องค์ศีล (๔)

----------

ศีลข้อที่ ๒ 

.............

คำบาลีว่า “อทินฺนาทานา เวรมณี” (อะทินนาทานา เวระมะณี) แปลว่า เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ (to abstain from stealing)

ศีลข้อนี้เรียกเป็นคำไทยว่า “อทินนาทาน”

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็นอทินนาทานมี ๕ ประการ คือ 

(๑) ปรปริคฺคหิตํ (ปะระปะริคคะหิตัง) ทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น และเจ้าของยังทรงสิทธิ์ครอบครองหวงแหนอยู่

(๒) ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา (ปะระปะริคคะหิตะสัญหิตา) ผู้กระทำผิดรู้ข้อเท็จจริงตามข้อต้นนั้น

(๓) เถยฺยจิตฺตํ (เถยยะจิตตัง) มีเจตนาที่จะได้ทรัพย์นั้นมาครอบครองโดยที่เจ้าของมิได้ยินยอมพร้อมใจ

(๔) อุปกฺกโม (อุปักกะโม) ลงมือกระทำการ

(๕) เตน  หรณํ (เตนะ หะระณัง) ได้ทรัพย์นั้นมาครอบครองโดยผลแห่งการกระทำนั้น

ข้อสังเกต :

คำว่า “ได้ทรัพย์นั้นมาครอบครอง” กินความแค่ไหน อย่างไรคือการได้มาครอบครอง เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา

ทรัพย์บางอย่าง เคลื่อนย้ายเอาไปได้สำเร็จ ถือว่าได้ทรัพย์นั้นมาครอบครอง

เช่น ขโมยยกพระพุทธรูปองค์ใหญ่ใส่รถ ถ้ายังอยู่ภายในวัด ถือว่ายังไม่ได้เอาไปครอบครอง แต่ถ้าขับออกไปนอกวัด ถือว่าได้ไปครอบครองแล้ว

ทรัพย์บางอย่าง เคลื่อนจากที่เดิมมาอยู่กับตัวผู้กระทำ แม้ยังไม่ได้เอาไปที่อื่น ก็ถือว่าได้ทรัพย์นั้นมาครอบครอง

เช่น ได้รับเชิญไปเที่ยวชมบ้าน ขณะเดินชม เห็นแหวนที่เจ้าของบ้านวางไว้บนโต๊ะ หยิบแหวนนั้นมาใส่กระเป๋าตัวเอง ก็ถือว่าได้ทรัพย์นั้นมาครอบครองแล้วแม้ตัวผู้กระทำจะยังอยู่ภายในบ้านนั้นเอง

ที่ว่ามานี้เป็นการยกตัวอย่างมาเพื่อเป็นกรณีศึกษา ไม่ได้หมายความว่าถูกต้องตามที่ว่ามานี้ 

หลักเกี่ยวกับเรื่อง “ได้ทรัพย์นั้นมาครอบครอง” กำหนดไว้อย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น

แล้วหลักกำหนดไว้อย่างไร? - นี่แหละที่ว่า “เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา”

........................

ขอยกหลักว่าด้วยกรณีภิกษุขโมยวัวที่ท่านกำหนดไว้ในพระวินัยปิฎกมาเสนอเป็นตัวอย่างแห่งการศึกษา ดังนี้ -

......................................................

(๑) วัวยืนอยู่ ไม่ได้ผูกล่าม กรณีนี้ฐานของทรัพย์มี ๔ ฐาน คือขาทั้ง ๔ ของวัว

ภิกษุมีเจตนาจะลัก (องค์ประกอบข้อ ๓) ทำให้วัวก้าวขาจากที่ยืน --

ขาที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ก้าวจากที่ยืน ยังไม่เป็นปาราชิก (ปาราชิก = โทษขั้นสูงสุด สิ้นสภาพความเป็นภิกษุทันที)

ขาที่ ๔ ก้าวจากที่ยืน เป็นปาราชิกทันที แม้ยังไม่ได้เอาวัวไปไหนเลย

(๒) วัวยืนอยู่และมีเชือกลามไว้ กรณีนี้ฐานของทรัพย์มี ๕ ฐาน คือขาทั้ง ๔ ของวัว + เชือกที่ล่ามวัว

กรณีนี้ แม้จะทำให้วัวก้าวขาจากที่ครบทั้ง ๔ ขา แต่ถ้ายังไม่ได้แก้เชือกให้หลุดจากที่ล่าม ก็ยังไม่เป็นปาราชิก เพราะยังไม่ครบ ๕ ฐาน พอแก้เชือกหลุดจึงเป็นปาราชิก

แต่ถ้าแก้เชือกก่อน แล้วจึงทำให้วัวก้าวขา พอวัวก้าวขาที่ ๔ ก็เป็นปาราชิก เพราะครบ ๕ ฐาน

(๓) วัวนอนอยู่ ถ้าไม่ได้ล่าม มีฐานเดียวคือที่นอนของวัว ภิกษุมีเจตนาจะลัก ทำให้วัวลุกขึ้นยืน พอวัวลุกขึ้นยืนก็เป็นปาราชิกทันที

(๔) วัวนอนอยู่และล่ามเชือกด้วย มี ๒ ฐาน คือที่นอนของวัวและเชือกที่ล่าม ภิกษุมีเจตนาจะลัก แก้เชือกแล้วทำให้วัวลุกขึ้นยืน หรือให้วัวลุกขึ้นแล้วแก้เชือก เมื่อครบ ๒ ฐาน เป็นปาราชิก

(๕) วัวอยู่ในคอก ไม่ได้ล่าม คอกวัวเป็นฐาน วัวยังอยู่ในคอก แม้จะไล่ต้อนให้เดินวนสักกี่รอบก็ยังไม่เป็นปาราชิก ภิกษุทำให้วัวก้าวขาพ้นประตูคอก (ทำด้วยประการใดๆ ให้วัวออกพ้นไปจากคอก) จึงเป็นปาราชิก

(๖) วัวอยู่ในคอก แต่ล่ามเชือกไว้ กรณีนี้ฐานของทรัพย์มี ๕ ฐาน ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับข้อ (๒) ภิกษุแก้เชือกและทำให้วัวก้าวขาครบ ๔ ขา แม้จะยังไม่ได้ออกไปพ้นคอก ก็เป็นปาราชิก

......................................................

อ่านรายละเอียดจากคัมภีร์ต้นฉบับที่ลิงก์นี้

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=90&p=4#

......................................................

ญาติมิตรที่ถนัดทางกฎหมาย ถ้าจะกรุณาช่วยกันเสนอหลักกฎหมายว่าด้วยลักขโมยฉ้อโกง เพื่อประกอบกันเข้ากับหลักทางศีลธรรมเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

.........................................................

ปัญหาลองภูมิ : 

เห็นคนวางโทรศัพท์ไว้แล้วลืม เจ้าของโทรศัพท์เดินไปทางอื่น

เราอยากได้ เลยหยิบใส่กระเป๋าตัวเอง

อึดใจต่อมา เกิดคิดได้ว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก

ก็เลยเอาไปวางที่เดิม

ศีลข้ออทินนาทานขาดหรือไม่ เพราะเหตุไร?

.........................................................

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มกราคม ๒๕๖๖

๑๘:๔๑

[full-post]

อทินนาทาน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.