ศึกษาเรื่องเดิม - สวดมนต์ทำไม

--------------------------------

ก่อนจะตอบว่าสวดมนต์ทำไม ต้องถอยไปอีก คือถามว่า สวดมนต์คือทำอะไร

สำหรับชาวพุทธ สวดมนต์ก็คือ - (๑) มีข้อความภาษาบาลีอยู่จำนวนหนึ่ง (๒) อ่านหรือฟังข้อความนั้นแล้วเก็บจำไว้ในใจ (๓) แล้วทบทวนข้อความนั้นเพื่อไม่ให้ลืม

ทบทวนข้อความนั้นเพื่อไม่ให้ลืม-นี่แหละคือ “สวดมนต์”

และเมื่อข้อความนั้นเป็นภาษาบาลี ก็สันนิษฐานได้เลยว่า-บทสวดมนต์นั้นเกี่ยวกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนา

สรุปว่า สวดมนต์ก็คือทบทวนหลักคำสอนเพื่อไม่ให้ลืม 

นี่คือต้นกำเนิดและเป็นเนื้อเป็นตัวแท้ๆ ของการสวดมนต์

นักสวดมนต์ทั้งหลาย ถ้ายังไม่เคยรู้ โปรดรับรู้ 

........................

มีพุทธภาษิตอย่างน้อย ๒ แห่งที่ยืนยันเรื่องนี้

แห่งหนึ่งตรัสเป็นคาถาคือบทร้อยร้อยกรองว่าดังนี้ 

.........................................................

อสชฺฌายมลา  มนฺตา

อนุฏฺฐานมลา  ฆรา 

มลํ  วณฺณสฺส  โกสชฺชํ

ปมาโท  รกฺขโต  มลํ.

ที่มา:

- อัฏฐกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๑๐๕

- มลวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๘

- ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๗ (โลฬุทายีเถรวัตถุ)

.........................................................

แปลตามสำนวนทองย้อย กลั่นเอาใจความไม่ติดศัพท์ว่าดังนี้

.........................................................

ความรู้ทั้งมวล ไม่หมั่นทบทวนก็ลืมหมด

ทำมาหากิน ไม่ขยันก็อด

เนื้อตัวหน้าตา ไม่ดูแลรักษาก็สลด

เวรยาม มัวแต่เผอเรอก็โดนปลด

.........................................................

คำที่เป็นหลักฐานคือ “อสชฺฌายมลา  มนฺตา” (อะสัชฌายะมะลา มันตา) ในตำราท่านแปลว่า “มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน” 

“สชฺฌาย” ตรงกับคำสันสกฤตว่า “สาธยาย” เป็นคำที่เราคุ้นกันอยู่ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า repetition, rehearsal study (การสาธยาย, การสวด, การท่อง) 

สาธยายหรือสัชฌายะนี่แหละที่เราถอดออกมาเป็นคำไทยว่า “สวดมนต์”

พุทธภาษิตอีกแห่งหนึ่งตรัสเป็นคำร้อยแก้วธรรมดาว่า -

.........................................................

อสชฺฌายกิริยา  พาหุสจฺจสฺส  ปริปนฺโถ

(อะสัชฌายะกิริยา พาหุสัจจัสสะ ปะริปันโถ)

ไม่ทำการสาธยาย เป็นอันตรายแก่ความเป็นพหูสูต

ที่มา: ทสกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ ข้อ ๗๓

.........................................................

ใครที่ว่ารอบรู้ ถ้าไม่หมั่นทบทวนความรู้ ก็อันตราย คือความรู้อาจกลายเป็นความเลอะไปได้ง่ายๆ

สรุปว่า มนต์คือความรู้ ถ้าไม่สวดก็ลืมหมด 

การสวดมนต์ก็คือการทบทวนความรู้ จะได้ไม่ลืม

........................

