้อหนึ่ง เท่ากับขาดหมดทุกข้ออย่างที่มักเข้าใจกัน เพียงแต่ว่าทำให้องค์อุโบสถบกพร่องไป อานิสงส์ไม่สมบูรณ์
อุโบสถศีลอุปมาเหมือนยาไทยขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร ๘ ชนิดรวมกัน ถ้าสมุนไพรครบทั้ง ๘ ก็มีสรรพคุณเต็มที่ตามสรรพคุณของยาขนานนั้น ถ้าสมุนไพรไม่ครบ ก็ยังเป็นยาอยู่ แต่สรรพคุณด้อยลง
ศีล ๘ ถือได้ทุกวันแบบเดียวกับศีล ๕ ส่วนศีลอุโบสถตามหลักท่านกำหนดให้ถือเฉพาะวันพระ แต่ก็สามารถขยายวันได้อีก ๒ วัน คือถือก่อนวันพระ (วันโกน) ๑ วัน และหลังวันพระอีก ๑ วัน รวมเป็น ๓ วัน
ถือก่อนวันพระ เรียกว่า “วันรับ” (เหมือนแขกมาอยู่นอกบ้าน เชิญแขก)
ถือวันพระ เรียกว่า “วันถือ” (เหมือนแขกเข้ามาในบ้านแล้ว ปฏิบัติแขก)
ถือหลังวันพระ เรียกว่า “วันส่ง” (เหมือนแขกจะกลับ ส่งแขก)
.....................
ศีลข้อ ๖ คำบาลีว่า “วิกาลโภชนา เวรมณี” (วิกาละโภชะนา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไป จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ (to abstain from untimely eating)
ศีลข้อนี้เรียกเป็นคำไทยว่า “วิกาลโภชน์” (วิ-กา-ละ-โพด) บางทีเรียกแบบสะดวกปากว่า “วิกาล”
คำว่า “วิกาล” ในทางพระวินัยมีคำจำกัดความ ๒ นัย กล่าวคือ -
๑ กรณีบริโภคอาหารในเวลาวิกาล “วิกาล” หมายถึง ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่
๒ กรณีห้ามภิกษุณีเข้าไปในบ้านของชาวบ้านในเวลาวิกาล หรือกรณีเที่ยวเตร่ในเวลาวิกาล “วิกาล” หมายถึง ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -
.........................................................
“วิกาล, วิกาล- : (คำวิเศษณ์) ในยามค่ำคืนที่ค่อนไปทางดึก เช่น ขโมยเข้าบ้านในยามวิกาล; ผิดเวลา (ใช้แก่การกินอาหารผิดเวลาตามที่พระวินัยกำหนด นับตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น) เช่น กินอาหารในเวลาวิกาล. (ป.).”
.........................................................
องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นวิกาลโภชน์มี ๔ ประการ คือ -
(๑) วิกาลตา (วิกาละตา) = เวลาตั้งแต่เที่ยงวันเป็นต้นไปจนถึงก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่
(๒) ยาวกาลิกตา (ยาวะกาลิกะตา) = อาหารที่บริโภคเป็นของที่อนุญาตให้บริโภคได้เช้าชั่วเที่ยง
(๓) อชฺโฌหรณปโยโค (อัชโฌหะระณะปะโยโค) = ปฏิบัติการนำอาหารเข้าสู่ร่างกาย
(๔) เตน อชฺโฌหรณํ (เตนะ อัชโฌหะระณัง) = อาหารเข้าสู่ร่างกายสำเร็จ กรณีกินทางปาก เมื่อกลืนอาหารล่วงลำคอลงไป
.....................
องค์ประกอบข้อ (๒) “ยาวกาลิกตา” คำว่า “ยาวกาลิก” (ยา-วะ-กา-ลิก) เป็นศัพท์วิชาการเกี่ยวกับวินัยของพระว่าด้วยของขบฉัน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลิก” อธิบายความหมายของ “ยาวกาลิก” ไว้ว่า หมายถึง ของที่รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
องค์ประกอบข้อ (๒) นี้ สมัยเป็นสามเณรท่ององค์ศีลในวันปาติโมกข์ยังจำได้ว่า --
“ยาวะกาลิกะตา อาหารและลูกไม้ที่เป็นของเคี้ยวและกัด”
ไม่ทราบว่าเป็นสำนวนแปลของท่านผู้ใด แต่ฟังแล้วเข้าใจง่ายดี
.........................................................
ปัญหาลองภูมิ :
น้ำแข็งเป็นก้อน เอาใส่ปากเคี้ยวหลังเที่ยงวัน
ศีลข้อ ๖ ขาดหรือไม่ เพราะเหตุไร
.........................................................
(ยังมีต่อ)
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ มกราคม ๒๕๖๖
๑๘:๐๘
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