องค์ศีล (๑๒)

----------

ศีลข้อที่ ๗ 

.............

ศีลข้อ ๗ คำบาลีว่า “นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนมาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี” (นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะมาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง (to abstain from dancing, singing, music and unseemly shows, from wearing garlands, smartening with scents, and embellishment with unguents)

ศีลข้อนี้เป็นข้อที่ ๗ ในศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ คำบาลียาวมาก ขอแยกศัพท์และแปลแต่ละคำเป็นความรู้ไว้ ดังนี้ (สะกดตามหลักภาษาไทย ไม่ใช่สะกดแบบคำอ่าน)

.........................................................

(๑) นัจจะ = การฟ้อนรำ

(๒) คีตะ = ขับร้อง

(๓) วาทิตะ = บรรเลงดนตรี

(๔) วิสูกทัสสนะ = ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์

(๕) มาลา = ดอกไม้

(๖) คันธะ = ของหอม

(๗) วิเลปนะ = เครื่องทาเครื่องย้อม

(๘) ธารณะ = การทัดทรง

(๙) มัณฑนะ = การประดับ

(๑๐) วิภูสนะ = การตกแต่งร่างกาย

.........................................................

ศีลข้อนี้ตรงกับศีลข้อ ๗ และข้อ ๘ ในศีล ๑๐ ของสามเณร

ศีลของสามเณรมี ๑๐ ข้อ

ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ เหมือนศีล ๘

ข้อ ๗ ว่า “นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี” (นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมะณี)

ข้อ ๘ ว่า “มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี” (มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี)

ศีล ๑๐ ของสามเณรแยกเป็น ๒ ข้อ คือ ข้อ ๗ “นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี” กับข้อ ๘ “มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี”แต่ศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ ท่านรวมกันเป็นข้อเดียว คือเป็น “นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนมาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี”

ข้อ ๘ ของศีล ๘ (คือ อุจจา... ซึ่งจะว่าข้างหน้า) เหมือนกับข้อ ๙ ของศีล ๑๐

ข้อ ๑๐ ของศีล ๑๐ คือ ชาตรูปะ... (เว้นจากการรับเงินทอง) ไม่มีในศีล ๘

ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ของศีล ๘ มีเนื้อหาเท่ากับข้อ ๑ ถึงข้อ ๙ ของศีล ๑๐

เพราะฉะนั้น ว่าตามเนื้อหา ศีล ๘ ก็น้อยกว่าศีล ๑๐ อยู่เพียงข้อเดียว

พูดอีกอย่างหนึ่ง คนถือศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ ศีลน้อยกว่าสามเณรแค่ข้อเดียว

สามเณรหยิบจับรับจ่ายเงินไม่ได้ เพราะศีลข้อ ๑๐ กำหนดห้ามไว้

ส่วนคนถือศีล ๘ หรือศีลอุโบสถก็คือชาวบ้าน ไม่มีข้อห้ามเหมือนพระเณร

เรื่องนี้หลายคนยังเข้าใจผิด คิดว่าสามเณรหยิบจับรับจ่ายเงินได้ ไม่ผิด

ความจริงคือ ผิดครับ

บางเรื่องพระทำไม่ได้ แต่สามเณรทำได้

เช่น-หุงข้าวต้มแกง 

พระทำ ผิดศีล

สามเณรทำ ไม่ผิด

แต่เรื่องหยิบจับรับจ่ายเงิน มีข้อห้ามไว้ทั้งพระทั้งเณร

เรื่องของสิกขาบทพระธรรมวินัย ต้องศึกษาสำเหนียก เข้าใจเอาเองไม่ได้

....................

เนื่องจากรวมเอาศึล ๒ ข้อเป็นข้อเดียวกันดังกล่าวมา ศีลข้อ ๗ นี้จึงมีเนื้อหาเป็น ๒ ส่วน

ส่วนแรก คือ “นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ-” (การฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์)

ส่วนหลัง คือ “-มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ”

ส่วนหลังนี้ยังแยกใจความเป็น ๒ ท่อน 

ท่อนแรก “มาลาคันธวิเลปน-” แปลว่า ดอกไม้ ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม

ท่อนหลัง “-ธารณมัณฑนวิภูสนะ” แปลว่า การทัดทรง ประดับ ตกแต่ง

รวมทั้ง ๒ ท่อน “มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ” แปลว่า การทัดทรง ประดับ ตกแต่ง (ร่างกาย) ด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม (wearing garlands, smartening with scents, and embellishment with unguents)

ศีลข้อ ๗ ส่วนแรก เรียกสั้นๆ ว่า “นัจจคีตะ” (มักเรียกฉีกคำเป็น “นัจจคี”) ส่วนหลังเรียกว่า “มาลา”

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นนัจจคีตะมี ๓ ประการ คือ -

(๑) นจฺจาทิตา (นัจจาทิตา) = สิ่งที่ทำหรือได้เห็นคือการละเล่นมีฟ้อนรำเป็นต้น (ระบุไว้เต็มๆ ว่าฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี)

(๒) ทสฺสนตฺถาย  คมนํ (ทัสสะนัตถายะ คะมะนัง) = จัดการขวนขวายเพื่อจะได้ทำหรือได้เห็น

(๓) ทสฺสนํ (ทัสสะนัง) = ได้กระทำหรือได้เห็นสมเจตนา

....................

