คำเพี้ยนเพราะเขียนผิด
---------------------
เมื่อวาน (๗ มกราคม ๒๕๖๖) ผมเขียนคำว่า “คิริพพชะ” เป็นบาลีวันละคำ
..................................
ลืมบอกไปว่า แรงบันดาลใจให้เขียนคำนี้มาจากการได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านเล่าเรื่องไปไหว้พระที่อินเดีย เล่าถึงตอนไปไหว้พระที่เมืองราชคฤห์ซึ่งในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ และบอกว่าเมืองราชคฤห์นั้นมีภูเขา ๕ ลูก คือเขาปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ ตั้งล้อมอยู่โดยรอบ เพราะฉะนั้น จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าเมือง “คิริวราชา”
ผมเกิดอาการ “หูผึ่ง” ตรงคำว่า “คิริวราชา”
ตามที่เรียนมา ชื่ออีกชื่อหนึ่งของเมืองราชคฤห์ในภาษาบาลีเรียกว่า “คิริพฺพช” (อ่านว่า คิ-ริบ-พะ-ชะ)
“คิริพฺพช” เขียนตามรูปเดิม ไม่แปลง ว เป็น พ ก็จะเป็น “คิริวช” (อ่านว่า คิ-ริ-วะ-ชะ)
“คิริ” แปลว่า ภูเขา
“วช” แปลว่า คอกวัว หรือคอกสัตว์
“คิริวช” แปลว่า “เมืองที่มีภูเขาเป็นคอก” หมายความว่า มีภูเขาล้อมรอบเหมือนคอกวัว เมืองอยู่ตรงกลางเหมือนอยู่ในคอก
โดยภูมิประเทศจริง ภูเขา ๕ ลูก ไม่ได้อยู่ติดกันเป็นพืดเป็นวงกลมเหมือนคอกวัว ภูเขาแต่ละลูกตั้งอยู่ห่างกัน กว่าจะเดินถึงกันใช้เวลาเป็นชั่วโมง
ถ้ายืนอยู่ ณ ที่ตั้งเมืองราชคฤห์ แล้วหันไปมองรอบๆ ก็จะเห็นภูเขา ๕ ลูกนั้นตั้งอยู่ในทิศต่างๆ รอบเมืองราชคฤห์ อย่างนี้แหละจึงเรียกเมืองราชคฤห์ว่า “คิริวช” > “คิริพฺพช” > “คิริพพชะ” = “เมืองที่มีภูเขาเป็นคอก” คือเมืองที่ตั้งอยู่ในวงล้อมของภูเขา-เหมือนอยู่ในคอก
แล้วญาติมิตรท่านนั้นไปเอาคำว่า “คิริวราชา” มาจากไหน?
“คิริวราชา” ชวนให้แปลว่า “ราชาแห่งภูเขา” (king of the mountains) - ไปโน่นเลย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary edited by T. W. RHYS DAVIDS) บอกว่า “คิริพฺพช” < “คิริวช” ภาษาสันสกฤตเป็น “คิริวฺรช”
“คิริวฺรช” ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมัน ก็จะเป็น Girivraja
(กรุณาอย่าพูดว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” นะครับ นั่นคือพูดผิด Girivraja ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาสันสกฤต แต่เขียนเป็นอักษรโรมัน นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยเราพูดผิดสุดขั้นโลก! และไม่ยอมแก้ไข)
Girivraja ถอดเป็นอักษรไทย ที่เราเรียกว่า “ทับศัพท์” แบบไม่รับรู้อักขรวิธี คือทับศัพท์ไปตามที่เข้าใจเอาเอง ก็ชวนให้ทับศัพท์เป็น “คิริวราชา”
ถ้าจะให้ผมเดา ต้นเรื่องเดิม-คงจะมีใครคนหนึ่งเขียนเล่าเรื่องเมืองราชคฤห์เป็นภาษาอังกฤษ และเล่าว่าเมืองราชคฤห์มีอีกชื่อหนึ่งว่า Girivraja
แล้วก็มีคนแปลเรื่องนั้นเป็นภาษาไทย พอถึงคำว่า Girivraja ก็ทับศัพท์เอาเองตามความเข้าใจของผู้แปล เป็น “คิริวราชา”
แล้วก็มีคนหยิบเอาคำว่า “คิริวราชา” ไปอ้างต่อไปอีก และต่อไปอีก จนมาถึงญาติมิตรท่านนั้น ท่านก็เอามาอ้างด้วย-ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะ “ใครๆ เขาอ้างอย่างนี้” - อันเป็นเหตุผลยอดนิยมที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง
ผมนึกถึงคำว่า “เพชฉลูกรรม”
คำนี้อ่านว่า เพ็ด-ฉะ-หฺลู-กำ
หมายถึง พระวิศวกรรม คือเทวดาตนหนึ่งผู้ชำนาญในการช่างทั้งปวง
ญาติมิตรลองคิดดูเถิด “วิศวกรรม” ยังกลายเป็น “เพชฉลูกรรม” ได้
ทำไมเล่า “คิริพฺพช” < “คิริวช” จึงจะกลาย “คิริวราชา” ไม่ได้
ถ้าไม่มีใครทักท้วงกันไว้ เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นาน ประวัติเมืองราชคฤห์ก็จะมีคนเอาไปเล่า เอาไปพูด และเอาไปเขียนว่า ...
เมืองราชคฤห์มีอีกชื่อหนึ่งว่า “คิริพพชะ” หรือ “คิริวชะ” บางแห่งเรียกว่า “คิริวราชา” ก็มี - นั่นแน่! ได้รับการรับรองว่าถูกต้องไปเลย
ขอแรงหน่อยนะครับญาติมิตร อะไรที่มันไม่ถูก กรุณาอย่าไปช่วยกันรับรองว่ามันถูก
และเมื่อจะเล่าเรื่องอะไรที่ต้องเอ่ยถึงชื่อเมืองชื่อคน-โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ขอความกรุณาศึกษาตรวจสอบไปให้ถึงต้นธาตุต้นธรรมต้นน้ำต้นทางด้วยนะครับ เป็นการช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นมหากุศลทั้งแก่ตัวเราผู้เผยแพร่และแก่ผู้ที่รับถ่ายทอดข้อมูลต่อไปจากเรา
ขออนุโมทนาสาธุมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
--------------------------
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๘ มกราคม ๒๕๖๖
๑๑:๕๘
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