การเขียนราชทินนาม

---------------------

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า - 

.........................................................

ราชทินนาม  [ราดชะทินนะนาม] (คำนาม) ชื่อพระราชทานที่ตั้งกำกับยศหรือบรรดาศักดิ์แก่ขุนนาง เช่น เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาเป็นยศ ยมราชเป็นราชทินนาม หรือกำกับสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จเป็นสมณศักดิ์ พระพุทธโฆษาจารย์เป็นราชทินนาม.

.........................................................

หลักเกณฑ์สำคัญของ “ราชทินนาม” ก็คือ “เป็นกลุ่มคำ” หมายความว่า เวลาเขียนต้องเขียนติดกันทั้งกลุ่ม ไม่ใช่ไปเขียนแยกดังจะให้เข้าใจว่าเป็นชื่อคำหนึ่ง และเป็นนามสกุลอีกคำหนึ่ง อย่างที่สื่อประเภทสิ่งพิมพ์ในบ้านเรานิยมเขียน 

เช่น “พระยาอนุมานราชธน” เป็นนามบรรดาศักดิ์ของท่านผู้ใช้นามในการเขียนหนังสือว่า “เสฐียรโกเศศ” ที่แปลและเรียบเรียงหนังสือเรื่อง “กามนิต” คู่กับ “นาคะประทีป” อันเป็นนามในการเขียนหนังสือของ “พระสารประเสริฐ”

สื่อเอาไปเขียนเป็น “พระยาอนุมาน  ราชธน” ดังจะให้เข้าใจว่า“พระยาอนุมาน” เป็นชื่อ “ราชธน” เป็นนามสกุล 

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” เป็นนามบรรดาศักดิ์ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ

สื่อเอาไปเขียนเป็น “หลวงประดิษฐ์  มนูธรรม” ดังจะให้เข้าใจว่า“หลวงประดิษฐ์” เป็นชื่อ “มนูธรรม” เป็นนามสกุล 

...................

ราชทินนามที่เป็นสมณศักดิ์ของพระสงฆ์จะพบได้บ่อยมาก เช่น -

(๑) “พระครูสิริวิหารการ” 

คำว่า “พระครูสิริวิหารการ” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระครูสิริ  วิหารการ” ดังจะให้เข้าใจว่า พระครูชื่อ “สิริ” นามสกุล “วิหารการ”

(๒) “พระโสภณคณาภรณ์” 

คำว่า “พระโสภณคณาภรณ์” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระโสภณ  คณาภรณ์” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “โสภณ” นามสกุล “คณาภรณ์”

(๓) “พระราชวิสุทธิโสภณ” 

คำว่า “พระราชวิสุทธิโสภณ” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระราช  วิสุทธิโสภณ” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “ราช” นามสกุล “วิสุทธิโสภณ”

(๔) “พระเทพเวที” 

“พระเทพเวที” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระเทพ  เวที” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “เทพ” นามสกุล “เวที”

(๕) “พระธรรมโกศาจารย์” 

“พระธรรมโกศาจารย์” เป็นกลุ่มคำ คือเป็นศัพท์เดียวกัน ไม่ใช่ไปแยกเป็น “พระธรรม  โกศาจารย์” ดังจะให้เข้าใจว่า พระชื่อ “ธรรม” นามสกุล “โกศาจารย์”

...................

เรื่องนี้มีผู้พยายามช่วยกันเขียนชี้แจ้งมาแล้วหลายครั้งหลายครา แต่สิ่งที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งก็คือ สื่อประเภทสิ่งพิมพ์ในบ้านเราก็ยังคงนิยมเขียนแยกเป็นชื่อคำหนึ่ง นามสกุลคำหนึ่ง เช่น “พระครูสิริวิหารการ” ก็เขียนแยกเป็น “พระครูสิริ  วิหารการ” - ยังคงแยกคำอยู่อย่างนี้ 

แม้ใครจะเขียนชี้แจงอย่างไร ก็ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น

เคยมีผู้พูดใส่หน้าผมว่า -

.........................................................

