ศึกษาเรื่องเดิม - ศึกษาโคตรเหง้าของตัวเอง

----------------------------------------------

โคตรเหง้าของตัวเอง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยได้ศึกษา

เมื่อไม่ศึกษา ก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีโคตรเหง้ามาอย่างไร

เวลานี้อาการหนัก ถึงขั้นไม่เห็นความสำคัญของโคตรเหง้าของตัวเอง

เบื้องต้น ขอเชิญชวนให้ศึกษาความหมายจากพจนานุกรม (นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนสมัยนี้ไม่ทำ คือไม่ชอบเปิดพจนานุกรมเพื่อศึกษาความหมายของถ้อยคำ และไม่เห็นความสำคัญของการสะกดถ้อยคำให้ถูกต้องตามพจนานุกรม)

ขอเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ดูคำบางคำที่เกี่ยวข้องกับโคตรเหง้า

.........................................................

โคตร, โคตร-

 [โคด, โคดตฺระ-] น. วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คํานี้บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล).

.......................

เหง้า

 [เหฺง้า] น. ลําต้นที่อยู่ใต้ดินของพืชบางชนิด เช่น ขิง กระวาน ที่จมอยู่ใต้ดิน; ต้นเดิม, ต้นวงศ์.

.......................

เจ็ดชั่วโคตร

 น. วงศ์สกุลที่สืบสายโลหิต ซึ่งนับตั้งแต่ตัวเองขึ้นไป ๓ ชั้น คือ ชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด กับนับจากตัวเองลงมาอีก ๓ ชั้น คือ ชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วโคตร ไม่นับผู้หญิงรวมด้วย.

.........................................................

“โคตรเหง้า” ในความหมายของผม ไม่ได้หมายถึง-เป็นคนจังหวัดไหน บ้านอะไร ตำบลอำเภออะไร

ความหมายแบบนี้ เรายังรู้จักกันดีอยู่ 

คนอีสาน คนเหนือ คนใต้ มาทำมาหากินในกรุงเทพฯ พอถึงเทศกาลประจำปี เช่นสงกรานต์-ปีใหม่ ยังรู้จัก “กลับบ้าน” กันอยู่มาก 

แต่ “โคตรเหง้า” ลึกกว่านี้ ไกลกว่านี้ 

โคตรเหง้ากินความไปถึงว่า-บรรพบุรุษของเรามาจากไหน มาทำอะไรอยู่ที่ไหน กว่าจะมาถึงเราทุกวันนี้ผ่านอะไรมาบ้าง แผ่นดินถิ่นที่เราอยู่กันทุกวันนี้ตกมาถึงเราได้อย่างไร และบัดนี้เราอยู่ตรงส่วนไหนของโคตรเหง้าของเรานั้น

ความหมายดังกล่าวนี้น่าจะตรงกับคำที่เราคุ้นกันดี คือ-ประวัติศาสตร์

คนสมัยใหม่เรียนประวัติศาสตร์กันมากน้อยแค่ไหน

นอกจากวิชาหน้าที่พลเมือง-ศีลธรรม ที่เราละเลยกันหมดแล้ว ประวัติศาสตร์เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เราละเลยกันมาก

.........................................................

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่า เราไม่ค่อยมีนักประวัติศาสตร์บริสุทธิ์-คือศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แล้วเอาความจริงมาบอกเพื่อนร่วมชาติ 

นักประวัติศาสตร์ที่เรามีอยู่มักจะเป็นนักประวัติศาสตร์อคติ-คือศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อหาแง่มุมที่จะเอามาสนับสนุนแนวคิดทฤษฎีของตน พบเงื่อนงำอะไรก็พยายามตีความให้เข้ากับทฤษฎีของตน ผลการศึกษาที่นำเสนอต่อเพื่อนร่วมชาติก็เลือกเอาแต่ส่วนที่จะจูงใจให้คิดเห็นและคล้อยตามความต้องการของตนมากกว่าที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง

ขอย้ำว่า นี่เป็นข้อสังเกตส่วนตัวนะครับ ญาติมิตรไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่สามารถเห็นแย้งได้เต็มที่

.........................................................

เมื่อไม่ได้ศึกษาโคตรเหง้าหรือประวัติศาสตร์ของตัวเอง อาการที่เกิดขึ้นก็คือ มองเห็นเฉพาะสภาพที่เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้คิดคำนึงถึงรากเหง้า ภูมิหลัง หรือความเป็นมาของสิ่งที่ตนเห็น 

อาการที่เกิดตามมาก็คือ ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นประโยชน์ของสิ่งที่ตนเห็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งตกทอดมาจากอดีต 

ความที่กล่าวมานี้ จะเข้าใจได้ดีถ้าเล่าเรื่อง "ไม้คานปิดทอง”

.......................

