ศึกษาเรื่องเดิม - เริ่มที่งานศพ (๑๐)-จบ

---------------------------------

ศึกษาคำพิจารณา

พระท่านว่าบท “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” อันเป็นบทพิจารณาสังขาร-คือ “พิจารณาศพ” จะอธิบายอย่างไรให้เป็นการ “พิจารณาผ้า”?

ก็ต้องอธิบายว่า “ผ้า” ก็ถือว่าเป็น “สังขาร” อย่างหนึ่ง วันนี้เป็นผ้า วันหน้าก็กลายเป็นธุลีดิน ตรงตามพระบาลีที่ว่า “อุปปัชชิต๎วา  นิรุชฌันติ  สังขารทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป” - ก็ไม่ผิดหลักมิใช่หรือ?

ไม่ผิดหลักนี้ แต่ก็ไปผิดหลักที่อ้างว่า “พิจารณาผ้า” คือพิจารณาตามหลักอภิณหปัจจเวกขณะ-พิจารณาขณะรับปัจจัย 

พิจารณาขณะรับปัจจัยจะต้องว่าบท-ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ... 

ไม่ใช่ “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” 

ยุ่งอีก

ยิ่งอธิบายยิ่งยุ่ง

..................

ถ้ายืนยันจะใช้คำว่า “พิจารณาผ้า” และเพื่อให้ถูกหลักตามที่อ้าง (คืออ้างหลักอภิณหปัจจเวกขณะ) ก็ต้องประกาศเปลี่ยนแปลงกันใหม่ นั่นคือ -

ต่อไปนี้พระที่ขึ้นไป “พิจารณาผ้า” ให้ยกเลิกคำพิจารณาว่า “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” อันเป็นบทพิจารณาศพ

และให้ใช้คำพิจารณาว่า “ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ...” อันเป็นบทพิจารณาผ้าแทน 

กลายเป็นเรื่องใหญ่อีก

และจะต้องอธิบายเหตุผลกันเป็นการใหญ่ว่า ศพอยู่ตรงหน้าแท้ๆ ใช้บทว่า “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” ก็ถูกต้องแล้ว ไปเปลี่ยนเป็น “ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ...” ทำไม

ศพอยู่ตรงหน้าทำไมไม่พิจารณา

ไปพิจารณาผ้าทำไม 

..................

หรือจะดิ้นต่อไปอีก -

อ๋อ ก็- “พิจารณาผ้า” ตามหลักเดิมของผ้าบังสุกุลก็ได้นี่ ผ้าบังสุกุลของเดิมโยมเอาไปทอดไว้ตามทาง พระไปพบเข้าก็ “พิจารณาผ้า”

คำพิจารณาว่า -

.........................................................

อิมัง  ปังสุกูละจีวะรัง  อัสสามิกัง  มัยหัง  ปาปุณาติ 

ทุติยัมปิ ...

ตะติยัมปิ ...

แปลว่า “ผ้าบังสุกุลจีวรผืนนี้ไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของข้าพเจ้า” 

.........................................................

แบบนี้ ก็ยังใช้คำว่า “พิจารณาผ้า” ได้ ไม่ผิดหลัก

อธิบายแบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนบท “ว่า” จาก “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” มาเป็น “อิมัง  ปังสุกูละจีวะรัง  อัสสามิกัง”

ก็ยุ่งอยู่นั่นเอง

และที่ยุ่งมากก็คือ คำว่า “อัสสามิกัง = ผ้าบังสุกุลจีวรผืนนี้ไม่มีเจ้าของ”

ทั้งๆ ที่คนทอดหรือเจ้าของก็ยืนหัวโด่อยู่ตรงนั้น!!

หรือจะต้องตัดคำว่า “อัสสามิกัง = ไม่มีเจ้าของ” ออกไป

ไปกันใหญ่ละครับอีทีนี้

บทที่พระท่าน “ว่า” มาตั้งแต่ก่อนบิดาของบิดาของเราเกิด ก็จะมายับเยินลงด้วยมือของคนรุ่นเรานี่แหละ

สาเหตุมีนิดเดียว คือเพราะไปเรียกว่า “พิจารณาผ้า” กันทั่วไปหมด 

วิธีแก้ก็มีนิดเดียวเหมือนกัน คือเลิกเรียกกันผิดๆ ว่า “พิจารณาผ้า” 

แล้วจะให้เรียกว่าอะไร?