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นมาลา... มี ๓ ประการ คือ -

(๑) มาลาทีนํ  อญฺญตรตา (มาลาทีนัง อัญญะตะระตา) = ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อม และเครื่องประดับ ไม่ว่าจะทุกอย่างหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

(๒) อนุญฺญาตการณาภาโว (อะนุญญาตะการะณาภาโว) = ไม่มีเหตุที่ผ่อนผันให้ เช่นใช้ของเช่นนั้นเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยเป็นต้น

(๓) อลงฺกตภาโว (อะลังกะตะภาโว) = ทัดทรงประดับกายหรือใช้สิ่งเหล่านั้นด้วยเจตนาจะให้สวยงาม

องค์ประกอบข้อ (๒) นี้ สมัยเป็นสามเณรท่ององค์ศีลในวันปาติโมกข์ยังจำได้ว่า --

“อะนุญญาตะการะณาภาโว ใช้ของหอมเพื่อจะแก้เจ็บก็หามิได้”

.........................................................

ปัญหาลองภูมิ : 

ข้อ ๑ มีปัญหาว่า น้ำมันบางอย่าง สบู่ และครีมทาผิว ตลอดจนของอื่นๆ ในจำพวกเดียวกันนี้ พระภิกษุสามเณรและผู้ถือศีล ๘ ใช้ได้หรือไม่

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับเจตนา คือ ถ้าผู้ผลิตมีเจตนาจะให้ใช้เป็นเครื่องสำอาง และผู้ใช้ก็ตั้งใจใช้เป็นเครื่องสำอาง หรือแม้มิใช่ผลิตเพื่อเป็นเครื่องสำอาง แต่ผู้ใช้ตั้งใจใช้เป็นเครื่องสำอาง (เช่นกรณีร้อยดอกไม้เพื่อใช้บูชาพระ แต่เอามาทัดทรงประดับร่างกาย) ก็ผิดศีล 

ตรงกันข้าม แม้ของสิ่งนั้นจะผลิตขึ้นด้วยเจตนาจะให้ใช้เป็นเครื่องสำอาง แต่ผู้ใช้มีเจตนาจะใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรค และวิธีใช้ก็แสดงเจตนาชัดเจน ก็ไม่ผิดศีล 

ตัวชี้วัดเจตนาคือจิตของเจ้าตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับคำพูดบอกกล่าวแก่ใครๆ ถ้าเจตนาใช้เป็นเครื่องสำอาง แต่บอกแก่ใครๆ ว่าใช้เป็นยา ก็เท่ากับผิด ๒ ชั้น คือผิดศีลข้อนี้ชั้นหนึ่ง และผิดข้อมุสาวาทอีกชั้นหนึ่ง

ข้อ ๒ ญาติโยมถวายดอกไม้แก่พระภิกษุสามเณร ขัดต่อศีลข้อนี้หรือไม่ บางวัดหรือบางรูปปฏิเสธไม่รับดอกไม้โดยอ้างว่าขัดต่อศีลข้อนี้

คำตอบคือ การถวายดอกไม้ในเวลาใส่บาตรก็ดี ถวายรวมกับเครื่องไทยธรรมในพิธีบำเพ็ญกุศลอื่นๆ ก็ดี ผู้ถวายมีเจตนาถวายเป็นเครื่องบูชา (ดอกไม้ธูปเทียนจัดเป็นชุดของเครื่องบูชาดังที่ทราบกันอยู่แล้ว) มิได้ถวายด้วยเจตนาจะให้นำไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย จึงไม่เข้าข่ายข้อห้ามในศีลข้อนี้ (แต่ถ้ารับมาแล้ว นำไปใช้เป็นเครื่องประดับร่างกาย ก็ต้องพิจารณาอีกแง่หนึ่งตามนัยที่กล่าวในข้อ ๑) 

.........................................................

(ยังมีต่อ)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มกราคม ๒๕๖๖

๑๔:๒๑

[full-post]

องค์ศีล,อกุศลกรรมบถ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.