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหนุ่มจีน ๒ คน ชื่อเฮง กับเจ็ง เดินทางจากเมืองจีนมาเมืองไทยแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” 

สองคนมีทุนติดตัวมานิดหน่อย ไม่พอที่จะทำอื่นได้ จึงทำอาชีพรับซื้อขวดขาย อาศัยพักใต้ถุนกุฏิวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อเจ้าอาวาส

อุปกรณ์รับซื้อขวดก็มีหลัวคู่หนึ่ง ไม้คานอันหนึ่ง 

เช้าขึ้นมาก็หาบหลัวไปตามบ้านผู้คน รับซื้อขวดเปล่าเอาไปขายต่อให้โรงงาน

เจ๊กเฮงกับเจ็กเจ็งเข้าหุ้นกันรับซื้อขวดขาย ทำสัญญาใจกันว่า ถ้ามีกำไรยังไม่ถึง ๘๐ ชั่ง จะไม่กินเป็ดกินไก่อันเป็นอาหารที่มีราคาแพง ได้กำไรมาก็เอาไปฝากหลวงพ่อไว้เหมือนกับเป็นธนาคาร

วันหนึ่ง ระหว่างหาบหลัวซื้อขวด เจ๊กเจ็งไปแวะพักที่ข้างโรงบ่อน แล้วเลยเข้าไปเล่นโป เผอิญเล่นได้ จึงเอาเงินที่เล่นโปได้ไปซื้อเป็ดไก่กินด้วยความอยาก แล้วยังซื้อไปฝากเจ๊กเฮงด้วย 

เจ๊กเฮงเห็นว่าเจ๊กเจ็งผิดสัญญาเพราะเงินกำไรยังมีไม่ถึง ๘๐ ชั่ง จึงขอแยกทาง แบ่งเงินที่ฝากหลวงพ่อไว้คนละครึ่งแล้วต่างคนต่างไป

เจ๊กเฮงยังคงหาบหลัวซื้อขวดขายต่อไปด้วยความอดทน จนมีทุนมากขึ้นก็ค่อยขยับขยายกิจการค้าขาย ได้เมียเป็นไทย มีลูกก็ช่วยกันทำมาหากิน จนในที่สุดก็ร่ำรวยเป็นเศรษฐี 

เศรษฐีเฮงมีแก่ใจช่วยอุดหนุนกิจการสาธารณกุศลของทางบ้านเมืองเสมอ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา

พระยาเฮงเป็นคนกตัญญู เมื่อร่ำรวยแล้วก็กลับไปอุปถัมภ์บำรุงวัดที่ตนเคยได้อาศัย และที่สำคัญคิดถึงคุณของไม้คานเป็นที่ยิ่ง ได้เอาไม้คานที่เคยใช้หาบหลัวมาปิดทอง ใส่ตู้ไว้เป็นอย่างดีในที่บูชา

นอกจากนี้ด้วยความที่เคยอดอยากยากจนมาก่อน พระยาเฮงได้ตั้งโรงทานไว้ที่หน้าบ้าน หุงข้าวเลี้ยงคนโซทุกเช้า

.......................

ฝ่ายเจ๊กเจ็ง แยกทางกับเพื่อนแล้ว ได้เงินส่วนแบ่งมาก้อนหนึ่ง ก็ไม่เป็นอันที่จะคิดทำอาชีพขายขวดอีก หวนกลับไปเล่นการพนัน ในที่สุดก็หมดตัว สิ้นท่าเข้าก็เลยยึดอาชีพขอทาน 

วันหนึ่งเจ๊กเจ็งโซซัดโซเซไปถึงโรงทานของพระยาเฮง 

พระยาเฮงจำเพื่อนได้ ก็ให้บ่าวไปเรียกมา เจ๊กเจ็งจำเพื่อนไม่ได้เพราะราศีพระยาจับเป็นสง่า พระยาเฮงก็ไม่แสดงตัวว่าเป็นเพื่อนเก่า สั่งให้รับเจ๊กเจ็งไว้เป็นคนทำสวน

ในสวนบ้านพระยาเฮงมีต้นมะขาม ๒ ต้น ต้นหนึ่งเล็ก ต้นหนึ่งใหญ่ 

พระยาเฮงออกกฎให้เจ๊กเจ็งกินเฉพาะข้าวกับปลาเค็มต้มใบมะขามอ่อน ให้หุงหากินเอง ข้าวกับปลาเค็มให้เบิกจากโรงครัว ส่วนใบขะขามให้รูดจากต้นเล็กก่อน ถ้าหมดให้มาบอก

เจ๊กเจ็งรูดใบมะขามต้นเล็กไปต้มกับปลาเค็มได้ไม่กี่วัน ใบมะขามก็หมดต้น ก็บอกพระยาเฮง 

พระยาเฮงสั่งให้รูดจากต้นใหญ่ได้ แต่ให้รูดทีละซีก เมื่อซีกหนึ่งหมดจึงจะรูดอีกซีกหนึ่งได้ ใบมะขามหมดให้มาบอก