ก็ตามไปศึกษาเรื่องเดิมสิครับ จะยากอะไร

..................

ทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ เรื่องเดิมมาจากพุทธบัญญัติให้พระใช้ผ้าบังสุกุล ขอนำมาพูดย้ำซ้ำอีกเที่ยว

ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว พระต้องเที่ยวเก็บผ้าเช่นนั้นเลือกเอาแต่ส่วนที่ยังพอใช้ได้มาซักย้อมเย็บเข้าเป็นจีวรเครื่องนุ่งห่ม

ชาวบ้านที่รู้กฎกติกาของพระ ประสงค์จะสงเคราะห์พระให้ได้ความสะดวก จึงทำอุบายเอาผ้าไปทอดหรือพาดวางไว้ตามกิ่งไม้ตามทางที่รู้ว่าพระท่านจะผ่าน เป็นทีว่าเป็นผ้าทิ้งแล้ว 

เวลาพระไปพบผ้าเช่นนี้ ท่านก็จะ “ชัก” คือดึงออกมาจากที่ที่วางหรือพาดไว้นั้น ก่อนชักก็จะพูดดังๆ ว่า “อิมัง ปังสุกูละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ” (ผ้าบังสุกุลผืนนี้ไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของข้าพเจ้า) เมื่อเห็นว่าไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของแน่แล้วท่านจึงจะ “ชัก” เอาไป-นี่คือกำเนิดของ “ผ้าป่า”

ในบรรดาแหล่งที่พระท่านจะหาผ้าได้ นอกจากกองขยะแล้วก็ยังมีตามป่าช้าอีกแหล่งหนึ่ง คือผ้าที่ห่อศพซึ่งไม่มีใครต้องการแล้ว ประกอบกับพระที่เจริญอสุภกรรมฐานท่านก็มักจะหาโอกาสไปพิจารณาซากศพตามป่าช้าด้วย ถ้ามีผ้าอยู่กับศพท่านก็จะหาวิธี “ชัก” เอาไปพร้อมไปกับพิจารณาซากศพเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปด้วย

ญาติของผู้ตายที่รู้กฎกติกาของพระก็จะถือโอกาสเอาผ้าไปคลุมหรือพาดไว้ที่ศพ แล้วนิมนต์พระไป “พิจารณา” ศพ เพื่อให้พระได้ชักเอาผ้านั้นไปทำจีวรต่อไป ได้ประโยชน์ ๒ ทาง คือได้เจริญอสุภกรรมฐานด้วย ได้ผ้าไปทำจีวรด้วย

จะเห็นได้ว่า ต้นเหตุเดิมของการทอดผ้าบนเมรุนั้น โยมนิมนต์พระไป “พิจารณาศพ” แล้ว “ชักผ้าบังสุกุล”

คำเดิมท่านเรียกว่า “ชักผ้าบังสุกุล” ครับ

และก่อนแต่จะชักผ้า พระท่านก็ยังสามารถ “พิจารณาศพ” อันเป็นเสมือนบุพกิจตามแบบแผนดั้งเดิมได้โดยไม่เป็นการขัดข้องใดๆ กล่าวคือชักผ้าหลังจากพิจารณาศพ-ตามที่พระท่านปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สอดคล้องกับคำที่เป็นบท “ชักผ้า” คือ “อะนิจจา  วะตะ  สังขารา” อันเป็นการพิจารณาศพซึ่งใช้กันมาแต่ดั้งเดิม โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงให้สับสนวุ่นวาย

แก้คำเรียกให้ถูกต้องคำเดียว แก้ปัญหาได้หมด

คำว่า “ชักผ้าบังสุกุล” นี้ คนเก่าท่านเรียกกันสั้นๆ ว่า “ชักผ้า”

สมัยก่อน พอมีงานเผาศพ เจ้าภาพจะนิมนต์พระบางรูปที่คุ้นเคยไป “ชักผ้า” คือระบุตรงๆ ว่างานนี้ขอนิมนต์ท่านไปชักผ้า เหมือนกับที่ในบัดนี้เจ้าภาพบางรายก็นิยมนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่บางรูปไปในงานศพเพื่อไป “พิจารณาผ้า” โดยเฉพาะ 

พระรุ่นเก่าท่านก็จะพูดกันว่า “โยมนิมนต์ไปชักผ้า” 

ไม่มีใครพูดว่า “โยมนิมนต์ไปพิจารณาผ้า” 

คำที่พูดกันในเวลานี้ว่า “ขออาราธนาพระ ... ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล” จึงเป็นคำเพี้ยนที่เกิดจากการไม่เรียนรู้เรื่องเดิม

..................

