ศึกษาเรื่องเดิม - เริ่มที่งานศพ (๔)

---------------------------------

สวดมาติกาบังสุกุลคือสวดอะไร?

ทบทวนนิดหนึ่ง

“สวด” ในงานศพจะเริ่มด้วยสวดพระอภิธรรม คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สวดเฉพาะบทแรกของแต่ละคัมภีร์ นิยมสวดตอนค่ำ เจตนาดั้งเดิมคือสวดเป็นเพื่อนศพ 

สวดพระอภิธรรมนี้มักพูดลัดเป็น “สวดพระธรรม” ชาวบ้านจะพูดลัดลงไปอีก เช่น “ไปฟังสวด” เป็นอันเข้าใจกันว่าหมายถึงสวดพระอภิธรรม

“สวดแจง” คือสวดพระไตรปิฎก สวดเฉพาะกัณฑ์แรกพระสูตรแรกของแต่ละปิฎก สวดต่อจากเทศน์ในวันเผาศพ 

“สวดมาติกาบังสุกุล” ที่สวดจริงๆ คือบทมาติกา ส่วนบังสุกุลเป็นกิจที่ทำต่อจากสวด จึงเรียกควบกันไปว่าสวดมาติกาบังสุกุล คนเก่าเรียกแค่ “สวดมาติกา” หรือ “มาติกา” คำเดียวก็เป็นอันรู้กัน

บทที่สวดมาติกาเป็นบทแรกในคัมภีร์ธัมมสังคณีอันเป็นคัมภีร์แรกในพระอภิธรรมปิฎก ขึ้นต้นว่า

กุสะลา  ธัมมา  อะกุสลา  ธัมมา  อัพ๎ยากะตา  ธมฺมา 

สุขายะ  เวทะนายะ  สัมปะยุตตา  ธัมมา  ฯปฯ 

ไปจบแค่ ... สะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา  ธัมมา  อะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา  ธมมา  อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา  ธัมมา  ฯ 

บทมาติกานี้ชื่อ “ธัมมสังคณีมาติกา” คนเก่าเรียก “กุสะลาใหญ่” เพราะขึ้นต้นเหมือนกุสะลาในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเรียกกันว่า “กุสะลาเล็ก” เพราะสั้นกว่าธัมมสังคณีมาติกา

สวดมาติกานี้ ถ้ามีสวดแจง ก็สวดต่อจากสวดแจงไปเลย ถ้าไม่มีสวดแจงก็สวดเฉพาะมาติกา

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า มาติกาแบบเดิมนั้นพอจบมาติกาแล้วจะต่อด้วยบทที่เรียกว่า “วิปัสสะนาภูมิปาฐะ” ขึ้นต้นว่า -

ปัญจักขันธา  รูปักขันโธ  เวทะนากขันโธ  สัญญากขันโธ  สังขารักขันโธ  วิญญาณักขันโธ  ฯ  ท๎วาทะสายะตะนานิ  จักข๎วายะตะนัง  ฯเปฯ 

ไปจบที่ ... ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง  ฯ

แล้วต่อด้วยปะฏิจจะสะมุปบาทปาฐะ คือที่ขึ้นต้นว่า อะวิชชาปัจจะยา  สังขารา  สังขาระปัจจะยา  วิญญาณัง  ฯเปฯ 

ไปจบที่ ... ทุกขักขันธัสสะ  นิโรโธ  โหตีติ  ฯ

แล้วจึงปิดท้ายด้วย เห-ตุปัจจะโย บทเดียวกับบทสุดท้ายของอภิธรรม ๗ คัมภีร์

แต่มาติกาทุกวันนี้ จบบทกุสะลาใหญ่แล้วต่อด้วย เห-ตุปัจจะโย ไปเลย

.........................................................

ที่ผมว่า ของเดิมจบบทกุสะลาใหญ่แล้วต่อด้วยวิปัสสะนาภูมิปาฐะและปะฏิจจะสะมุปบาทปาฐะนั้น ไม่ยืนยันว่าจำมาถูกหรือคลาดเคลื่อน ขอความกรุณาท่านที่แม่นเรื่องเดิมช่วยสงเคราะห์บอกกล่าวด้วยนะครับ

.........................................................

