องค์ศีล (๑๐)

----------

สรุปเรื่องศีลกับกรรมบถ

.............

เท่าที่แสดงมาเป็นอันจบส่วนของศีล ๕ 

ก่อนจะไปถึงศีล ๘ ขอสรุปเรื่องศีลกับกรรมบถเป็นข้อสังเกต

ศีล ๕ ข้อปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาท มีในกรรมบถด้วย

แต่ศีล ๕ ข้อสุราไม่มีในกรรมบถ 

ศีล ๘ ข้ออพรหมจริยา (แทนข้อกาเมในศีล ๕) ก็ไม่มีในกรรมบถ

ทำไมเป็นเช่นนั้น?

น่าจะมีคำอธิบายของครูบาอาจารย์แสดงเหตุผลไว้ในที่ไหนสักแห่ง แต่ผมยังศึกษาไปไม่ถึง จึงขอสันนิษฐานไปพลางๆ

เริ่มตรงที่-กรรมบถแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 

แต่ศีลมีเพียง ๒ ส่วน คือ กายกรรมกับวจีกรรม

พูดเป็นภาพรวม ศีลคุมได้แค่การกระทำกับคำพูด (กายกรรม วจีกรรม) แต่กรรมบถคุมได้ทั้งไตรทวาร คือการกระทำ คำพูด และความคิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)

กายกรรมและวจีกรรมในกรรมบถนั้น เป้าหมายอยู่ที่ปฏิบัติกับผู้อื่นเท่านั้น คือต้องมีผู้รับการปฏิบัติหรือร่วมปฏิบัติ ปฏิบัติกับตัวเองไม่อยู่ในขอบเขตของกรรมบถ

เช่น พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ (สัมผัปปลาปะ) พูดกับคนอื่น ผิดกรรมบถ แต่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระกับตัวเอง ไม่ผิดกรรมบถ

ขอให้ดูศีลข้อ ๓ 

กาเมในศีล ๕ คือปฏิบัติร่วมกับผู้อื่น มีในกรรมบถด้วย 

แต่อพรหมจริยาในศีล ๘ แม้ปฏิบัติกับตัวเองก็ผิด ไม่มีในกรรมบถ

ขอให้สังเกตว่า ศีล ๘ ตั้งแต่ข้อ ๕ (สุรา) ข้อ ๖ (วิกาลโภชน์) ข้อ ๗ (นัจจคีตะ) ข้อ ๘ (อุจจา) ล้วนแต่ไม่มีในกรรมบถ ทั้งนี้เพราะทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นการปฏิบัติกับตัวเอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กายกรรม วจีกรรม ส่วนที่เป็นการปฏิบัติกับผู้อื่น มีในกรรมบถ ส่วนที่เป็นการปฏิบัติขัดเกลาตัวเองไม่มีในกรรมบถ

ทีนี้มาดูศีลข้อสุรา ในทางปฏิบัติเป็นกายกรรม แต่ทำกับตัวเอง ไม่อยู่ในขอบเขตของกรรมบถ

ศีลข้อสุราจึงไม่มีในกรรมบถ

ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐาน เหตุผลข้อเท็จจริงที่ท่านแสดงไว้อาจไม่เป็นตามนี้ 

ญาติมิตรท่านใดเคยพบเห็นคำอธิบายของครูบาอาจารย์ หรือถ้าเป็นคำอธิบายในคัมภีร์ด้วยก็ยิ่งดี ขอความกรุณานำมาแสดงเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า ศึกษาพระธรรม-โดยเฉพาะเรียนบาลี-มีงานให้ทำอีกมาก 

.........................................................

ท่านที่เรียนจบประโยคตามหลักสูตรแล้ว ถ้าจะกรุณาอย่าเพิ่งเก็บตำราเข้าตู้ หากแต่มีอุตสาหะลุกขึ้นมาช่วยกันศึกษาค้นคว้าตรวจตราตรวจสอบหลักพระธรรมวินัยนั่นนี่โน่นแล้วเผยแผ่ให้แพร่หลาย ก็จะเป็นอุปการะแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

การศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือการรักษาพระพุทธศาสนานั่นเอง

ถ้านักเรียนบาลีไม่คิดจะช่วยกันทำงานนี้

จะเอาผลสอบบาลีไปทำงานไหน?

.........................................................

ตอนหน้าว่ากันต่อถึงองค์ศีล-เริ่มกันที่ศีลข้อ ๖ ในศีล ๘

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ มกราคม ๒๕๖๖

๑๖:๒๖

[full-post]

องค์ศีล, ศีลห้า

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.