ขอย้ำว่า คำเดิมคำเก่าที่บรรพบุรุษของเราท่านพูดกันมาคือ “ชักผ้าบังสุกุล” ครับ

ประจักษ์พยานที่ยืนยันได้ทางหนึ่งก็คือ คำว่า “ชัก” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งบอกไว้ดังนี้ (ตัวเลขในวงเล็บเหลี่ยมเติมลงไปเพื่อแยกความหมายแต่ละอย่างให้เห็นชัดขึ้น) - 

.........................................................

ชัก ๑ : (คำกริยา) [1] ดึงสายเชือกเป็นต้นที่ผูกอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้สิ่งนั้นเคลื่อนไหวไปตามต้องการ เช่น ชักธงขึ้นเสา; [2] ดึง, ดึงออกมา, เช่น ชักดาบออกจากฝัก ชักลิ้นชักโต๊ะ; [3] ดึงเอามา เช่น ชักผ้าป่า ชักผ้าบังสุกุล; [4] ดึงออกแล้วดันเข้า เช่น ชักสูบ; [5] นำเอามาอ้าง, ยกเอามาอ้าง, เช่น ชักตัวอย่าง; [6] เอาออก, หักออก, เช่น ชักค่าอาหาร ชักค่านายหน้า; [7] ขยายแนวให้ยาวออกไป เช่น ชักปีกกา ชักกำแพง ชักแนวค่าย; [8] สี เช่น ชักซอ; [9] กระตุก เช่น ชักจ้องหน่อง. [10] (คำวิเศษณ์) ค่อนข้าง, เกือบ, เริ่ม, เช่น ชักโกรธ ชักหิว.

.........................................................

ขอให้ดูความหมายที่ [3] “ดึงเอามา เช่น ชักผ้าป่า ชักผ้าบังสุกุล”

เป็นหลักฐานยืนยันว่า คำที่ถูกต้องในการเผดียงพระเมื่อมีการทอดผ้าบนเมรุ ก็คือ “ขออาราธนาพระ ... ชักผ้าบังสุกุล”

..................

จึงขอเชิญชวน ขอร้อง กราบขอร้อง มายังพิธีกรงานศพทั้งปวงว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เวลาเผดียงพระเมื่อมีการทอดผ้าบนเมรุ ขอให้พูดว่า -

.........................................................

“ขออาราธนาพระ ... ชักผ้าบังสุกุล” 

.........................................................

-โดยทั่วกันนะครับ

..................

และขอย้ำด้วยว่า คำว่า “ชักผ้าบังสุกุล” ไม่ใช่คำที่ผมเป็นคนคิดขึ้นมา แล้วเอามายัดเยียดให้พิธีกรใช้ตาม 

“ชักผ้าบังสุกุล” เป็นคำเก่าที่ปู่ย่าตายายผู้เป็นบรรพบุรุษของเราท่านใช้กันมาแต่โบราณนานไกล ผมเป็นแต่เพียงทำหน้าที่ไปศึกษาเรื่องเดิมแล้วนำมาเสนอ และร้องขอต่อเราท่านทั้งหลายให้ช่วยกันใช้คำนี้

ดังนั้น เมื่อใช้คำนี้-“ชักผ้าบังสุกุล”-จึงไม่ต้องรู้สึกเสียเกียรติแต่ประการใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม เราควรภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่รักษา ส่งเสริม สืบสาน ภาษาอันเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติที่บรรพบุรุษท่านรังสรรค์ขึ้นไว้เป็นมรดกประจำชาติไทยให้ดำรงความงดงามไว้ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไปตลอดกาลนาน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๓:๓๕

[full-post]

ศึกษาเรื่องเดิม - เริ่มที่งานศพ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.