ศึกษาเรื่องเดิม - ข้าวหม้อแกงหม้อ

------------------------------------

คำว่า “ข้าว” “แกง” “หม้อ” เป็นคำไทยที่เรารู้ความหมายกันโดยทั่วไป แต่เมื่อเอามาพูดรวมกันเป็น “ข้าวหม้อแกงหม้อ” ผมเชื่อว่าหลายคน-โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่-ไม่รู้ว่าคืออะไร

“ข้าวหม้อแกงหม้อ” พูดเต็มๆ ว่า “ขอข้าวหม้อแกงหม้อ” 

แปลโดยยัญชนะว่า วัดขอให้ชาวบ้านหุงข้าวหม้อหนึ่ง แกงหม้อหนึ่ง แล้วนำมาเลี้ยงคนที่มางานวัด 

แปลโดยอรรถว่า เมื่อวัดมีงานและไม่ได้ตั้งโรงครัว วัดก็จะขอให้ชาวบ้านทำอาหารบ้านละอย่างสองอย่างตามแต่จะสะดวกนำมาเลี้ยงคนที่มางานวัด

การบอกขอความร่วมมืออย่างนี้ คำคนเก่าเรียกว่า “ขอข้าวหม้อแกงหม้อ”

สมัยก่อน เมื่อวัดมีงาน เช่น ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า งานบุญประจำปี วัดมักจะตั้งโรงครัวเอง คือจัดคนมาหุงข้าวต้มแกงเลี้ยงคนกันที่วัดนั่นเลย

คำว่า “ตั้งโรงครัว” ก็เป็นคำเก่า น่าหาความรู้

โรงครัววัดมี ๒ อย่าง คือ ตั้งโรงครัวเมื่อมีงานอย่างที่ว่ามานั้นอย่างหนึ่ง และครัวสงฆ์อีกอย่างหนึ่ง

“ครัวสงฆ์” คืออะไร?

“ครัวสงฆ์” คำบาลีเรียกว่า “กัปปิยกุฏิ” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ-กุด บางทีเขียนเป็น “กัปปิยกุฎี” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ-กุ-ดี แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนสำหรับเก็บสิ่งของอันสมควร” หมายถึง คลังเก็บสิ่งของอันเป็นของสงฆ์ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปฺปิยกุฏี” ว่า a building outside the Vihāra, wherein allowable articles were stored, a kind of warehouse (กุฎีนอกวิหารใช้เป็นที่เก็บของที่ถูกต้องตามพุทธานุญาต, โรงเก็บของในวัด)

กัปปิยกุฏิ > กัปปิยกุฎี หรือครัวสงฆ์เป็นมาอย่างไร?

....................

ชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุสะสมอาหารที่ได้ในวันนี้เพื่อเอาไว้ฉันในวันอื่น ท่านกำหนดให้บิณฑบาตเลี้ยงชีพวันต่อวัน มีคำกล่าวถึงการเที่ยวบิณฑบาตของพระว่า “อาหารพระเหมือนอาหารเสือ” คือบางวันอิ่ม บางวันอด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ภิกษุต้องมีภาระกังวลกับการดูแลอาหารที่เก็บไว้ คือให้เสียเวลากับเรื่องขบฉันให้น้อยที่สุด ใช้เวลาเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด

.........................................................

พระเก็บอาหารข้ามคืนเพื่อเอาไว้ฉันในวันอื่น ผิดวินัย

พระหุงต้มอาหารเอง ผิดวินัย

.........................................................

ในคัมภีร์เล่าเรื่องไว้ว่า คฤหบดีคนหนึ่งชื่อ “จิตตคฤหบดี” บรรลุธรรมเป็นอนาคามีบุคคล แต่ยังไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้าเลย อยู่มาคราวหนึ่งจิตตคฤหบดีเตรียมการเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี โดยเดินทางไปพร้อมกับพุทธบริษัทนับพัน จิตตคฤหบดีเตรียมเสบียงบรรทุกเกวียนไปด้วยเป็นจำนวนมาก (คัมภีร์บอกว่า ๕๐๐ เล่มเกวียน) 

เนื่องจากท่านคฤหบดีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ระหว่างเดินทางแวะพักที่เมืองไหน ชาวเมืองนั้นก็จัดเลี้ยงรับรองทุกแห่งไป ใช้เวลาเดินทางเดือนหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เสบียงที่เตรียมไปนั่นเลย 

เมื่อไปถึงพระเชตวัน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านคฤหบดีก็ประกาศขอรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเป็นเวลา ๑ เดือน ปรากฏว่ามีชาวเมืองนำสิ่งของมาช่วยทำอาหารเลี้ยงพระตลอดทั้งเดือนโดยไม่ต้องใช้เสบียงของท่านคฤหบดีเลยแม้แต่น้อย

เมื่อจะเดินทางกลับ ท่านคฤหบดีจึงถวายเสบียงที่ตนเตรียมมาทั้งหมดให้เป็นของสงฆ์ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์มี “กัปปิยกุฏี” คือครัววัดหรือครัวสงฆ์ได้ โดยให้มีไวยาวัจกรหรือกัปปิยการกคือชาวบ้านที่มีศรัทธาสละเวลามาช่วยปรุงเสบียงที่เก็บไว้ในโรงครัวถวายพระเป็นวันๆ ไป 

