ศึกษาเรื่องเดิม - อานิสงส์กฐิน (๑)

-------------------------------

เราพูดกันทั่วไปว่า ทอดกฐินมีอานิสงส์มาก หรือทอดกฐินได้อานิสงส์มาก

ทุกวันนี้ที่ผู้คนทั้งหลายทุ่มเทช่วยเหลือสนับสนุนการทอดกฐินกันอึกทึกครึกโครม-โดยเฉพาะบริจาคเงินกันหนัก ๆ อันเป็นเหตุให้ต้องถามกันทุกวัดไปว่าทอดกฐินได้เงินเท่าไร-ก็เนื่องมาจากเชื่อกันว่าทอดกฐินได้อานิสงส์มากนี่แหละ

ถามว่า ทอดกฐินได้อานิสงส์มาก อะไรคืออานิสงส์กฐิน ได้อานิสงส์มากคือได้อะไร ได้อย่างไร

รับรองว่า ใบ้รับประทาน

พูดภาษาราชการว่า ตอบไม่ได้ ไม่ทราบ ไม่รู้

รู้แต่ว่า “ทอดกฐินได้อานิสงส์มาก” แค่นี้พอ อย่าถามเซ้าซี้ รำคาญ ไปให้พ้น ๆ รู้ว่าอะไรคืออานิสงส์กฐินก็ไม่ได้ช่วยให้น้ำมันลดราคาสักหน่อย จบ 

เวลานี้เราเป็นอย่างนี้ทั่วไปหมดแล้ว มีความเชื่อ มีศรัทธาในสิ่งที่ตนทำ แต่ไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิม ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง-แม้ในสิ่งที่กำลังทำนั่นเอง

......................

ก่อนหาคำตอบ ลองคิดเทียบดูกับเรื่องถวายสังฆทาน

เราพูดกันว่า ถวายสังฆทานได้อานิสงส์มากกว่าบุคลิกทาน

บุคลิกทาน = ให้แก่ใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว

สังฆทาน = ให้แก่สงฆ์ คือให้แก่ส่วนรวม

ให้แก่ใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว คนนั้นก็ได้เสวยผลประโยชน์ไปคนเดียว คนอื่น ๆ อด

ให้แก่สงฆ์ คือให้แก่ส่วนรวม คนทั้งหลายได้เสวยประโยชน์ร่วมกัน ได้ประโยชน์แก่คนหมู่มาก

ที่ว่า “ถวายสังฆทานได้อานิสงส์มาก” เพราะมีคนเป็นอันมากได้ประโยชน์จากการให้ของเรา สังฆทานจึงมีอานิสงส์มากกว่าบุคลิกทาน เราตอบได้ว่ามีเหตุผลอย่างนี้

แล้ว-ทอดกฐินได้อานิสงส์มากล่ะ มีเหตุผลอย่างไร?

ตรงนี้แหละที่เราส่วนมากไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิม

อาจจะมีคนยกเหตุผลนั่นนี่โน่นมาอธิบายได้ว่า นี่ไงคืออานิสงส์กฐิน แต่เชื่อได้เลยว่า เป็นอานิสงส์ที่คิดเอาเองทั้งนั้น ไม่ใช่อานิสงส์ตามเรื่องเดิมที่ท่านแสดงไว้

......................

เบื้องต้น แยกให้ชัดว่า อานิสงส์กฐินที่กำลังว่าอยู่นี้มี ๒ ส่วน คือ อานิสงส์ของผู้รับกฐิน และอานิสงส์ของผู้ทอดกฐิน

ชักงงละสิ ต้องแยกอย่างนี้ด้วยหรือ ไม่เห็นมีใครบอก

ก็-กำลังบอกอยู่นี่ไง

อานิสงส์ของผู้รับกฐิน คืออานิสงส์ที่จะได้แก่ภิกษุผู้ได้รับกฐิน หรือที่ภาษาวินัยเรียกว่า “ผู้กรานกฐิน” อานิสงส์ส่วนนี้มี ๕ ข้อ ตามที่ท่านแสดงไว้ในพระวินัยปิฎกตอนที่เรียกว่า “กฐินขันธกะ” เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าว่า -

.........................................................

อนุชานามิ  ภิกฺขเว  วสฺสํ  วุตฺถานํ  ภิกฺขูนํ  กฐินํ  อตฺถริตุํ  ฯ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน 

อตฺถตกฐินานํ  โว  ภิกฺขเว  ปญฺจ  กปฺปิสฺสนฺติ  ฯ

พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้วจักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ:- 

อนามนฺตจาโร

(๑) จาริกไปไหนไม่ต้องบอกลา 

อสมาทานจาโร

(๒) จาริกไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ

คณโภชนํ

(๓) ฉันคณโภชน์ได้

ยาวทตฺถจีวรํ

(๔) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

โย  จ  ตตฺถ  จีวรุปฺปาโท  โส  เนสํ  ภวิสฺสตีติ  ฯ

(๕) จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

อตฺถตกฐินานํ  โว  ภิกฺขเว  อิมานิ  ปญฺจ  กปฺปิสฺสนฺติ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว

ที่มา: กฐินขันธกะ วินยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ 

.........................................................