เจ๊กเจ็งรูดใบมะขามต้นใหญ่กว่าจะหมดซีกก็เป็นเดือน แล้วก็ไปขออนุญาตรูดจากอีกซีกหนึ่ง 

พอซีกนี้หมด ซีกเก่าก็แตกใบอ่อนทันรูดกินได้อีก ก็ไปรูดจากซีกเก่า กว่าซีกเก่าจะหมด ซีกใหม่ก็แตกใบอ่อนอีก 

เป็นอันว่ารูดใบมะขามต้มปลาเค็มกินได้ทั้งปี

เจ๊กเจ็งไปเบิกข้าวสารและปลาเค็มจากโรงครัวเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยไปบอกว่าใบมะขามหมด

วันหนึ่ง พระยาเฮงให้เรียกเจ๊กเจ็งมาถามว่า ทราบว่าเบิกข้าวสารกับปลาเค็มจากโรงครัวตามปกติ แต่ทำไมไม่เห็นมาขออนุญาตรูดใบมะขาม 

เจ๊กเจ็งก็บอกว่าใบมะขามยังไม่หมดสักที

พระยาเฮงจึงพาเจ๊กเจ็งขึ้นไปบนเล่าเต็ง ชี้ให้ดูไม้คานที่ปิดทองอยู่ในตู้ แล้วถามว่า “ไม้คานของลื้ออยู่ไหนล่ะ” 

เจ๊กเจ็งจำเพื่อนได้ ก็ร้องไห้ 

พระยาเฮงบอกว่า ที่ให้กินข้าวกับใบมะขามต้มปลาเค็มก็เพราะจะสอนให้รู้สึกตัว เมื่อเงินยังมีน้อย ถ้ากินใช้หมดก็เหมือนมะขามต้นเล็ก รูดใบกินไม่กี่วันก็หมด แต่ถ้าสะสมไว้ทำทุนให้มีกำไรมากขึ้นก็เหมือนมะขามต้นใหญ่ รูดกินได้ทั้งปีก็ไม่หมด 

“อั๊วะจะให้ทุนลื้อไปเริ่มต้นหาบหลัวขายขวดใหม่เหมือนตอนแรกที่เรามาจากเมืองจีน ลื้อต้องทำตามที่อั๊วะเคยทำมาอย่างเคร่งคัด”

เจ๊กเจ็งไปเริ่มต้นหาบหลัวซื้อขวดขายตามที่พระยาเฮงแนะนำ ต่อมาก็ได้เป็นเศรษฐีอีกคนหนึ่ง

ที่มา: พระธรรมรัตนดิลก (อาคม ป.ธ.๗) อดีตเจ้าอาวาสวัดบุปผาราม ธนบุรี เล่าไว้ในการแสดงพระธรรมเทศนาแก่ข้าราชการกองทัพเรือ

.......................

ในอดีต “ไม้คานปิดทอง” คงจะมีอยู่ตามบ้านของเจ้าสัวทั่วไปในเมืองไทย รุ่นลูกก็ยังคงนับถือบูชาเพราะเคยเห็นเตี่ยใช้หาบหลัวเลี้ยงพวกตนมา ทั้งเคยมีส่วนร่วมในความทุกข์ยากมาด้วยกัน

ลูกหลานสืบต่อมาเพียง ๓ ชั่วคน ไม่เคยหาบหลัว ไม่เคยลำบาก ไม่รู้จักไม้คาน เกิดมาก็ได้เสวยสุขจากหยาดเหงื่อแรงงานที่บรรพบุรุษอาศัยไม้คานทำไว้ให้ เห็นไม้คานในตู้เป็นของเกะกะ-ไม่เห็นจำเป็นจะต้องมี

ไม้คานปิดทองของบรรพบุรุษอาจไม่มีความหมายอะไรแม้แต่น้อย เพราะไม่เคยศึกษาโคตรเหง้าของตัวเอง 

.......................

สังคมไทย มีสถาบันบางอย่างที่ถูกคนในปัจจุบันนี้มองเหมือนไม้คาน 

คือเห็นว่ามีไว้ก็ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์อะไร 

ส่วนหนึ่ง เพราะไม่ศึกษาเรื่องเดิมให้รู้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของชาติ 

อีกส่วนหนึ่ง เพราะในหัวใจขาดความตระหนักสำนึกถึงคุณค่า ที่เรียกว่า ความกตัญญูรู้คุณ

แม้ทุกวันนี้จะไม่ต้องใช้ไม้คานหาบหลัวอีกแล้ว แต่ไม้คานก็ยังมีคุณค่าเสมอไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง-อย่างน้อยก็ในแง่-มีไว้สอนคนไม่ให้จิตใจหล่นลงไปเสมอกับสัตว์-ซึ่งมันไม่รู้จักบุญคุณของใคร

ไม้คานไม่เคยไร้ค่า

แต่คนที่มองไม้คานว่าไร้ค่านั่นสิ ไม่แน่ ...

------------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๗:๓๘

[full-post]

ปกิณกธรรม,การศึกษา,โคตรเหง้า

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.