สมัยก่อน ชาวบ้านไถนาอยู่ข้างวัด พอใกล้เพลก็จะร้องบอกกันว่า “ไปดูหน่อยซิ เพลนี้พระมีอะไรฉันหรือยัง” แล้วก็จะมีโยมผู้หญิงเข้าไปที่ “กัปปิยกุฏิ” เอาเสบียงที่เก็บไว้ในนั้นออกมาปรุงอาหารถวายพระตามแต่จะพอมีเวลาทำได้

ปัจจุบันก็ยังมี “กัปปิยกุฏิ” อยู่ในวัดทั่วไป แต่ก็มักเรียกกันเป็นคำไทยว่า ครัววัด ครัวสงฆ์ แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “กัปปิยกุฏิ” หรือ “กัปปิยกุฎี” กันแล้ว

ในหมู่ชาวพุทธที่คุ้นธรรมเนียมวัด เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า กัปปิยกุฏิ > กัปปิยกุฎี คือโรงครัวของวัด ก็คือที่เรียกว่า “ครัวสงฆ์” นั่นเอง อาจเป็นคำเดียวกับคำว่า “สมณะครัว” ที่ผู้รู้บอกว่าเป็นต้นเดิมของคำว่า “สำมะโนครัว” ก็เป็นได้

.........................................................

สรุปว่า ครัวสงฆ์: ทำอาหารถวายพระ มีประจำวัด

ตั้งโรงครัว: ทำอาหารเลี้ยงคน มีเป็นครั้งคราว

.........................................................

อีกคำหนึ่งที่ควรศึกษาเรื่องเดิม คือคำว่า “แกง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกว่า แกงคือ “กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า” และยกตัวอย่างเอาไว้ด้วยว่า-เช่น แกงจืด แกงเผ็ด แกงส้ม

แต่ถ้าดูคำว่า “ข้าวหม้อแกงหม้อ” อันเป็นคำเก่าจะเห็นได้ว่า คำว่า “แกง” ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า”

คำว่า “แกง” ความหมายเดิมหมายถึง “กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า” ก็จริง แต่ต่อมาหมายถึง “กับข้าว” ทุกอย่าง

วัฒนธรรมไทยเรา อาหารหลักคือ “ข้าว” กินกับ “กับข้าว” ไม่ได้กินข้าวเปล่าๆ

“กับข้าว” นั่นแหละ-ไม่ว่าจะเป็นประเภทที่เป็นนํ้าหรือประเภทไม่มีน้ำ-เรียกเป็นคำรวมว่า “แกง” 

คำว่า “ร้านขายข้าวแกง” หรือ “ร้านข้าวแกง” ซึ่งเป็นคำเก่าอีกคำหนึ่งเป็นพยานได้

.........................................................

ร้านข้าวแกงไม่ใช่ว่าขาย “ข้าว” กับ “แกง” (กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า) อย่างเดียว แต่มีกับข้าวอย่างอื่นด้วย เราเรียกเป็นคำรวมว่า “ข้าวแกง” เป็นที่เข้าใจกัน

เหมือนคำว่า “ข้าวหม้อแกงหม้อ” ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า-คือ ข้าวและกับข้าวอย่างหนึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า”

.........................................................

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิม เห็นคำว่า “แกง” ก็เข้าใจแคบๆ ว่าต้องเป็น “กับข้าวประเภทที่เป็นนํ้า” เท่านั้น กับข้าวอย่างอื่นๆ จะเรียกว่า “แกง” ไม่ได้

เหมือนอะไรอีก? เหมือนคำว่า “กินข้าวกินปลา” อันเป็นคำเก่าของไทยเรา ซึ่งมีมูลมาจากบ้านเรา “ข้าว” และ “ปลา” หาได้ง่าย ข้าว-ปลาจึงเป็นอาหารหลัก เมื่อกินข้าวจึงพูดกันติดปากว่า “กินข้าวกินปลา” 

คำว่า “กินข้าวกินปลา” จึงหมายถึง “รับประทานอาหาร” (take a food, to have one's meal)

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ศึกษาเรื่องเดิม เห็นคำว่า “ข้าว” ก็เข้าใจแคบๆ ว่าต้องเป็น rice คำว่า “ปลา” ก็ต้องเป็น fish เพราะฉะนั้น อาหารมือไหนไม่มี rice ไม่มี fish จะมาเรียกว่า “กินข้าวกินปลา” ไม่ได้ ผิด ต้องเรียกอย่างอื่น หรือเรียกตามชนิดของอาหารที่กิน เช่น กินโจ๊ก กินก๋วยเตี๋ยว กินกระเพาะปลา กินผัดไทย ฯลฯ ไปโน่นเลย

.........................................................

ศึกษาเรื่องเดิมกันสักนิด 

จะรู้ว่าคนเก่าเขาไม่ผิด

แต่เราคิดไม่ถึงเอง

.........................................................

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๖:๕๙ 

[full-post]

ศึกษาเรื่องเดิม - ข้าวหม้อแกงหม้อ

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.