อุทิศมังสะ

------------

ชื่อเรื่องนี้อ่านว่า อุ-ทิด-สะ-มัง-สะ 

ไม่ใช่ อุ-ทิด-มัง-สะ

“อุทิศมังสะ” คำบาลีเป็น “อุทฺทิสฺสมํส” อ่านว่า อุด-ทิด-สะ-มัง-สะ 

“อุทฺทิสฺสมํส” ประกอบด้วยคำว่า อุทฺทิสฺส ( = เจาะจง, มุ่งให้แก่) + มํส ( = เนื้อสัตว์) = อุทฺทิสฺสมํส แปลตามศัพท์ว่า “เนื้อสัตว์เจาะจง” 

“อุทฺทิสฺสมํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุทิศมังสะ”

“อุทฺทิสฺสมํส = อุทิศมังสะ” หมายถึงเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าโดยมุ่งหมายจะถวายแก่ภิกษุนั้นๆ โดยเฉพาะ 

กรณีเช่นนี้ ถ้ามีองค์ประกอบ กล่าวคือ

(๑) ทิฏฐะ ได้เห็น = เห็นด้วยตนเองว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อจะเอามาถวายตน

(๒) สุตะ ได้ยิน = มีผู้บอกให้รู้ว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อจะเอามาถวายตน

(๓) ปริสังกิตะ สงสัย = ไม่เห็น ไม่มีใครบอก แต่นึกระแวงขึ้นมาว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อจะเอามาถวายตน

ถ้ามีองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนี้ ท่านมิให้ภิกษุฉัน หากภิกษุฉันทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติ

ตัวอย่างเช่น ภิกษุไปเยี่ยมบ้านโยม ถึงเวลาฉันเพล -

๑- “ได้เห็น” คือได้เห็นโยมไล่จับไก่หรือกำลังเชือดไก่ พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่ 

๒- “ได้ยิน” คือไม่เห็น แต่เด็กในบ้านมากระซิบว่า “หลวงพี่ เดี๋ยวโยมเขาจะเชือดไก่แกงถวาย” พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่ 

๓- “สงสัย” คือไม่ได้เห็นกับตา ทั้งไม่มีใครมาบอก แต่สังเกตเห็นว่าไก่ที่เคยเห็นเดินอยู่ในบ้านหายไป พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่

ถ้าเข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนี้ เนื้อสัตว์นั้นจัดว่าเป็น “อุทิศมังสะ” พระฉันไม่ได้

ถ้าไม่เข้าข่ายดังกล่าวนี้ พระฉันได้

เพื่อยืนยันให้มั่นใจ โปรดศึกษาได้จากชีวกสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๕๖-๖๑

.........................................................

https://84000.org/tipitaka/read/?13/56

.........................................................

เมื่อมั่นใจแล้ว ก็ไม่ต้องเถียงกันว่า พระฉันเนื้อสัตว์ได้หรือไม่? พระฉันเนื้อสัตว์ชื่อว่าขาดเมตตาใช่หรือไม่?

ช่วยกันศึกษาเพื่อเจริญปัญญาในเทศกาลกินเจครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๕:๒๖

[full-post]

อุทิศมังสะ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.