ศึกษาเรื่องเดิม - ขอศีล-ให้ศีล เป็นมาอย่างไร?

-------------------------------------------

ได้ยินคนรุ่นใหม่ผู้มีการศึกษากล่าวว่า ศีลนั้นขอกันไม่ได้ ใครอยากมีศีลก็ต้องรักษาเอาเอง ไม่ใช่ไปขอจากพระ 

แล้วก็สรุปว่า การขอศีล-ให้ศีลเป็นเรื่องเลอะเทอะ

ญาติมิตรทั้งหลายเห็นเป็นประการใด?

เบื้องต้น รับรู้ข้อมูลให้ตรงกันก่อนว่า ชาวพุทธในบ้านเรามีธรรมเนียม “ขอศีล” ขอศีลนั้นขอกับพระ เรียกกันว่า “อาราธนาศีล” คำอาราธนาศีล ๕ ว่าดังนี้ 

(ทุกขั้นตอนต่อไปนี้ ว่าเฉพาะคำบาลี คำไทยนั้นแปลไว้ให้เพื่อให้รู้ความหมาย)

.........................................................

มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ  ติสะระเณนะ  สะหะ  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ. 

ทุติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ  ติสะระเณนะ  สะหะ  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ. 

ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะนัตถายะ  ติสะระเณนะ  สะหะ  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.

(ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอศีลห้า พร้อมทั้งไตรสรณคมน์ เพื่อรักษาเป็นส่วน ๆ 

แม้ครั้งที่ ๒ ... 

แม้ครั้งที่ ๓ ...)

.........................................................

ต่อจากนั้น พระท่านก็จะกล่าวคำที่เรียกกันว่า “ให้ศีล” ผู้ขอศีลจะกล่าวคำ “รับศีล” เรียกเป็นภาษาทางการว่า “สมาทานศีล” ว่าตามพระเป็นวรรค ๆ 

.........................................................

(พระให้ศีล)

นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

(ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)

(ต่อไปนี้เป็นไตรสรณคมน์)

พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

(ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

ทุติยัมปิ  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

(แม้ครั้งที่สอง ...

.............

.............)

ตะติยัมปิ  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

(แม้ครั้งที่สาม ...

.............

.............)

(ต่อไปนี้เป็นคำสมาทานศีลแต่ละข้อ)

ปาณาติปาตา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเครื่องงดเว้นจากการทำสัตว์มีลมหายใจให้ตกล่วงไป)

อะทินนาทานา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเครื่องงดเว้นจากการถือเอาซึ่งสิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้)

กาเมสุ มิจฉาจารา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย)

มุสาวาทา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเครื่องงดเว้นจากการกล่าวเท็จ)

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา  เวระมะณี สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนาเครื่องงดเว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือเสพสุรา เมรัย และของมึนเมา)

(ต่อไปนี้เป็นคำสรุปอานิสงส์ศีล)

สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ (หยุดให้โยมรับ)

(ไปถึงสุคติภูมิคือไปเกิดในที่ดี ๆ ได้ ก็เพราะศีล)

(รับว่า สาธุ = ชอบแล้ว)

สีเลนะ  โภคะสัมปะทา (หยุดให้โยมรับ)

(ถึงพร้อมด้วยโภคสมบัติได้ ก็เพราะศีล) 

(รับว่า สาธุ = ชอบแล้ว)

สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ (หยุดให้โยมรับ)

(ถึงความดับทุกข์คือพระนิพพานได้ ก็เพราะศีล) 

(รับว่า สาธุ = ชอบแล้ว)

ตัส๎มา  สีลัง  วิโสธะเย.

(เพราะฉะนั้น จึงควรทำศีลให้บริสุทธิ์สะอาดคือควรรักษาศีลไว้ให้ดี)

(รับว่า อามะ  ภันเต = จะขอปฏิบัติเช่นนั้นเจ้าข้า)

จบการขอศีล-ให้ศีล

.........................................................

