อักษรกับภาษาต่างกันอย่างไร

-------------------------------

ผมเข้าใจว่า คนส่วนมากไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “ภาษา” กับคำว่า “อักษร”

เรื่องนี้เป็นวิชาการเล็กน้อย กล่าวคือ “อักษร” เป็นส่วนหนึ่งของ “ภาษา” ซึ่งอาจจะพูดคลุมๆ ไปได้ว่า อักษรก็คือภาษา

แต่อักษรกับภาษาก็มีส่วนที่แตกต่างและแบ่งเขตกันชัดเจน

“อักษร” คือลายลักษณ์ที่กำหนดรู้กันว่า ลายลักษณ์รูปร่างอย่างนี้หมายถึงอะไร ถ้าอ่านออกมาเป็นเสียง ต้องออกเสียงว่าอย่างไร

ส่วน “ภาษา” คือความหมายของลายลักษณ์อักษรตัวนั้นๆ หรือความหมายของเสียงที่เปล่งออกมาว่าอย่างนั้นๆ รวมไปถึงความหมายของกิริยาท่าทางที่ทำอย่างนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น “ทองย้อย” - นี่คืออักษรไทย และภาษาไทย 

แต่พอเขียนเป็น “Thongyoi” - ถามว่านี่คืออะไร 

เด็กไทยสมัยนี้จะตอบทันทีว่า “ภาษาอังกฤษ” และทุกคนจะยืนยันว่านี่คือภาษาอังกฤษ

นี่คือคำที่เราพูดกันด้วยความเข้าใจผิด หรือพูดตรงๆ ว่า-พูดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ

ความเป็นจริงตามหลักวิชาก็คือ “Thongyoi” เป็นคำที่เขียนเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ 

แต่ “Thongyoi” ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ” 

“Thongyoi” ยังคงเป็นภาษาไทย

เอาคำว่า “Thongyoi” ไปถามฝรั่งอังกฤษหรือใครที่รู้ภาษาอังกฤษว่าแปลว่าอะไร จะไม่มีใครตอบได้ นั่นเพราะ “Thongyoi” ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ 

แม้หากจะมีภาษาอังกฤษที่เขียนอย่างนี้จริง ภาษาอังกฤษคำนั้นก็จะไม่ได้หมายถึง “ทองย้อย” 

การเอาคำภาษาหนึ่งไปเขียนเป็นอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ มีคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Romanization หมายถึง ทำให้เป็นแบบโรมัน หรือเปลี่ยนใช้อักษรโรมัน

การเอาไปทำให้เป็นโรมัน หรือ Romanization นี่แหละที่คนไทยเรียกกันผิดๆ ว่า “ภาษาอังกฤษ”

ผมขอเสนอให้เลิกเรียกแบบนั้น

และขอเสนอให้ใช้คำว่า “ตัวโรมัน”

ถามว่า “Thongyoi Sangsinchai” คืออะไร

ตอบว่า คือภาษาไทยตัวโรมัน

ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”




.......................

ขออีกสักตัวอย่าง เพื่อให้ชัดยิ่งขึ้น

“นะโม” เป็นภาษาบาลี อักษรไทย

“นะโม” เขียนเป็นตัวโรมัน = “namo” 

“namo” เป็นภาษาอะไร

อยากตอบว่า “ภาษาอังกฤษ” ละสิ

ไม่ใช่

“namo” - เป็นภาษาบาลีตัวโรมัน

เข้าใจหรือยังว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกันอย่างไร

-----------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๙:๑๑

[full-post]

อักษรกับภาษาต่างกันอย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.