.... คุณรู้คุณก็บอกเขาสิ สื่อเขาไม่ได้จบประโยคเก้าอย่างคุณนี่ จะให้เขารู้เหมือนคุณได้ยังไง ไปโทษสื่อไม่ได้หรอก ต้องโทษคุณนั่นแหละ เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่บอกเขา ....

.........................................................

การทำความดีกับคนเขลา ย่อมเจ็บปวดอย่างนี้เสมอ

ขอเรียนว่า ผมได้เคยชี้แจงทักท้วงมาแล้วบ่อยๆ อย่างที่เรียกว่า-พูดจนปากจะฉีก

เรื่องนี้จึงไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่รู้

และไม่ได้มีสาเหตุมาจากการไม่บอก

แต่มีสาเหตุมาจากความไม่ใฝ่รู้ และความดื้อด้าน 

สื่อรู้ทุกอย่างว่าที่เขียนมานั้นผิดอย่างไร ที่ถูกต้องเขียนอย่างไร

แต่เพราะทิฐิมานะว่า “ข้าต้องไม่ผิด” จึงไม่ยอมแก้ไข เพราะรู้สึกว่าการยอมรับผิดและยอมแก้ไขเป็นความเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี

ดูเหมือนสื่อจะตั้งเกณฑ์ไว้ว่า ต้องให้คนที่ทักท้วงเอาธูปเทียนแพเข้าไปกราบขอขมาสื่อเสียก่อน หรือคนทักท้วงจะต้องเข้าไปขอโทษที่บังอาจทักท้วง - ต้องทำอย่างนี้สื่อจึงจะยอมแก้ไขผิดให้เป็นถูก 

การมาเที่ยวตีโวหารตำหนิกันต่อหน้าสาธารณชนอย่างที่ผมประพฤติอยู่นี้-เมินเสียเถอะ 

ครับ ถ้าจะผมให้ทำแบบนั้น ก็ขอยืนยันด้วยคำเดียวกันว่า-เมินเสียเถอะ

ผมถือคติว่า 

บางกรณี บางสถานการณ์ และบางสังคม

เราอาจต้องยอมอ่อนข้อให้ “คนทำผิด” 

แต่ทุกกรณี ทุกสถานการณ์ และทุกสังคม 

เราจะไม่ยอมอ่อนข้อให้ “การทำผิด”-เป็นอันขาด

เราอาจต้องยอมให้คนทำผิดมีอำนาจเหนือเรา

แต่จะให้บอกว่าสิ่งที่เขาทำผิดๆ นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามแล้ว --

ถ้าใครยอมทำเช่นนั้น ก็เท่ากับเหยียบย่ำพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ -

.........................................................

                จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ

                องฺคํ จเช ชีวิต รกฺขมาโน

                องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ

                จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต.

                พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ

                พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

                พึงสละทุกอย่าง ทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์ ทั้งชีวิต

                เพื่อรักษาความถูกต้อง

ที่มา: สุตโสมชาดก อสีตินิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๓๘๒

.........................................................

ขออนุญาตเรียนว่า ที่ว่ามานี้ผมจงใจเขียนเพื่อให้กระทบใจสื่อ ด้วยความหวังว่า-ทุกวงการย่อมมี “บัณฑิต” รวมอยู่ด้วยเสมอ 

ผมหวังจะได้เห็นความเป็นบัณฑิต-แม้จะเป็นความเป็นบัณฑิตเพียงชั่วครู่เดียว-ก็ยังดี

สำหรับสื่อที่ตั้งใจปรับปรุงแก้ไข-แก้ผิดให้เป็นถูก

ผมขอน้อมคารวะมา ณ ที่นี้ 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๖:๐๑ 

[full-post]

ราชทินนาม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.