ศึกษาเรื่องเดิม - อานิสงส์กฐิน (๒)
-------------------------------
ที่ควรรู้ต่อไปก็คือ อานิสงส์กฐินทั้ง ๕ ข้อที่ภิกษุผู้รับกฐินจะพึงได้นั้น เป็นอานิสงส์ของการจำพรรษาด้วย
หมายความว่าอย่างไร?
หมายความว่า ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบถ้วน ๓ เดือนโดยพรรษาไม่ขาด พอออกพรรษาก็จะได้รับอานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อนั้นทันที
พูดได้ว่า จะได้รับกฐินหรือไม่ได้รับกฐิน ก็ได้อานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อนั้นอยู่แล้ว
อ้าว! ถ้าเช่นนั้นอานิสงส์กฐินจะมีประโยชน์อะไร-ในเมื่อแม้ได้รับกฐินก็ได้อานิสงส์เหล่านั้นอยู่แล้ว
ตรงนี้แหละครับที่ไม่มีใครยกมาพูดมาบอกกันให้รู้เรื่อง-ก็เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิมนี่แหละ
จำพรรษาครบ ๓ เดือน ได้อานิสงส์ ๕ ข้อ
รับกฐิน ก็ได้อานิสงส์ ๕ ข้อ เหมือนกันเป๊ะ
เหมือนกันก็จริง แต่ไม่เหมือนกัน! 
จำพรรษาครบ ๓ เดือน ได้อานิสงส์ ๕ ข้อ แต่ได้แค่เดือนเดียวนับจากวันออกพรรษา
รับกฐิน ก็ได้อานิสงส์ ๕ ข้อเหมือนกัน แต่ได้นานถึง ๕ เดือนนับจากวันออกพรรษา
ตรงนี้ไงคือประโยชน์ของอานิสงส์กฐินที่ไม่มีใครเอามาพูด
......................
อานิสงส์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากการรับกฐินก็คือ ขยายเวลาที่จะหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดเดิม
จำพรรษาครบ ๓ เดือน มีเวลาหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดเดิม ๑ เดือน คือตั้งแต่วันออกพรรษาจนถึงวันลอยกระทง (พูดอย่างนี้เพื่อให้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยนึกภาพได้ง่ายขึ้น)
แต่ถ้าได้รับกฐิน จะได้รับสิทธิพิเศษ มีเวลาหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดเดิมได้นานถึง ๕ เดือน นับจากวันออกพรรษา
ตรงนี้แหละครับคือปฐมเหตุที่ทำให้เกิดค่านิยม “ทอดกฐินได้อานิสงส์มาก” ที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้-โดยที่เมื่อถามเข้าก็ไม่มีใครตอบได้ว่าได้อานิสงส์มากคือได้อะไร ได้อย่างไร
ทำไมจึงว่า-ตรงนี้คือปฐมเหตุ-ตรงที่พระที่ได้รับกฐินได้รับสิทธิพิเศษ มีเวลาหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดเดิมได้นานถึง ๕ เดือน-เป็นปฐมเหตุอย่างไร?
จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องถอยไปดูสถานการณ์เมื่อ ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว
สมัยโน้นผ้าหายาก ไตรจีวรที่พระใช้มีพุทธบัญญัติให้มีใช้เพียงชุดเดียว ซ้ำยังเป็นผ้ามือสอง คือผ้าใช้แล้วที่เรียกว่า “บังสุกุลจีวร” อายุการใช้งานก็สั้นกว่าผ้าทั่วไป 
๑ ปี มีพุทธบัญญัติให้เปลี่ยนได้ครั้งหนึ่ง พระท่านใช้ได้ถึง ๑ ปี นับว่าประโยชน์สูงประหยัดสุดจริง ๆ 
ช่วงเวลาที่มีพุทธานุญาตให้หาผ้ามาเปลี่ยนชุดเดิมก็คือ นับจากวันออกพรรษาไป ๑ เดือน ระยะเวลา ๑ เดือนนี้เรียกว่า “จีวรกาล” แปลว่า “ช่วงเวลาหาจีวร”
สภาพดังที่ว่ามานี้-ผ้าก็หายาก ระยะเวลาก็จำกัด-ยุคสมัยนี้ผ้าเหลือเฟือ อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถอยไปเมื่อ ๒๖๐๐ ปี ขอให้ตรองดูเถิดว่า พระท่านจะลำบากกันเพียงไร 
ชาวบ้านที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เห็นเป็นโอกาสที่จะได้สงเคราะห์พระให้พ้นจากความลำบากเรื่องผ้า จึงพากันถวายผ้ากฐินกันอย่างเต็มที่ เพราะเห็นได้ชัดว่า พระที่ได้รับกฐินจะได้ขยายเวลาหาผ้าจากเดือนเดียวออกไปถึง ๕ เดือน เรียกว่ามีเวลาหายใจได้สบาย ๆ 
ที่ว่า “ทอดกฐินได้อานิสงส์มาก” จึงมีที่ไปที่มาจากตรงนี้
ที่ไปที่มาตรงนี้ ปัจจุบันนี้ไม่มีใครนึกถึงอีกแล้ว เพราะ-อย่างที่ว่า-ผ้าเหลือเฟือ นึกไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่าพระจะต้องลำบากเรื่องผ้าที่ตรงไหน จึงต่างก็ประดิษฐ์คิดค้นเหตุผลที่ว่า-ทอดกฐินมีอานิสงส์มากกันไปต่าง ๆ นานา โดยไม่ได้นึกถึงเหตุผลต้นเดิมที่แท้จริง-ก็เพราะไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิมนั่นแล
......................
ที่ว่ามานั้นเป็นอานิสงส์ส่วนพิเศษของผู้ทอดกฐิน มีเฉพาะบุญทอดกฐินเท่านั้น ที่ผู้คนทั้งหลายทุ่มเทช่วยเหลือสนับสนุนการทอดกฐินกันอึกทึกครึกโครมอยู่ทุกวันนี้ ปฐมเหตุเกิดจากเล็งเห็นบุญพิเศษตรงนี้
อานิสงส์ส่วนปกติที่ผู้ทอดกฐินจะได้รับก็คือ อานิสงส์ที่เกิดจากการถวายสังฆทาน ทั้งนี้เพราะทอดกฐินเป็นสังฆทานตรงตัว
ใครยังแว่วคำอปโลกน์กฐินที่พระท่านว่าอยู่บ้าง? --
.........................................................
... ผ้ากฐินทาน...เป็นของบริสุทธิ์ดุจเลื่อยลอยมาโดยนภากาศ แล้วแหละตกลงในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ ...
.........................................................
นี่แหละ สังฆทานตัวแม่เลยทีเดียว!
ได้ถวายสังฆทาน ๑ ได้สงเคราะห์พระให้พ้นความลำบากในการหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนจีวรอันเป็นบุญพิเศษอีก ๑ นี่แลคืออานิสงส์ของผู้ทอดกฐิน
......................
ต่อไปนี้ เวลาใครพูดถึงบุญกฐินว่ามีอานิสงส์มาก ก็ขอให้นึกถึงเหตุผลดังบรรยายมานี้ ทั้งคนพูด ทั้งคนที่ฟังเขาพูด จะได้ไม่หลงทางตาม ๆ กันไป-อย่างที่คนส่วนใหญ่กำลังเป็นอยู่
บรรยายอานิสงส์ของผู้รับกฐินและอานิสงส์ของผู้ทอดกฐิน สิ้นกระแสความเพียงเท่านี้
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
๑๖:๕๖

ปกิณกธรรม,อานิสงส์กฐิน,กฐิน

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.