พระในสมัยพุทธกาลท่านจาริกช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนา เมื่อใดที่มีโอกาสมาพบกันเข้า ท่านก็จะทำ “สัชฌายะ” คือสวดมนต์ทบทวนคำสอนร่วมกัน เพื่อจะได้เอาคำสอนไปประกาศได้ถูกต้องตรงกัน บรรยากาศแบบนี้มีบันทึกไว้ทั่วไปในคัมภีร์

เพราะเหตุดังว่านี้ หลักที่ถือตรงกันมาแต่ไหนแต่ไรก็คือ บทสวดมนต์นั้นต้องท่องให้จำได้ แล้วสวดออกมาจากความจำ

ในเมืองไทยเรานี้ หนังสือสวดมนต์ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ “เจ็ดตำนาน” เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วมานี้ คติที่ถือกันในหมู่ชายหนุ่มที่บวชเมื่ออายุครบบวชก็คือ “บวชพรรษาหนึ่งเจ็ดตำนานต้องจบ” หมายความว่าต้องท่องเจ็ดตำนานจบและสวดได้คล่องทุกบท 

พระสมัยก่อนลงโบสถ์ ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ไม่มีรูปไหนถือหนังสือสวดมนต์ เพราะทุกบทในหนังสือท่องจำได้หมดแล้ว รูปไหนขี้เกียจท่อง หรือยังท่องไม่ได้ ลงทำวัตรสวดมนต์ต้องซุกซ่อนเอาหนังสือเจ็ดตำนานเข้าไปแอบเปิดสวด ถือกันว่าแย่มาก

ผมจำได้ว่าเคยเห็นกลอนในหนังสือ “มนต์พิธี” ของ “พระครูสมุห์เอี่ยม” ฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ในยุคแรกๆ มีกลอนวรรคหนึ่งของท่าน “พระครูสมุห์เอี่ยม” แต่งว่า พระที่ไม่ขยันท่องสวดมนต์ก็ต้อง “... เปิดแบบต้องแอบแบ” หนังสือมนต์พิธีที่พิมพ์หลังๆ มานี้ กลอนสำนวนนี้หายไปแล้ว

พระที่บวชพรรษาหนึ่ง แต่ท่องสวดมนต์ไม่คล่อง มีคำกล่าวตำหนิว่า “ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ” ใครโดนว่าแบบนี้ก็จะรู้สึกเสียหายมากๆ 

นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พระรุ่นใหม่หรือนักสวดมนต์สมัยใหม่น่าจะไม่เคยได้ยิน

........................

ต่อมา ท่านโบราณาจารย์ได้แต่งบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยบ้าง บทแสดงข้อธรรมเบ็ดเตล็ดบ้าง ชาววัดชาวบ้านก็นำบทนั้นๆ มาสวดสาธยายเพิ่มเข้าไปด้วย ความมุ่งหมายของการสวดมนต์ก็ขยายวงออกไป เป็นการทบทวนความรู้และระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยเป็นอนุสติ

มาตอนหลังๆ นี้ก็เกิดมีผู้รู้รวบรวมประโยชน์หรืออานิสงส์ของการสวดมนต์ขึ้นมาว่า สวดมนต์แล้วได้อานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้ คัดลอกบอกต่อกันไป กลายเป็นหลักวิชาขึ้นมา เจตนาของการสวดมนต์ก็ค่อยๆ เคลื่อนที่ไปจากเดิม มุ่งไปที่อานิสงส์ที่บอกกล่าวกันขึ้นใหม่ๆ 

สวดมนต์เพื่อทบทวนความรู้ตามหลักการเดิมแทบจะไม่มีใครนึกถึงอีกแล้ว

แล้วก็ที่ห่างไกลไปจากเจตนาเดิมของการสวดมนต์ก็คือ นักสวดมนต์สมัยใหม่นิยม “กางหนังสืออ่าน” ทั่วกันไปหมด ไม่มีใครมีอุตสาหะที่จะท่องจำบทสวดมนต์เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว 

นั่นหมายความว่า เดี๋ยวนี้บทสวดมนต์ไม่ได้อยู่ในความทรงจำ หากแต่ฝากไว้ในหนังสือ 

ของเดิม มนต์อยู่ในความทรงจำ ที่หมั่นสวดก็เพื่อจะได้ไม่ลืม

ของใหม่ มนต์อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในความทรงจำ เมื่อไม่มีอะไรที่จำไว้ได้ ก็คือไม่มีอะไรที่จะลืมนั่นเอง ก็จึงต้องอ้างอานิสงส์การสวดมนต์กันใหม่ สอดคล้องกับที่ผู้รู้สมัยใหม่ท่านนำมาแจกแจงไว้พอดี

........................