สวดแจง-สวดมาติกา เป็นการสวดในวันเผาต่อจากเทศน์

มาติกาจบ เห-ตุปัจจะโย แล้วก็ต่อด้วยบังสุกุล ของเดิมไม่มีทอดผ้า เพียงแต่คลี่สายสิญจน์ซึ่งใช้แทนภูษาโยงไปที่หน้าพระ พระจับสายสิญจน์ว่าบทบังสุกุล แล้วอนุโมทนายะถาสัพพี เป็นอันเสร็จพิธีมาติกาบังสุกุล

ของใหม่มีทอดผ้าก่อนบังสุกุล ถ้าเป็นวัดนอกๆ เป็นการทอดแบบรวมการ คือเจ้าภาพแจกผ้าให้ผู้มาร่วมพิธี ผู้ได้รับผ้าก็ไปทอดแบบตะลุมบอน ไม่จำเพาะเจาะจง แต่วัดในเมืองมักเจาะจงตัวผู้ทอดผ้า ทอดตามที่ได้รับเชิญ

ที่ของเดิมไม่มีทอดผ้าท้ายมาติกานั้นเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะสมัยก่อนผ้าไม่มีฟุ่มเฟือยเหมือนสมัยนี้ พระจับสายสิญจน์บังสุกุลมือเปล่า แต่สมัยนี้ผ้าหาง่ายขึ้น จึงมีผ้าทอดด้วย

..................

จบมาติกาบังสุกุลแล้วก็ถึงพิธีเผา

สมัยก่อน เผาศพบนกองฟอน คนไปเผาศพแบกฟืนจริงๆ ไปเผา ยืนยันได้เพราะผมอยู่ในที่เกิดเหตุ ทางบ้านผม (อำเภอปากท่อ ราชบุรี) คนเก่าเขาพูดว่า “ไปจุดศพ” 

ใส่ฟืนออกมาแล้วมีน้ำไว้ให้ล้างหน้าด้วย เหมือนเป็นเคล็ดหรือเป็นเรื่อง “ถือ” อะไรอย่างหนึ่ง 

ภาพเช่นนี้คนสมัยใหม่ไม่ได้เห็นอีกแล้ว

กาลเวลาผ่านไป เมื่อการเผาศพไม่ต้องใช้ฟืน ฟืนก็ลดรูปลงมาเป็นธูป แล้วก็กลายร่างเป็นดอกไม้จันทน์อย่างที่เราเห็นกัน 

ทุกวันนี้ หลายพื้นที่ในราชบุรี คนไปเผาศพยังนิยมถือธูปไปเผา ใครเคยไปเผาศพแถวราชบุรีอาจโชคดีได้เห็น นี่ก็ขอยืนยันว่ายังทำกันอยู่

เวลาหยิบดอกไม้จันทน์ นึกถึงต้นกำเนิดไปด้วยก็ไม่เสียหายอะไรนะครับ

..................

ก่อนเผา ของเดิมก็มีการทอดผ้า เจ้าภาพทอดเอง เอาผ้าไปพาดไว้ที่ปากโลงจริงๆ อย่างมากก็ ๔ มุมโลง ไม่มีธรรมเนียมเชิญใครต่อใครทอดอย่างที่ทำกันทุกวันนี้ แขกบางคนมีศรัทธาเอาผ้ามาด้วยก็ทอดด้วย แต่น้อยราย

พระยาอนุมานราชธนท่านเขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่าเป็นหนังสืออะไร ท่านไปเผาศพงานหนึ่งในกรุง เจ้าภาพเชิญท่านทอดผ้า ท่านบอกว่ารู้สึกขัดเขินเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากท่านไม่ได้เตรียมผ้าไป

เรื่องที่ท่านเล่านี้เป็นข้อยืนยันว่า ของเดิมสมัยก่อน ไปเผาศพ ใครมีศรัทธาจะทอดผ้าก็จะเตรียมผ้าของตัวเองไปทอด ไม่ใช่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ให้เหมือนที่ทำกันสมัยนี้

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนสมัยนี้ไม่รู้

เกิดมา ไปงานศพไหนๆ ก็เห็นแต่เชิญแขกขึ้นทอดผ้าบนเมรุ เจ้าภาพเตรียมผ้าไว้ให้พร้อม เป็นผ้าของเจ้าภาพ ไม่ใช่ผ้าของคนทอด นึกไม่ออกว่าคนสมัยก่อนเขาเอาผ้าของตัวเองไปทอด

เดี๋ยวนี้ ถ้าใครเอาผ้าของตัวเองมาจากบ้านขึ้นไปทอด คงเป็นเรื่องผิด หรือกลายเป็นเรื่องตลกไป

แต่ถ้าช่วยกันศึกษาให้รู้ที่ไปที่มา

เราอาจไม่กล้าไปตลกใส่ใคร-ก็ได้

..................

ตอนต่อไป-นิมนต์พระขึ้นไปทำอะไรกับผ้า?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๘:๔๓

[full-post]

เริ่มที่งานศพ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.