ผมเอาอานิสงส์กฐินสำหรับพระทั้ง ๕ ข้อ ไปเขียนเป็น “บาลีวันละคำ” แต่ละข้อมีความหมายอย่างไร ตามไปอ่านคำอธิบายที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

.........................................................

(๑) อนามนฺตจาโร

..................................

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid029QsjtkQRAywToDNt1MqwE9NNUhV72fWebq3fumyYQ1T8sMiDvSCTW2UgH87BxJ6cl

..................................

(๒) อสมาทานจาโร

..................................

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid02ewwp12pKRDCGsEWSa7Drwdkz9q661xPgALetkdUL6JzXhwZTSP6PxSsgAJhvKkGul

..................................

(๓/๑) คณโภชน์

..................................

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid09uAUgdyiFVCQKP8sxxLSgwDiJjpihnDKRx6H8mmx6RatUF9zonrQcEJmm38uAQmSl

..................................

(๓/๒) ปรัมปรโภชน์

..................................

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid0BPSTfWaZpiV2yc2v5SAt5y8gXr59QNR8GexUkiKJ7YkqFUyc1crf26kQMbX3nJUAl

..................................

(๔) อดิเรกจีวร

..................................

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid02GhQf6QCFMe1a4LMQngNhaVpDycp12tPM6U3c4x7vo7VGYa8qd6mNbnVSEmiZXsZtl

..................................

(๕) จีวรุปฺปาโท

..................................

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid033kUqCaJ9p8nwBrXLoCYvKMRL3wehArxYf61srvQg6tvBcDJi4cAmtd1JhTmaCBunl

.........................................................

ขณะเขียนบาลีวันละคำชุดนี้ ผมก็รำพึงกับตัวเองไปด้วยว่า งานเช่นนี้ควรเป็นภาระของชาววัด-คือพระภิกษุสามเณร-ศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาบอกกล่าวแก่ชาวบ้าน ไม่ควรจะเป็นภาระของชาวบ้านอย่างผมต้องมาทำเอง

แต่ข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ พระภิกษุสามเณรของเราท่านไม่ศึกษาพระไตรปิฎก แม้ที่เรียนบาลีแท้ ๆ ก็ไม่ศึกษา

ท่านบอกกันว่า ใครจะศึกษาพระไตรปิฎกหรือไม่ศึกษา ควรเป็นไปตามอัธยาศัย-ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่แท้ ๆ เป็นหน้าที่โดยตรงด้วย

ญาติมิตรที่ติดตามผมมา จะเห็นว่า เรื่องนี้ผมพยายามกระทุ้ง กระแทก กระทบ เพื่อให้กระเทือนไปถึงแนวคิดแบบนั้น-แนวคิด-ใครจะศึกษาพระไตรปิฎกหรือไม่ศึกษา ควรเป็นไปตามอัธยาศัย ว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง ต้องปรับแก้กันใหม่

แต่ไม่ได้ผลอะไร ใครจะว่าอย่างไรท่านก็คงไม่ศึกษาอยู่นั่นเอง ใครจะทำอะไรท่านได้

.........................................................

ท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งทราบว่า มีพระภิกษุสามเณรกำลังศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ที่ไหน พระภิกษุสามเณรเหล่านั้นท่านได้ความรู้มาแล้วก็นำมาบอกกล่าวชี้แจงแก่สังคม ท่านทำอยู่เป็นประจำ ทำอยู่ที่นั่น ทำอยู่ที่โน่น ลองตามไปดูมั่งสิ อย่ามัวแต่หลับตาพูด ... 

ท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งทราบอย่างนี้ ขอความกรุณานำมาบอกกล่าวกันมั่งนะครับ จะได้ช่วยกันอนุโมทนา ช่วยกันถวายกำลังใจ ช่วยกันถวายการอุปถัมภ์บำรุง-แบบเดียวกับที่เราช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลีตามสำนักต่าง ๆ นั่นเลย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องอะไรประเด็นไหนที่สังคมยังไม่เข้าใจ ยังเป็นปัญหาคาใจ ยังเข้าใจผิดพลาด ยังเชื่อและทำกันผิด ๆ ตั้งเป้าไว้เลยว่าจะศึกษาเรื่องนั้น ๆ ให้เข้าใจถูกต้องประจักษ์จริง แล้วนำมาบอกกล่าวชี้แจงแก่สังคม 

พระภิกษุสามเณรรูปไหนสำนักไหนตั้งใจทำงานเช่นว่านี้ จะได้ช่วยกันอนุโมทนา ช่วยกันถวายกำลังใจ และช่วยกันถวายการอุปถัมภ์บำรุงให้เต็มที่

.........................................................

อานิสงส์กฐิน ยังไม่สิ้นกระแสความครับ ต้องต่ออีกตอน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๔:๕๕ 

[full-post]

ปกิณกธรรม,กฐิน,อานิสงส์กฐิน,

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.