น่าสังเกตว่า การสวดมนต์ด้วยวิธีกางหนังสืออ่านนั้น ทุกฝ่ายเห็นดีเห็นงามตามกันไปทั้งหมด ถึงกับมีการผลิตอุปกรณ์เพื่อการกางหนังสืออ่านได้สะดวกให้แก่นักสวดมนต์ 

ยังไม่ได้ยินว่ามีวัดไหนหรือสำนักไหนส่งเสริมสนับสนุนให้มีการท่องบทสวดมนต์

แม้แต่พระเณรรุ่นใหม่ ลงทำวัตรสวดมนต์ถือหนังสือสวดมนต์ไปกางอ่านอย่างเปิดเผย หนังสือสวดมนต์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความขยัน ใครไม่ถือหนังสือสวดมนต์ทำท่าจะกลายเป็นคนขี้เกียจไปเสียอีก 

เมื่อความอุตสาหะที่จะท่องจำหมดไปได้ ต่อไปแม้ความอุตสาหะที่จะอ่านบทสวดมนต์เองก็จะค่อยๆ หมดไป

........................

ผมขอทำนายไว้ว่า อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า นักสวดมนต์ของเราจะใช้วิธีเปิดฟังเสียงสวดมนต์จากอุปกรณ์ไฮเทค ฟังอย่างเดียว ไม่ต้องสวดเอง ให้เครื่องอุปกรณ์สวดแทน 

วิธีนี้ เวลานี้ก็เริ่มทำกันแล้ว 

อีก ๑๐๐ ปี มนุษย์ที่เปล่งเสียงสวดมนต์ได้เองจะสูญพันธุ์หมดแน่

ที่เป็นห่วงก็คือ อุโบสถสังฆกรรมคือการที่พระสงฆ์ประชุมฟังพระปาติโมกข์ สมัยนี้ยังถือเคร่งครัดว่าต้องมีพระที่จำทรงพระปาติโมกข์ได้ขึ้นสวดสดๆ 

แต่อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า พระที่มีอุตสาหะท่องจำพระปาติโมกข์ได้ก็คงจะสูญพันธุ์ พระสงฆ์อาจฟังพระปาติโมกข์จากอุปกรณ์ที่สวดแทนพระจริง แล้วก็จะมีผู้ออกมาให้เหตุผลสนับสนุนว่าทำแบบนั้นก็ใช้ได้ ไม่ผิด แล้วก็พากันทำเช่นนั้นทั่วไป

จากสวดมนต์จากความจำ เปลี่ยนมาเป็นกางหนังสืออ่าน เราก็พากันสนับสนุนอยู่ทั่วกันในเวลานี้ว่าดีแล้ว แบบนี้ก็ใช้ได้

ต่อไปในอนาคต-จากกางหนังสืออ่าน เปลี่ยนเป็นฟังเสียงสวดมนต์จากอุปกรณ์ ไม่ต้องสวดเอง ก็ได้บุญ เราก็คงจะพากันสนับสนุนอยู่ทั่วกันว่าดีแล้ว แบบนั้นก็ใช้ได้

........................

ใครท่องสวดมนต์ได้แล้วสวดจากความจำเหมือนที่ทำกันมาแต่สมัยพุทธกาล ผมขออนุโมทนา

ใครไม่มีอุตสาหะที่จะท่องจำ ใช้วิธีกางหนังสืออ่าน ผมก็ขออนุโมทนา ขอให้ท่านมีอุตสาหะทำต่อไป อย่าเลิก

ใครที่มีอุตสาหะตั้งใจท่องจำจนกระทั่งไม่ต้องกางหนังสืออ่านอีกต่อไป สวดได้เองจากความทรงจำ ผมขออนุโมทนาเป็นพิเศษ

........................

คนสมองหง่อม ท่องอิติปิโสถอยหลังได้จบครบทั้ง ๓ ห้อง พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เมื่ออายุใกล้จะ ๘๐ และสวดก่อนนอนทุกคืน

คนสมองหนุ่มสองสาวทั้งหลาย ขอได้โปรดอย่าประเมินศักยภาพสมองตัวเองต่ำเกินไปนะครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

๑๘:๔๖ 

[full-post]

สวดมนต์

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.