หวังว่าคงรู้และเข้าใจตรงกันแล้วว่า ขอศีล-ให้ศีล (ที่คนรุ่นใหม่ว่าเป็นเรื่องเลอะเทอะ) คือทำอะไร ว่าอะไร มีความหมายว่าอย่างไร

.......................

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผม

จากการศึกษาเรื่องเดิมในคัมภีร์ พบว่า ธรรมเนียมขอศีลและให้ศีลมีมานานนักหนาแล้ว กล่าวตามที่คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ก็คือ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล 

โปรดตามไปศึกษาที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

.........................................................

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=727

.........................................................

เรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องก็คือ คำว่า “ขอศีล” ไม่ได้หมายถึงขอให้พระหยิบศีลจากย่ามออกมายื่นให้เรา หรือขอให้พระบันดาลให้เรามีศีล

แต่หมายถึง ขอให้พระบอกตัวศีลแต่ละข้อให้เราฟัง เราฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็จะได้ตั้งเจตนาที่จะปฏิบัติตามต่อไป

คำว่า “ให้ศีล” ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ได้หมายถึงพระหยิบศีลจากย่ามยื่นให้เรา หรือบันดาลให้เรามีศีล โดยที่เราไม่ต้องปฏิบัติตามหลักศีลหลักธรรมใด ๆ เลย คืออยู่เฉย ๆ พอพระให้ศีลเราก็มีศีลขึ้นมาเอง

โปรดเข้าใจคำว่า “ขอศีล-ให้ศีล” ให้ถูกต้อง จึงจะสมกับเป็นผู้มีการศึกษา

เรื่องเดิมแท้ก็คือ คนที่ได้ฟังคำสอนเรื่องศีลแล้ว เกิดศรัทธามีกุศลฉันทะที่จะปฏิบัติตาม นั่นคือเจ้าตัวรู้แล้วเข้าใจแล้วว่า รักษาศีลคือตั้งเจตนางดเว้นเรื่องนี้ ๆ เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วก็จึงตั้งใจที่จะงดเว้นเรื่องนั้น ๆ นี่คือรักษาศีลไปเรียบร้อยแล้ว และมีศีลไปเรียบร้อยแล้ว-ตลอดเวลาที่ไม่ละเมิดศีลแต่ละข้อ ทั้งนี้ โดยที่ไม่ต้องไป “ขอศีล” จากพระหรือจากใคร ๆ เลย

อ้าว แล้วทำไมจึงมีธรรมเนียมขอศีลล่ะ?

ธรรมเนียมขอศีลเกิดจากผู้ตั้งเจตนารักษาศีลต้องการให้มีผู้เป็นพยานว่า ข้าพเจ้าจะรักษาศีลข้อนี้ ๆ เหมือนกับรับปากหรือสัญญาว่าจะทำอย่างนี้ ๆ ก็ต้องทำให้ได้ มิเช่นนั้นจะผิดคำสัญญา เป็นวิธีกำกับตัวเองให้หนักแน่นยิ่งขึ้น

ถ้ารักษาศีลเงียบ ๆ นิ่ง ๆ ไปคนเดียว ไม่มีใครรู้เห็น หากจะละเมิดขึ้นมา ก็ทำได้ง่าย เพราะไม่มีใครมารับรู้อะไรด้วย แต่เมื่อไปรับปากกับพระไว้แล้ว ก็จะไม่กล้าล่วงละเมิด เพราะมีพระเป็นพยานรู้เห็น นี่คือเจตนาของการขอศีล

ท่านผู้ใดศึกษาเรื่องเดิมของการรักษาศีลแล้ว ได้หลักหรือเกิดแนวคิดอย่างไร ก็บอกเล่าสู่กันฟังได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนผมแต่ประการใด

แต่การสรุปว่า การขอศีล-ให้ศีลเป็นเรื่องเลอะเทอะนั้น ผมเห็นว่าน่าจะไม่ฉลาดเท่าไร

------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๘:๓๒ 

[full-post]

ศึกษาเรื่องเดิม - ขอศีล-ให้ศีล

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.