คำแนะนำเมื่อโพสต์เรื่องจากคัมภีร์

---------------------------------

ญาติมิตรที่มีจิตศรัทธายกเอาเรื่องราวจากคัมภีร์พระไตรปิฎกมาโพสต์ จะคัดลอกข้อความจากต้นฉบับมาโดยตรง หรือเก็บความมาเล่าด้วยสำนวนของตนเองก็ตาม ผมมีข้อแนะนำดังนี้

๑ อ่านเรื่องจากต้นฉบับให้ละเอียดและแน่ใจว่าเข้าใจเรื่องอย่างถูกต้อง ถ้อยคำภาษาไม่ผิดพลาดขาดเกิน

๒ ถ้ารู้บาลี กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับบาลีให้ถี่ถ้วน ให้แน่ใจว่าแปลมาถูกต้องตามต้นฉบับบาลี

๓ ถ้าไม่รู้บาลี กรุณาตรวจสอบคำแปลกับฉบับอื่นๆ ว่าแปลต่างกันหรือตรงกัน เช่น ฉบับมหามกุฎฯ ว่าอย่างนี้ ฉบับมหาจุฬาฯ ว่าอย่างไร ฉบับอื่นๆ อีกว่าอย่างไร

กรุณาหลีกเลี่ยงข้ออ้างที่ว่า “ก็เขาพิมพ์มาอย่างนี้ ฉันก็ลอกมาอย่างนี้” ถ้าจะอ้างอย่างนี้ควรสอบถามไปยังเจ้าของต้นฉบับที่เป็น original ก่อน เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า-ฉันก็ไม่รู้ ฉันเองก็ลอกมาอีกทีหนึ่งเหมือนกัน

๔ อีกวิธีหนึ่ง-ถ้าไม่รู้บาลี จงสอบถาม หารือ ปรึกษา เรียนรู้กับผู้รู้บาลีก่อน จนแน่ใจว่าถูกต้องจึงนำเรื่องนั้นไปโพสต์เผยแพร่

ผู้รู้บาลีในเมืองไทยมีอยู่ทั่วไป ถ้าหาไม่ได้ ก็จงโวยวายขึ้นมาให้เป็นประเด็น -

.....................................................

ไหนว่าส่งเสริมการเรียนบาลีกันดีนัก 

นี่ฉันกำลังต้องการผู้รู้บาลี 

ทำไมจึงหาไม่ได้ 

ไปไหนกันหมด 

.....................................................

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รู้สึกตัว

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว

เรื่องในคัมภีร์เป็นดังนี้ -

.....................................................

เสยฺยถาปิ  ภิกฺขเว  ปุริโส  เอกจฺฉิคฺคฬํ  ยุคํ มหาสมุทฺเท  ปกฺขิเปยฺย  ฯ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนทุ่นมีบ่วงตาเดียวไปในมหาสมุทร

ตเมนํ  ปุรตฺถิโม  วาโต  ปจฺฉิเมน  สํหเรยฺย  

ทุ่นนั้นถูกลมตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก

ปจฺฉิโม  วาโต  ปุรตฺถิเมน  สํหเรยฺย  

ถูกลมตะวันตกพัดไปทางทิศตะวันออก

อุตฺตโร  วาโต  ทกฺขิเณน  สํหเรยฺย  

ถูกลมเหนือพัดไปทางทิศใต้

ทกฺขิโณ  วาโต  อุตฺตเรน  สํหเรยฺย  ฯ  

ถูกลมใต้พัดไปทางทิศเหนือ

ตตฺราสฺส  กาโณ  กจฺฉโป  

มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น

โส  วสฺสสตสฺส  อจฺจเยน  สกึ  อุมฺมุชฺเชยฺย  ฯ  

ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง

ตํ  กึ  มญฺญถ  ภิกฺขเว  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

อปิ  นุ  โส  กาโณ  กจฺฉโป  อมุสฺมึ  เอกจฺฉิคฺคเฬ  ยุเค  คีวํ  ปเวเสยฺยาติ  ฯ  

เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ

โน  เหตํ  ภนฺเต  

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลยพระพุทธเจ้าข้า

ยทิ  นูน  ภนฺเต  กทาจิ  กรหจิ  ทีฆสฺส  อทฺธุโน  อจฺจเยนาติ  ฯ

ข้าแต่พระองค์เจริญ ถ้าจะเป็นไปได้บ้างในบางครั้งบางคราวก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน

ที่มา: พาลปัณฑิตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๔๘๑

.....................................................

มีผู้นำเรื่องนี้ไปเล่าต่อ ท่านเล่าว่า มีชายคนหนึ่งโยนห่วงลงไปในทะเลเพื่อจะให้ห่วงสวมไปที่คอเต่าตาบอด เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่จะโยนห่วงให้สวมคอเต่าได้พอดี

.....................................................

ตามเรื่องในคัมภีร์ ท่านพูดถึงเต่าตาบอดในทะเล ร้อยปีโผล่ขึ้นมาทีหนึ่ง ยากที่จะเอาคอสวมห่วงที่ลอยเคว้งคว้างได้พอดี 

ไม่ได้พูดถึงคนโยนห่วงเพื่อจะให้ไปสวมคอเตา

.....................................................

จะเห็นได้ว่า การนำเรื่องจากคัมภีร์มาเผยแพร่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ควรเห็นเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าไม่รอบคอบจะกลายเป็นช่วยกันทำให้วิปริตผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

...........................

คนเก่าท่านเล่าไว้เป็นข้อเตือนสติว่า ตำรายาไทยขนานหนึ่ง ต้นตำรับบอกว่า เวลากินให้ปั้นเป็นลูกกลอน (ลูกกลอน = เม็ดยาเปียก ๆ ที่ปั้นเป็นก้อนกลมเพื่อกลืนกิน) ขนาดเท่าเม็ดนุ่น 

คัดลอกบอกต่อสืบๆ กันมาจนถึงฉบับล่าสุดบอกว่า เวลากินให้ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดขนุน! 

นี่คือโทษของการไม่ศึกษาตรวจสอบให้รอบคอบถี่ถ้วน

โปรดอย่าทำให้เรื่องในคัมภีร์คือหลักพระธรรมวินัยเป็นเหมือนตำรายาที่ว่านี้

--------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๐:๕๕

[full-post]

คำแนะนำเมื่อโพสต์เรื่องจากคัมภีร์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.